มิน อ่อง หล่าย – วันที่ 1 ส.ค. เอเอฟพี และ รอยเตอร์ รายงานว่า พล.อ.มิน อ่อง ไหล่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา ประกาศตนนั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมนำประเทศสู่การเลือกตั้งใหม่แบบหลายพรรค แต่ยังจะใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปถึงเดือนสิงหาคม 2566

ผู้ประกาศตัวเป็นนายกฯ เมียนมา กล่าวว่ารัฐบาลพร้อมทำงานกับผู้แทนพิเศษทุกคนที่ได้รับการเสนอชื่อโดยสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน แต่กลับขยายระยะเวลาการสืบอำนาจออกไปเป็นเกือบ 2 ปีครึ่ง จากเดิม 1 ปี ที่ตามรัฐบาลทหารเมียนมาเคยประกาศไม่กี่วันหลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.

STR / AFP

พล.อ.มินแถลงทางโทรทัศน์ครั้งแรกในรอบ 6 เดือน หลังกองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนโดยพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี ของนางออง ซาน ซู จี ที่ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย แต่พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ระบุว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย”

ก่อนหน้านี้ กองทัพเมียนมากล่าวหาการเลือกตั้งว่ามีการโกง แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งเมียนมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว

STR / AFP

“เราจะสิ้นสุดบทเฉพาะกาลของสถานการณ์ฉุกเฉินภายในเดือนส.ค. 2566 เราให้คำมั่นจะจัดการเลือกตั้งแบบหลายพรรคโดยปราศจากความล้มเหลว” พล.อ.มินกล่าว และว่าเมียนมาพร้อมทำงานความร่วมมือกับอาเซียนภายในกรอบอาเซียน รวมถึงการเจรจากับผู้แทนพิเศษอาเซียนในเมียนมา

STR / AFP

การประชุมอาเซียน

บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะประชุมในวันจันทร์ที่ 2 ส.ค. ซึ่งนักการทูตระบุว่ารัฐมนตรีเหล่านี้ตั้งเป้าที่จะเสนอผู้แทนพิเศษที่ได้รับมอบหมาย เพื่อยุติความรุนแรง และส่งเสริมการเจรจาระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมากับฝ่ายตรงข้าม

สหประชาชาติ จีน และสหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศอื่นๆ ระบุว่า กลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีสมาชิก 10 คน รวมถึงเมียนมา เป็นผู้นำความพยายามทางการทูตเพื่อฟื้นฟูเสถียรภาพในเมียนมาดีที่สุด

เมียนมาได้รับผลกระทบจากการปราบปรามผู้ประท้วง การล่มสลายทางเศรษฐกิจ และการอพยพของผู้ลี้ภัยตั้งแต่รัฐประหาร และการติดเชื้อไวรัสโคโรนาเพิ่มสูงขึ้น จนระบบสาธารณสุขเมียนมาล่มสลาย และวิกฤตมนุษยธรรมแย่ลงในเดือนที่ผ่านมา

STR / AFP

การสรรหาผู้แทนพิเศษเริ่มมาตั้งแต่เดือนเม.ย. ซึ่งผู้นำอาเซียนประกาศฉันทามติ 5 ข้อ เพื่อแก้ปัญหาความวุ่นวายในเมียนมา ขณะที่สหประชาชาติและสหรัฐต่างเรียกร้องให้อาเซียนเร่งแต่งตั้งผู้แทนพิเศษในสัปดาห์หน้า

นายเอรีวัน ยูซอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศบรูไน ชาติประธานอาเซียนปีนี้ กล่าวเมื่อคืนวันศุกร์ที่ 30 ก.ค. แสดงความหวังว่าการตัดสินใจขั้นสุดท้ายจะมีขึ้นวันจันทร์ที่ 2 ส.ค. “หากไร้ผู้แทนนำทาง จะเป็นการยากที่จะแก้ไขสถานการณ์ในเมียนมา”

ขณะที่อาเซียนมีความเห็นไม่ตรงกันอย่างหนักเกี่ยวกับผู้แทนพิเศษ และมีการหารือการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษมากกว่าหนึ่งคนเพื่อฝ่าทางตันในเมียนมา

STR / AFP

บทบาทผู้แทน

4 แหล่งข่าวทางการทูตภูมิภาคบอกว่า นายเอรีวันได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้แทนพิเศษ และได้รับความช่วยเหลือจาก “ที่ปรึกษา” ทว่าการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงอาเซียนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ ทั้งนี้ การแต่งตั้งทูตพิเศษจะบรรลุผล นอกจากสมาชิกอาเซียน 9 ชาติที่เหลือ รัฐบาลทหารเมียนมาจะต้องอนุมัติด้วย

ขณะที่โฆษกรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทหาร กล่าวว่า ผู้แทนพิเศษต้องให้ความสนใจกับประชาชนเมียนมาที่สุด “ยินดีต้อนรับทุกวิถีทางที่สามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้”

STR / AFP

ทั้งนี้ นายเอรีวัณยืนยันอย่างเป็นทางการว่า เป็น 1 ใน 4 ผู้ท้าชิงตำแหน่งทูตพิเศษ ส่วนอีก 3 คนที่เหลือ แหล่งข่าวนักการทูตเผยรายชื่อ ได้แก่ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีต่างประเทศไทย นายฮัสสัน วีระชุดา อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย และนายราซาอิล อิสมาอิล นักการทูตชาวมาเลเซียผู้มากประสบการณ์

อาเซียนจะประกาศข้อเสนอเพื่อให้ความช่วยเหลือเมียนมา รวมถึงการสนับสนุนในการต่อสู้กับโรคระบาด นักการทูตกล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

รัฐประหารเมียนมา : วิกฤตโควิดซ้ำเติมเมียนมาหลังทหารยึดอำนาจ

ผู้นำรัฐประหารเมียนมาแถลงครั้งแรก ขอให้ประชาชนยึดข้อเท็จจริง ไม่ใช่ความรู้สึก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน