บราซิลพบโมเลกุลพิษ “งูจาราราคัสซู” ยับยั้งไวรัสโคโรนาจากการแพร่พันธุ์
บราซิลพบโมเลกุลพิษ – วันที่ 3 ก.ย. เมโทร รายงานการค้นพบที่อาจหยุดยั้งการแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19 หลังจากคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยเซาเปาโล ประเทศบราซิล เปิดเผยว่าโมเลกุลในพิษของ งูจาราราคัสซู (jararacussu) หนึ่งในงูขนาดใหญ่ของบราซิลที่มีความยาวกว่า 2 เมตร สามารถยับยั้งการแพร่ขยายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาได้
จากรายงานการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Molecules ฉบับเดือนก.ย. ระบุพิษของงูจาราราคัสซูหยุดการขยายของเชื้อไวรัสโคโรนาในเซลล์ลิงได้มากถึง 75%
“เราสามารถแสดงให้เห็นว่าส่วนประกอบของพิษงูชนิดนี้สามารถยับยั้งโปรตีนสำคัญจากไวรัสโรโรนาได้” นายราฟาเอล กุยโด ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเซาเปาโล ระบุในผลการศึกษา
โมเลกุลของพิษงูจาราราคัสซูเป็นเปปไทด์หรือสายพอลิเมอร์ของกรดอะมิโนที่มาเชื่อมต่อกันด้วยพันธะเปปไทด์ สามารถเชื่อมต่อกับเอนไซม์ของไวรัสโคโรนาที่เรียกว่าพีแอลโปร (PLPro) ซึ่งมีความสำคัญต่อการขยายพันธุ์ของไวรัส
โดยที่โมเลกุลนี้ไม่ทำอันตรายต่อเซลล์อื่นๆ นายกุยโดกล่าวอีกว่าเปปไทด์เป็นที่รู้จักในคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย สามารถสังเคราะห์ได้ในห้องปฏิบัติการ ไม่จำเป็นต้องจับงูหรือนำงูชนิดนี้มาเลี้ยงเพื่อสกัดโมเลกุล
“เรากังวลว่าผู้คนจะออกไปล่างูจาราราคัสซูในบราซิล โดยคิดว่าพวกเขาจะกอบกู้โลกได้ มันไม่ใช่อย่างนั้น เพราะพิษของงูโดยตรงไม่อาจยับยั้งไวรัสโคโรนาได้” นายจูเซปเป ปูออร์โต นักสัตวศาสตร์ที่ของสถาบันชีววิทยาบูตันตัน ในนครเซาเปาโล กล่าวย้ำ
ทั้งนี้ คณะนักวิจัยยังต้องศึกษาเพิ่มเติม โดยจะประเมินประสิทธิภาพของโมเลกุลในปริมาณที่ต่างกัน และตรวจสอบว่าสามารถป้องกันไวรัสไม่ให้เข้าสู่เซลล์ได้ตั้งแต่แรกหรือไม่ ซึ่งคณะวิจัยหวังว่าจะทดสอบสารดังกล่าวในเซลล์มนุษย์ แต่ยังไม่ชี้ชัดว่ากระบวนการนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: