‘รัสเซีย-จีน’ซ้อมรบร่วม โชว์แสนยานุภาพแนวรบตะวันออก-ทะเลญี่ปุ่น

‘รัสเซีย-จีน’ซ้อมรบร่วม – วันที่ 29 ส.ค. เอพีรายงานว่า รัสเซียและจีนเตรียมเปิดปฏิบัติการซ้อมรบร่วมขนาดใหญ่ทางซีกตะวันออกของทั้งสองชาติ สะท้อนความร่วมมือที่ใกล้ชิดกันมากขึ้นของทั้งรัสเซียและจีน ท่ามกลางความตึงเครียดรุนแรงกับชาติตะวันตกและพันธมิตรในเอเชีย

กระทรวงกลาโหมรัสเซีย ระบุว่า ยุทธการซ้อมรบ “วอสต็อก 2022” จะมีขึ้นระหว่าง 1 ถึง 7 ก.ย.นี้ ในพื้นที่ซีกตะวันออกของรัสเซียและทะเลญี่ปุ่น ใช้กำลังทหาร 5 หมื่นนาย ยุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่ 5 พันชุด เครื่องบินขับไล่ 140 ลำ และเรือรบอีก 60 ลำ

'รัสเซีย-จีน'ซ้อมรบร่วม

AP

ปฏิบัติการซ้อมรบที่เกิดขึ้นจะร่วมกับกองทัพอีกหลายชาติ ได้แก่ จีน อินเดีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) มองโกลเลีย นิคารากัว และซีเรีย

ยุทโธปกรณ์สำคัญที่รัสเซียจะนำมาซ้อมรบร่วมยังรวมถึงกำลังจากทหารพลร่ม อาทิ เครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกลและเครื่องบินขนส่ง โดยวัตถุประสงค์นั้นเป็นไปเพื่อฝึกซ้อมตามปกติ แม้กองทัพรัสเซียจะอยู่ระหว่างดำเนิน “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ในประเทศยูเครนก็ตาม

กระทรวงกลาโหมรัสเซีย ระบุต่อว่า ยุทธการวอสต็อก 2022 ยังจะเป็นการฝึกซ้อมการประสานงานกันระหว่างกองทัพเรือรัสเซียกับจีน เพื่อป้องกันขีดความสามารถในการสื่อสาร เขตเศรษฐกิจทางทะเล และการส่งกำลังบำรุงให้หน่วยทหารทางบก

ปฏิบัติการซ้อมรบที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับคำเตือนขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือนาโตถึงการยกระดับความร่วมมือระหว่างรัสเซียกับจีนและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับที่ทางการจีนเลือกกล่าวโทษนาโตและชาติตะวันตกว่ายั่วยุให้รัสเซียต้องส่งทหารบุกยูเครน ทั้งยังประณามมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจากชาติตะวันตกด้วย

ขณะที่รัสเซียนั้นมีท่าทีชัดเจนถึงการสนับสนุนจุดยืนของจีนต่อประเด็นปัญหาเกาะไต้หวัน โดยเฉพาะหลังการเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาคองเกรส โดยประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ระบุว่าเป็นแผนยั่วยุจีนของสหรัฐอเมริกา แบบเดียวกับที่ทำไว้กับรัสเซีย

รัสเซียและจีนนั้นเคยซ้อมรบร่วมกันมาแล้วหลายครั้งตลอดหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงการซ้อมรบร่วมของกองทัพเรือและการลาดตระเวนร่วมของเครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกลในทะเลญี่ปุ่นและทะเลจีนตะวันออก โดยปีที่แล้วนั้นเป็นครั้งแรกที่ทหารรัสเซียถูกส่งไปซ้อมรบร่วมในจีน

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีปูติน และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีความใกล้ชิดและสถาปนาความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างกันในฐานะที่ทั้งสองชาติเป็นชาติทีกำลังเผชิญกับแรงบีบคั้นจากชาติตะวันตก โดยเคยระบุไว้ว่าจะเว้นไว้เฉพาะความร่วมมือด้านความมั่นคง

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีปูติน ระบุในโอกาสถัดมาว่าความร่วมมือด้านความมั่นคงกับจีนนั้นไม่สามารถแยกออกจากกันได้ พร้อมเปิดเผยว่ารัสเซียมีความร่วมมือทางเทคโนโลยีทางทหารกับจีนด้วย ซึ่งช่วยให้จีนมีขีดความสามารถในการป้องกันตัวเองได้มากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน