คลื่นความร้อนปกคลุมภาคเหนือจีน ตะลึงแห่ใช้ไฟฟ้าพุ่งประวัติการณ์

คลื่นความร้อนปกคลุมภาคเหนือจีน – วันที่ 20 มิ.ย. รอยเตอร์รายงานว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศจีนทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์หลังเกิดปรากฏการณ์คลื่นความร้อนหรือฮีตเวฟแผ่ปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือของประเทศ ท่ามกลางฤดูร้อนที่มีอุณหภูมิสูงเกินกว่าปกติ

หนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเป็นมณฑลเหอหนาน มีประชากรกว่า 100 ล้านคน มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์คิดเป็น 65.34 ล้านกิโลวัตต์ (KW)

แม้ระบบไฟฟ้าในมณฑลดังกล่าวจะยังสามารถรองรับปริมาณความต้องการมหาศาลที่เกิดขึ้นได้แต่หลายฝ่ายคาดว่าฤดูร้อนปีนี้อาจเป็นช่วงที่ยากลำบากและไฟฟ้าอาจขัดข้องได้เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าอาจเพิ่มสูงถึง 75 ล้าน KW

รายงานระบุว่า สาเหตุหลักของปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นสืบเนื่องมาจากบรรดาธุรกิจห้างร้านและบ้านเรือนเร่งเครื่องปรับอากาศเพื่อทำความเย็นสู้กับอุณหภูมิร้อนอบอ้าวในฤดูร้อนที่มักถึงช่วงสูงสุดราวปลายเดือนก.ค. ถึงต้นเดือนส.ค.

ขณะที่อุณหภูมิในมณฑลเหอหนานจากคลื่นความร้อนนั้นล่าสุดแตะ 40 องศาเซลเซียส โดยเป็นพื้นที่ที่มีโรงงานประกอบชิ้นส่วนไอโฟนของแอปเปิ้ลของฟ็อกซ์คอนจากไต้หวันอยู่ด้วย ซึ่งต้องใช้พลังงานไฟฟ้าสูงอยู่แล้ว

สถานการณ์คลื่นความร้อนและความแห้งแล้งยาวนานในมณฑลเหอหนานทางภาคเหนือนั้นยังสวนทางกันกับสถานการณ์ฝนตกหนักที่สุดในรอบ 60 ปีทางภาคใต้ของจีนด้วย

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาจีน ระบุว่า คลื่นความร้อนจะยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องทั้งในมณฑลเหอหนาน หูเป่ย และชานตง โดยอากาศร้อนอบอ้าวที่เกิดขึ้นนั้นนับว่าเป็นเรื่องหายากอย่างยิ่งในเดือนมิ.ย.

ฮีตเวฟที่แผ่ตัวปกคลุมภาคเหนือของจีนยังสร้างความกังวลให้กับหน่วยงานด้านเกษตรกรรม ว่าอาจส่งผลกระทบต่อพืชไร่เนื่องจากภาวะขาดแคลนน้ำ โดยพื้นที่ดังกล่าวของจีนนั้นมีความสำคัญต่อประชาคมโลก เพราะเป็นแหล่งปลูกพืชหลายชนิดที่กว้างใหญ่เท่าประเทศศรีลังกา

ด้านอุณหภูมิผิวดินจากสถานีตรวจวัด 92 แห่งในมณฑลเหอหนาน พบว่ามีอุณหภูมิสูงทะลุ 60 องศาเซลเซียส และพื้นที่หนึ่งตรวจพบว่าสูงถึง 74.1 องศาเซลเซียส

สถิติความต้องการใช้ไฟฟ้าดังกล่าวเกิดขึ้นต่อจากความต้องการใช้ไฟฟ้าพุ่งสูงที่มณฑลเจียงซูทะลุ 100 ล้าน KW เมื่อ 17 มิ.ย. ที่ผ่านมา เป็นระดับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มาถึงเร็วกว่าเมื่อปีก่อนถึง 19 วัน

ทั้งนี้ อากาศร้อนจัดและความแห้งแล้งที่ยาวนานผิดปกติอาจส่งผลให้ทางการจีนจำกัดปริมาณความต้องการการใช้ไฟฟ้าตามบ้านเรือนและโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อรักษาเสถียรภาพของพลังงานภายในประเทศไว้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน