ออสซี่ตะลึงพบเรขาคณิตประยุกต์เก่าสุด สลักแผ่นดินเหนียวอายุ 3,700 ปี

ออสซี่ตะลึงพบเรขาคณิตประยุกต์เก่าสุด – วันที่ 5 ส.ค. เดอะการ์เดี้ยนรายงานว่า นักคณิตศาสตร์ชาวออสเตรเลียค้นพบหลักฐานที่บ่งชี้ถึงการใช้หลักเรขาคณิตประยุกต์ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยปรากฎมา เป็นแผ่นดินเหนียวอายุกว่า 3,700 ปี จากบาบิโลเนีย

แผ่นดินเหนียวดังกล่าว มีรหัสว่า Si.427 มีรูปแกะสลักที่เหมือนกับโฉนดเพื่อการบริหารจัดการแปลงที่ดิน ซึ่งเป็นลักษณะของการใช้เรขาคณิตประยุกต์ มีอายุระหว่าง 1,900 ถึง 1,600 ปีก่อนคริสตกาล ถูกค้นพบในประเทศอิรัก เมื่อคริสศตวรรษที่ 19

ออสซี่ตะลึงพบเรขาคณิตประยุกต์เก่าสุด

Si.427

ต่อมาดร.แดเนียล แมนส์ฟีลด์ จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ติดตามค้นหาไปพบที่พิพิธภัณฑ์โบราณคดีที่นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี หลังดร.แมนส์ฟีลด์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์นอร์แมน ไวลด์เบอร์เกอร์ ค้นพบแผ่นดินเหนียวสลักตารางตรีโกณมิติที่เก่าแก่ที่สุดของโลก ทำให้สันนิษฐานว่า เคยถูกใช้เป็นอุปกรณ์สำรวจพื้นที่ในยุคนั้น

แผ่นดินเหนียวอีกแผ่นดังกล่าวมีรหัสว่า Plimpton 322 สลักรูปภาพสามเหลี่ยมมุมฉากซึ่งอธิบายตามหลักทฤษฎีพีทากอรัส (a2 + b2 = c2) ซึ่งเป็นสมการสัมพันธ์กับความยาวของแต่ละด้านของสามเหลี่ยมมุมฉาก เช่น 32 + 42 = 52

ดร.แมนส์ฟีลด์ กล่าวว่า การค้นพบตรีโกณมิตินั้นไม่ใช่จู่ๆ นึกจะมีก็มีขึ้นมาได้ เพราะเป็นสิ่งที่ต้องพบมาจากการใช้งานจริง โดยการค้นพบแผ่นดินเหนียวที่เกี่ยวโยงกับสมการพีทากอรัสเริ่มมาจากการที่พวกตนพบแผ่นดินเหนียว Plimpton 322 กระทั่งพบแผ่น Si.427

ออสซี่ตะลึงพบเรขาคณิตประยุกต์เก่าสุด

Plimpton 322

“Si.427 เป็นการซื้อขายแปลงที่ดินครับ สลักแผ่นดินเหนียวด้วยอักษรคูนิฟอร์ม หรืออักษรรูปลิ่ม โดยบนแผ่นเป็นแปลงสนามหญ้า และพื้นที่โล่ง รวมทั้งหอคอยใกล้ๆ” แมนส์ฟีลด์ ระบุ

ผู้เชี่ยวชาญ คาดว่า สามเหลี่ยมที่อยู่บน Si.427 นั้นมีเส้นฐานและเส้นตั้งฉากที่เท่ากัน บ่งชี้ว่านักสำรวจสมัยนั้นมีกระบวนการที่สามารถสร้างเส้นตรงขึ้นมาได้ถูกต้องบนผืนดิน

“เหมือนกับการจะขายที่ดินครับ เราต้องมีเจ้าหน้าที่ไปช่วยสำรวจก่อนว่าขอบเขตที่ดินที่แท้จริงเรานั้นอยู่ตรงจุดใดบ้าง แต่แทนที่จะใช้อุปกรณ์ระบุพิกัดผ่านดาวเทียม หรือจีพีเอส เหมือนสมัยนี้ ก็ใช้พิทากอรัสแทนในสมัยนั้น” แมนส์ฟีลด์ ระบุ

แม้แผ่นดินเหนียว Plimpton 322 และ Si.427 จะใช้ทฤษฎีสามเหลี่ยมพิทากอรัสเหมือนกัน แต่กลับเกิดขึ้นก่อนการมาถึงของพีทากอรัส นักคณิตศาสตร์และนักปราชญ์ชาวกรีกโบราณผู้ได้ชื่อว่า “บิดาแห่งตัวเลข” นานกว่า 1 พันปี

ดร.แมนส์ฟีลด์ ระบุว่า เมื่อค้นพบทฤษฎีสามเหลี่ยมพิทากอรัสได้แล้วก็จะทำให้สังคมมีความก้าวหน้าขึ้นมาก เป็นผลมาจากคณิตศาสตร์ที่ก้าวหน้ามากขึ้น โดยแผ่นดินเหนียว Si.427 มีชุดตัวเลขสามเหลี่ยมพิทากอรัส 3 ชุด ได้แก่ 3, 4, 5 และ 8, 15, 17 รวมทั้ง 5, 12, 13

รายงานระบุว่า ชาวบาบิโลเนีย ใช้เลขฐาน 60 (เช่นการนับเวลาแบบปัจจุบัน 60 วินาทีเป็น 1 นาที 60 นาทีเป็น 1 ชั่วโมง เป็นต้น) ทำให้การคำนวณจำนวนเฉพาะ (เลขที่หารลงตัวได้ด้วยเลข 1 หรือตัวของมันเองเท่านั้น) ที่มากกว่าเท่ากับ 5 ขึ้นไปยากลำบาก

สำหรับรายละเอียด Si.427 ถูกเผยแพร่ในวารสาร Foundations of Science ระบุว่า มาจากช่วงเวลาที่ชาวบาบิโลเนียเริ่มนิยมการครอบครองที่ดินส่วนบุคคล โดยดร.แมนส์ฟีลด์ มองว่า ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทราบถึงปัญหาที่ชาวบาบิโลเนียพยายามคิดแก้ไข

นอกจากนี้ ยังช่วยไขความกระจ่างให้กับแผ่นดินเหนียวที่พบจากยุคดังกล่าว ทั้งช่วยให้ทราบถึงพัฒนาการของคณิตศาสตร์ที่ถูกคิดค้นพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิต อย่างไรก็ดี ยังเหลืออีกปริศนาหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญยังไม่สามารถล่วงรู้ได้

ปริศนาดังกล่าวเป็นตัวเลขที่ด้านหลังแผ่นดินเหนียว Si.427 คือตัวเลขฐาน 60 ตัวใหญ่ (sexagesimal number) ระบุว่า “25:29” คล้ายกับระบุเวลาว่า 25 นาที 29 วินาที

“มันเป็นเลขที่ทดไว้รึเปล่า หรือเป็นพื้นที่ที่ผมยังไม่เคยพบมาก่อน หรือเป็นผลลัพธ์จากตรวจวัดอะไรอื่น มันเป็นอะไรที่ผมหงุดหงิดรำคาญมาก เพราะไม่รู้ว่ามาจากไหน จนตอนนี้ผมเลิกจะคิดค้นหามันแล้วว่าคืออะไร” แมนส์ฟีลด์ กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน