ถูกบีบออกเพราะลาคลอด? หนุ่มลั่นสู้ถึงชั้นฎีกาหลังศาลอุทธรณ์ญี่ปุ่นเมิน

ถูกบีบออกเพราะลาคลอด? – เมื่อ 23 มิ.ย. เอพีรายงานว่า ศาลอุทธรณ์ญี่ปุ่นไม่รับคำขออุทธรณ์คดีของนายเกล็น วู้ด ชาวแคนาดาที่ถูกไล่ออกจากงานเพราะลางานไปช่วยภรรยาดูแลบุตรหลังคลอด ท่ามกลางปัญหาวิกฤตเด็กเกิดใหม่และวัฒนธรรมการทำงานแบบสุดขั้วของเอกชนญี่ปุ่น

ความคืบหน้าล่าสุดที่ศาลอุทธรณ์ กรุงโตเกียว เกิดขึ้นหลังนายวู้ด ที่เคยทำงานตำแหน่งผู้จัดการของบริษัท มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ มอร์แกน สแตนลีย์ (MUFG) ถูกไล่ออกจากงานเมื่อปี 2561 โดยนายวู้ด มองว่าต้นเหตุมาจากการที่ตนใช้สิทธิลาคลอดไปช่วยภรรยาดูแลบุตรเมื่อปี 2558

คดีของนายวู้ดที่เริ่มต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมมาตั้งแต่ปี 2560 เป็นหนึ่งในคดีโด่งดังที่สะท้อนปัญหาสิทธิการลาคลอดในวัฒนธรรมการทำงานของชาวญี่ปุ่น (paternity harassment) ซึ่งเกิดขึ้นทั่วไปในสังคมการทำงานของญี่ปุ่นถึงขั้นมีชื่อเรียกว่า “พาตะ ฮาระ”

เรื่องราวของนายวู้ดเริ่มต้นจากการที่นายวู้ด ชาวแคนาดาที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นมานานกว่า 30 ปี แจ้งความจำนงค์ต่อบริษัทเพื่อขอใช้สิทธิลาคลอดไปช่วยภรรยาดูแลบุตรที่คลอดก่อนกำหนดเมื่อปี 2558 โดยทางบริษัทไม่อนุญาตให้ลา แต่นายวู้ดก็เดินทางไปดูแลลูกตามที่ได้แจ้งลางานไว้

นายวู้ดกลับเข้าทำงานตามปกติในปี 2559 แต่กลับถูกยกเลิกภาระหน้าที่งานในหลายด้านและไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมประชุมตามเดิม กระทั่งบริษัทแจ้งปลดนายวู้ดพ้นจากตำแหน่งในปี 2561 ต่อมาในปี 2563 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าไม่พบหลักฐานว่ามีการกดดันหรือรังแกนายวู้ด

ถูกบีบออกเพราะลาคลอด?

นายเกล็น วู้ด และบุตรชายอายุ 5 ขวบ (เอพี)

นอกจากนี้ ศาลชั้นต้นยังต่อว่านายวู้ดที่เปิดเผยเรื่องดังกล่าวให้สังคมได้รับรู้เป็นวงกว้างแทนที่จะเจรจาตกลงหลังไมค์กับบริษัทต้นสังกัด ซึ่งได้ปรับเปลี่ยนนโยบายการให้สิทธิลาคลอดเพิ่มเติมไปแล้วตั้งแต่ที่นายวู้ดถูกปลดออก

ด้านเอกสาร 21 หน้าของศาลอุทธรณ์ ระบุถึงเหตุผลที่ไม่รับยื่นอุทธรณ์คดีว่า ศาลไม่พบหลักฐานตามที่โจทก์กล่าวอ้างว่าถูกบริษัทต้นสังกัดบีบคั้นรังแก พร้อมระบุถึงการดำเนินการของบริษัทต้นสังกัดนายวู้ดว่า “เป็นสิ่งที่ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้”

ด้านบริษัท มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ มอร์แกน สแตนลีย์ ระบุผ่านแถลงการณ์ถึงคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนว่ามุมมองของบริษัทนั้นได้รับการยอมรับ

อย่างไรก็ตาม นายวู้ด ยืนยันว่าจะยื่นเรื่องต่อศาลฎีกาต่อ แม้การต่อสู้ในศาลชั้นสูงสุดอาจกินเวลายาวนานหลายปีถึงขนาดที่บุตรชายอายุ 5 ขวบเข้าเรียนต่อในสถาบันชั้นอุดมศึกษาก็ตาม โดยนายวู้ด กล่าวว่า การบริหารองค์กรด้วยการบีบคั้นรังแกพนักงานนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้เด็ดขาด

ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในชาติที่กำลังเผชิญกับวิกฤตเด็กเกิดใหม่น้อยที่สุดในโลกทำให้ประชากรลดลงต่อเนื่อง แม้คดีของนายวู้ดจะยังไม่ประสบผลสำเร็จ แต่รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการให้สิทธิลาคลอดทั้งชายและหญิงได้สูงสุดถึง 12 เดือน แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ได้รับการตอบรับที่ดี

นายโยชิทัตสึ อิมะอิสึมิ หนึ่งในทีมทนายความของนายวู้ด กล่าวว่า คดีที่เกิดขึ้นยังมีข้อพิพาททางกฎหมายอีกหลายจุด ในจำนวนนี้ รวมถึงการที่นายวู้ดถูกไล่ออกเพราะร้องเรียนว่าถูกบริษัทรังแก ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ เพราะพนักงานมีสิทธิเต็มที่ในการร้องเรียนเรื่องดังกล่าว

ขณะที่นายวู้ด ยืนยันว่ายังไม่ท้อแท้และจะยืนหยัดต่อสู้คดีต่อไปเพื่อสร้างบรรทัดฐานให้สังคมว่าผู้ชายต้องลาคลอดได้โดยไม่ต้องกลัวเรื่องการถูกบีบคั้นรังแกจากนายจ้าง

“การยืนหยัดเพื่อต่อสู้สิทธิลาคลอดเป็นของขวัญที่ผมได้มาครับ และผมมีความสุขที่ได้ต่อสู้ในเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่เพื่อสังคมญี่ปุ่นเท่านั้น แต่เพื่อสังคมโลกทั้งหมดเลยครับ” วู้ด ระบุ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน