ขั้วโลกใต้หดตัวสถิติ โลกร้อนวิกฤตทำระดับน้ำทะเลขยับตัวสูงต่อเนื่อง

ขั้วโลกใต้หดตัวสถิติ – วันที่ 19 เม.ย. เดลีเมล์รายงานว่า ทวีปแอนตาร์กติกา หรือขั้วโลกใต้ มีขนาดลดลงเล็กที่สุดนับตั้งแต่มีการจดบันทึกมาเนื่องจากการละลายของแผ่นน้ำแข็งที่มีสาเหตุมาจากปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือโลกร้อน

ผลการศึกษาดังกล่าวมาจากฝีมือของคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยซุนยัดเซ็น เมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ร่วมมือกับศูนย์ข้อมูลด้านหิมะและน้ำแข็งแห่งชาติ ตรวจวัด ณ วันที่ 25 ก.พ. พบความหนาของแผ่นน้ำแข็งลดลงถึงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงปี 2524-2534

นักวิจัยพบว่าขนาดโดยรวมของธารน้ำแข็งขั้วโลกใต้ลดลงเหลือเพียงประมาณ 2 ล้านตารางกิโลเมตรเท่านั้น เนื่องจากอัตราของการละลายจากภาวะโลกร้อนนั้นสูงกว่าอัตราการเกิดของธารน้ำแข็งในฤดูหนาวที่น้ำแข็งนั้นมีอัตราการเกิดใหม่เพียงร้อยละ 1 ตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมา

การศึกษาความผิดปกติที่เกิดขึ้นพบว่ามาจากช่วงฤดูร้อนของขั้วโลกใต้ โดยเฉพาะการเคลื่อนของกระแสลมร้อนจากทะเลอามันด์เซนทางตะวันตกและทะเลเวดเดลล์ทางตะวันออกของทวีป รวมกับความเข้มแสงที่ตกกระทบผิวน้ำแข็งและอุณหภูมิสภาพแวดล้อมที่สูงขึ้น

นายชิงหัว หยาง หนึ่งในคณะนักวิจัย กล่าวว่า ธารน้ำแข็งนั้นมีคุณสมบัติการกระจายความร้อนต่ำและการดูดซึมความร้อนที่สูงกว่าผิวน้ำทะเล ทำให้การละลายเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และผิวน้ำทะเลอุ่นขึ้น กลายเป็นวงจรเร่งการละลาย

ผลการศึกษาข้างต้นยังเกิดขึ้นในช่วงเดียวกันกับอีกการศึกษาที่พบว่าระดับน้ำทะเลทั่วโลกจะสูงขึ้นถึง 3 เมตร หากธารน้ำแข็งทเวตส์ (แผ่นน้ำแข็งทางตะวันตกของทวีป) ละลายจนหมด ส่งผลให้มหานครใหญ่อย่างนครเซี่ยงไฮ้ และกรุงลอนดอน รวมถึงพื้นที่ลาดลุ่มอย่างรัฐฟลอริดาของสหรัฐอเมริกา ประเทศบังกลาเทศถูกทะเลกลืน ตลอดจนหมู่เกาะมัลดีฟส์ด้วย

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์คาดว่าด้วยอัตราการละลายที่เกิดขึ้นในขั้วโลกใต้นั้นธารน้ำแข็งดังกล่าวจะละลายหมดภายในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้านี้ โดยมหานครซิดนีย์ในออสเตรเลีย และนิวยอร์กในสหรัฐฯ จะถูกน้ำทะเลไหลเข้าท่วมอย่างสมบูรณ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน