ยูเอ็นโหวตหนุนมติหยุดขายอาวุธให้ทัพพม่าเข่นฆ่า-ไทยงดออกเสียง

มติยูเอ็นยุติขายอาวุธ – วันที่ 19 มิ.ย.บีบีซีรายงานว่า ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็นจีเอรับรองมติที่เรียกร้องให้หยุดขายอาวุธให้เมียนมา เป็นมาตรการตอบโต้การรัฐประหารที่ใช้ความรุนแรงของกองทัพเมียนมาต่อประชาชน

ทัพเมียนมา

สมัชชาใหญ่ยูเอ็นยังรับรองมติประณามรัฐบาลทหารที่โค่นอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของนางออง ซาน ซู จี เมื่อวันที่ 1 ก.พ. อีกทั้งยังเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังทางการเมืองรวมถึงนางซู จี และยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้ประท้วงอย่างสงบ

FILE PHOTO: Demonstrators protest against the military coup and demand the release of elected leader Aung San Suu Kyi, in Yangon, Myanmar, February 6, 2021. REUTERS/Stringer/File Photo

แม้มติของยูเอ็นจีเอไม่ได้มีผลทางกฎหมายให้ชาติสมาชิกยูเอ็นต้องปฏิบัติตาม แต่เป็นมติที่มีนัยยะทางการเมืองที่สำคัญ

“ความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามกลางเมืองขนาดใหญ่นั้นจริง” นางคริสทีน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ทูตพิเศษของยูเอ็นในประเด็นเมียนมากล่าวในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็น และว่า “เวลาเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก โอกาสที่จะคว่ำการควบคุมของทหารกำลังน้อยลง” นางบูร์เกเนอร์กล่าว

สำหรับ 119 ประเทศที่รับรองมติ ยกเว้นเบลารุสประเทศเดียวที่โหวตต้าน และอีก 36 ประเทศที่งดเสียงรวมถึงจีนและรัสเซีย สองชาติมหาอำนาจที่ขายอาวุธให้กองทัพเมียนมามากที่สุด

มติดังกล่าวเป็นผลจากการต่อรองเจรจากันอย่างยาวนานโดยกลุ่มที่เรียกว่า แกนหลักที่รวมถึงสหภาพยุโรปหรืออียูและหลายชาติตะวันตก รวมถึงอาเซียน โดยพบว่าภายในสมาชิกอาเซียนโหวตแบ่งแยกกัน โดยฝ่ายที่โหวตรับรองมติรวมถึงอินโดนีเซียและเวียดนาม ส่วนฝ่ายที่งดออกเสียงรวมถึงไทยและสปป.ลาว

ประเทศที่งดออกเสียงบางประเทศระบุว่าวิกฤตเมียนมาเป็นปัญหาภายในเมียนมา ขณะที่อีกหลายประเทศระบุว่ามติยูเอ็นจีเอไม่ได้แก้ไขปัญหาที่กองทัพปราบปรามชาวมุสลิมโรฮิงยาอย่างโหดร้ายที่เกิดเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ส่งผลให้ชาวมุสลิมโรฮิงยาเกือบล้านคนต้องอพยพหนีตายไปยังประเทศบังกลาเทศ เพื่อนบ้าน

นายโอลอฟ สคูก ทูตอียูประจำยูเอ็นระบุว่า มติดังกล่าวทำให้รัฐบาลทหารขาดความชอบธรรม รวมถึงประณามการข่มเหงและการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนของตนเองและแสดงให้เห็นว่าการโดดเดี่ยวเมียนมาอยู่ในสายตาของชาวโลก

อย่างไรก็ตาม นายจอ โมทุน ทูตเมียนมาประจำยูเอ็น ซึ่งเป็นผู้แทนเมียนมาที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลพลเรือนของนางซู จูีกล่าวว่า ตนรู้สึกผิดหวังที่สมัชชาใหญ่ยูเอ็นใช้เวลานานขนาดนี้กว่าจะรับรองมติที่ทูตเมียนมาเรียกว่าเป็น “มติที่ถูกทำให้อ่อนแอลง”

ตามข้อมูลสมาคมช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองหรือ เอเอพีพี ระบุว่า เจ้าหน้าที่ความมั่นคงสังหารประชาชนกว่า 850 ราย และจับผู้ต่อต้านคุมขังเกือบ 5,000 คน นับตั้งแต่กองทัพรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ.

เมื่อเดือนที่แล้ว ฮิวแมนไรต์วอชต์ องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศกระตุ้นให้สมัชชาใหญ่ยูเอ็นผ่านมติที่เรียกร้องให้งดค้าขายอาวุธกับเมียนมา

ฮิวแมนไรต์วอชต์กล่าวว่า รัฐบาลทั้งหลายควรตระหนักว่าการขายอาวุธให้กองทัพเมียนมานั้น มีแนวโน้มที่กองทัพจะนำไปใช้ข่มเหงประชาชน การไม่ขายอาวุธให้เมียนมาสามารถช่วยป้องกันอาชญากรรมดังกล่าวได้

วันเดียวกันรอยเตอร์รายงานว่า ชาวเมียนมาที่สนับสนุนนางออง ซาน ซู จี เสียบดอกไม้บนผมและพาเหรดลงถนนหลายสายเพื่อประท้วงในโอกาสวันคล้ายวันเกิดอายุครบ 76 ปีของนางซู จี ตรงกับวันที่ 19 มิ.ย.

นางออง ซาน ซู จีประดับผมด้วยดอกไม้

นางซู จีที่มักประดับผมด้วยดอกไม้ เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยภายใต้รัฐบาลทหารมาหลายสิบปี

การประท้วงในเมียนมาเกิดขึ้นแทบจะรายวันนับตั้งแต่นางซู จีถูกกองทัพยึดอำนาจ

นายฉ่วย วิน นักเคลื่อนไหวที่แม้จะไม่เห็นด้วยกับนางซู จี ในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในยุครัฐบาลพลเรือนระบุว่า ผมต้องการให้ทุกคนมีเสรีภาพรวมถึงนางซู จี และว่าสิทธิส่วนบุคคลทั้งหลายและสิทธิทางการเมืองของซูจีกำลังถูกทำละเมิด

ขณะนี้นางซู จีถูกรัฐบาลทหารตั้งข้อหาครอบครองวิทยุสื่อสารอย่างผิดกฎหมาย ละเมิดมาตรการป้องกันโควิด-19 รวมถึงทำผิดกฎหมายความลับทางการที่อาจถูกจำคุกสูงสุดนาน 14 ปี
………..

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จวกทัพเมียนมา “เผาวอด” หมู่บ้าน ไฟลามใหญ่จนดาวเทียมนาซาจับได้!

ชายแดนเดือด! ทหารพม่าปะทะกะเหรี่ยง ชาวบ้าน 400 คน หนีตายเข้าไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน