ภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นทำสถิติใหม่หลายต่อหลายครั้ง เห็นได้ถึงความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเชิงประจักษ์ทั้งในประเทศไทยและไต้หวัน ผลกระทบอย่างใหญ่หลวงอย่างไม่เคยมีมาก่อนซึ่งเป็นความท้าทายร่วมกันของเรา

สืบเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเช่นนี้ การมุ่งสู่การลดปริมาณคาร์บอนหรือ net-zero จึงเป็นเป้าหมายความพยายามร่วมกันของไต้หวันกับนานาประเทศ ไต้หวันมีความสามารถทางเทคโนโลยีสีเขียวที่จะสร้างประโยชน์ต่อการนี้ได้ และเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้มากที่สุดขณะที่ทุกคนเผชิญกับการคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

การเปลี่ยนผ่านสู่ net-zero เป็นปฏิบัติการสำคัญ

ขณะกำลังเผชิญกับภาวะความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้ ประเทศต่างๆ พากันนำเสนอปฏิบัติการ “net-zero 2050” โดยเมื่อเดือนตุลาคมปี ค.ศ. 2021 ได้มีการแถลงรายงานสถานะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของอาเซียน (ASEAN State of Climate Change Report, ASCCR) ว่าอาเซียนจะดำเนินการ net-zero ให้เป็นจริงในปี ค.ศ.2065 ขณะเดียวกันเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ.2021 ประเทศไทยได้นำเสนอยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ (Thailand’s Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy, Thailand’s LT-LEDS) โดยตั้งเป้าหมายจะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 การเปลี่ยนผ่านสู่ net-zero ก็เป็นเป้าหมายที่ไต้หวันกำลังพยายามอย่างแข็งขันเช่นกัน โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ศกนี้ (2023) ประธานาธิบดีไช่อิงเหวินได้ประกาศ “กฎหมายการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (Climate Change Espanol Act) มีผลใช้บังคับ โดยระบุเป้าหมาย “net-zero 2050” ไว้ในกฎหมาย อันเป็นการยกระดับการรณรงค์ระดับนโยบายเข้าสู่การควบคุมด้วยกฎหมาย แสดงถึงความมุ่งมั่นในการลดคาร์บอน ขณะเดียวกันยังได้สร้างกลไกกำหนดราคาคาร์บอนและการส่งเสริมทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย เพื่อชักนำให้ธุรกิจพัฒนาไปสู่ภาวะคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน ในปี 2022 ไต้หวันได้ประกาศ “พิมพ์เขียว net-zero 2050” และ “แผนยุทธศาสตร์สำคัญ 12 โครงการการเปลี่ยนผ่านสู่ net-zero” ขณะเดียวกันยังได้ดำเนินการเปลี่ยนผ่านสี่ด้านหลัก อันประกอบด้วย วิทยาศาสตร์ การผลักดันด้านพลังงาน อุตสาหกรรม ชีวิตการเป็นอยู่และสังคมบนพื้นฐานของการบริหาร “การพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี” และ “กฎหมายสภาพภูมิอากาศ” ขณะเดียวกันได้เริ่มแผน “net-zero ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี” (2023-2026) ซึ่งจะเป็นการทำให้การพัฒนาค้นคว้าด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเป็นจริงอย่างยั่งยืนทั้งในด้านพลังงาน คาร์บอนต่ำ คาร์บอนเป็นลบ การหมุนเวียนและมนุษย์ศาสตร์-สังคมศาสตร์ รวมห้ามิติด้วยกัน

รูปธรรมการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

การเปลี่ยนผ่านพลังงานของไต้หวันประสบผลเป็นอย่างดี โดยในสิบปีที่ผ่านมา ระดับความหนาแน่นของพลังงานปรับปรุงดีขึ้น 2.9% ต่อปีโดยเฉลี่ย ตามการประกาศของ American Council for an Energy-Efficient Economy หรือ ACEEE พบว่า ปีค.ศ.2022 อัตราความก้าวหน้าประสิทธิภาพพลังงานของไต้หวันเป็นอันดับแปดของโลก และในเอเชียถือเป็นอันดับรองจากประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น ปริมาณความจุพลังงานทดแทนของไต้หวันในห้าปีนี้เติบโตโดยเฉลี่ย 21.9% ต่อปี สูงกว่าอัตราเฉลี่ย 9.1% ของโลก และสูงกว่าประเทศใกล้เคียงในเอเชีย เช่น เกาหลี จีน ญี่ปุ่น ปี 2023 จำนวนการติดตั้งไฟฟ้าพลังงานลมและแสงอาทิตย์ราว 13.9 GW คิดเป็นเจ็ดเท่าของปี 2016 ทั่วไต้หวันมีแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง 264 แห่ง ประเมินว่าในปีนี้พลังงานทดแทนจะมีสัดส่วนการกำเนิดไฟฟ้าราว 10% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด และภายใต้หลักการความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าโดยคำนึงถึงการลดมลภาวะและลดคาร์บอน จึงได้เร่งพัฒนาพลังงานไฟฟ้าสีเขียว พลังงานอนาคตและยกประสิทธิภาพพลังงาน ขณะเดียวกันยังมีมาตรการให้สอดคล้องกันเช่นการกักเก็บพลังงาน การเสริมความยืดหยุ่นของเครือข่ายพลังงานด้วย เพื่อเป็นขั้นตอนการบรรลุการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

การจัดการและการปรับปรุงด้านสภาพภูมิอากาศ

เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้ม net-zero ของนานาประเทศและการบูรณาการงานด้านสภาพแวดล้อม ไต้หวันจึงผลักดันการปรับโครงสร้างหน่วยงานรัฐเพื่อยกระดับสมรรถนะ โดยในเดือนสิงหาคมศกนี้ ได้ยกระดับสำนักงานรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นกระทรวงสิ่งแวดล้อม และจัดตั้งสำนักงานความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้นใหม่ เพื่อเป็นเจ้าภาพในการรับมือและบริหารจัดการด้านความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลดก๊าซเรือนกระจก ขณะเดียวกันไต้หวันได้ประกาศ “รายงานการปรับตัวแห่งชาติ” เพื่อแสดงผลการสำรวจวิจัยวิทยาศาสตร์ด้านความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัว พร้อมกับการสร้างแพลตฟอร์มข้ามกระทรวงอย่างบูรณาการ กำหนด “แผนปฏิบัติการการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ผลักดันแผนแนวคิดยึดถือธรรมชาติเป็นศูนย์กลางและแผนช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เพื่อยกระดับความสามารถพื้นฐานในการรับมือความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยรวม อันเป็นหลักประกันความปลอดภัยของชีวิตประชาชนและการพัฒนาที่ยั่งยืนของชาติ

เศรษฐกิจหมุนเวียนชักนำห่วงโซ่อุปทานสีเขียว

สำนักงานทรัพยากรหมุนเวียนที่จัดตั้งขึ้นใหม่ของกระทรวงสิ่งแวดล้อมไต้หวัน ได้นำเอาการป้องกันมลภาวะปลายทางที่เคยให้ความสำคัญในอดีตยกระดับขึ้นเป็นการหมุนเวียนทรัพยากรถ้วนหน้า เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการจัดการสิ่งแวดล้อมเข้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน และทำให้แนวคิดทรัพยากรหมุนเวียนขยะศูนย์เป็นจริง ทำการวางนโยบายหมุนเวียนสามด้านใหญ่บนพื้นฐานอันดีของอดีต ประกอบด้วย “การบริหารจัดการการออกแบบแหล่งที่มาสีเขียว” “การใช้ทรัพยากรหมุนเวียนเพื่อพลังงานหมุนเวียน” และ “การสร้างสมดุลขยะกับพลังงานและการบริหารจัดการ” พร้อมกับเชื่อมโยงเครือข่ายหมุนเวียนให้กับอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำ ขณะเดียวกันพัฒนา “เทคโนโลยีนวัตกรรมและระบบ” เพื่อเป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนทรัพยากรหมุนเวียน เร่งรัดให้บรรลุเป้าประสงค์ขยะเป็นศูนย์และ net-zero

การกำหนดราคาคาร์บอนเป็นการกระตุ้นการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ

เศรษฐกิจไต้หวันเป็นเศรษฐกิจที่นำโดยการส่งออก ขณะที่โลกกำลังเผชิญแนวโน้มมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment) และห่วงโซ่อุปทานสีเขียวนี้ รัฐบาลจึงจัดตั้งกลไกประสานงานข้ามกระทรวง เพื่อช่วยผู้ประกอบการให้ทราบถึงปริมาณคาร์บอนในผลิตภัณฑ์ของตนเอง การลดคาร์บอนและผลักดันระบบการกำหนดราคาคาร์บอน อนึ่งเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรม ไต้หวันยังได้ผลักดัน “แผนปฏิบัติการการเงินสีเขียว” เพื่อชักนำให้มีการลงทุนสีเขียวหรืออุตสาหกรรมที่ยั่งยืน เสริมสร้างพัฒนาการสภาพแวดล้อมทางธุรกิจสังคมและการบริหารจัดการบริษัทอย่างยั่งยืน เดือนสิงหาคมศกนี้ยังได้จัดตั้ง “สำนักงานการซื้อขายสิทธิคาร์บอนไต้หวัน” ขึ้น อาศัยกลไกตลาดในการซื้อขายแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างแรงดึงดูดภาคธุรกิจในการลดคาร์บอน ขณะเดียวกันก็เร่งวิจัยค้นคว้าเทคโนโลยีการลดคาร์บอน และบ่มเพาะบุคลากรที่เกี่ยวข้อง อันจะนำมาซึ่งการหมุนเวียนเชิงบวกแก่เศรษฐกิจสีเขียวโดยรวม

ประสบการณ์ไต้หวันเป็นคุณประโยชน์ในการแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในฐานะที่ไต้หวันเป็นขุมพลังที่ดีของโลก แม้จะมีอุปสรรคมากมายในการเข้าร่วมกิจกรรมกับนานาประเทศ แต่ไต้หวันยังคงพยายามแสวงหาโอกาสในการสร้างคุณประโยชน์แก่โลก ด้วยความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว ซึ่งจะสามารถนำไปใช้ในการกู้ภัย การป้องกันภัย การรักษาสภาพแวดล้อม การรักษาพยาบาลและสาธารณสุข ตลอดจนงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสีเขียว เราจึงหวังอย่างยิ่งว่า กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) จะให้โอกาสแก่ไต้หวันได้มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม ยอมรับไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งในกลไกความร่วมมือว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของปฏิญญาปารีส เพื่อปฏิบัติการร่วมกับนานาประเทศ ร่วมกันขจัดวิกฤติของโลกที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน