รมต.ต่างประเทศ ‘ปานปรีย์’ลงพื้นที่แม่สอด เผยความคืบหน้าไทยส่งความช่วยเหลือมนุษยธรรมเมียนมา นำร่องหมู่บ้านผู้พลัดถิ่นราว 20,000 คน ตั้งเป้าเสร็จภายใน 1 เดือน ดึงศูนย์มนุษยธรรมอาเซียนสังเกตการณ์ความโปร่งใสและน่าเชื่อถือ

เมื่อวันที่ 8 ก.พ.นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้าการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนเมียนมา ระหว่างลงพื้นที่ด่านแม่สอด จังหวัดตากว่า ไทยริเริ่มผลักดันการตั้งศูนย์ช่วยเหลือมนุษยธรรมแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาเพื่อเปิดทางสู่การเจรจา คาดสามารถผลักดันแล้วเสร็จได้ภายใน 1 เดือน

ข้อริเริ่มของไทยเกิดขึ้น หลังจากไทยได้หารือกับรัฐบาลเมียนมา และที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนแบบไม่เป็นทางการที่หลวงพระบาง สปป.ลาวเห็นพ้องและสนับสนุนข้อริเริ่มความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของไทย ซึ่งอยู่ภายใต้หลักฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน ซึ่งมุ่งแก้ไขวิกฤตเมียนมา

นายปานปรีย์เน้นย้ำถึงความสำคัญของความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมว่า ตนหวังว่าระเบียงมนุษยธรรมนำไปสู่การเจรจา การแก้ไขความรุนแรงในเมียนมาที่นำไปสู่การหยุดยิงและการเจรจาสันติภาพต่อไป

ท่ามกลางสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัฐบาลเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ กองกำลังต่อต้านการรัฐประหาร โหมความหวาดระแวงไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน

เมื่อถามว่า ฝ่ายไทยริเริ่มระเบียงมนุษยธรรมกับรัฐบาลเมียนมานั้นถูกแล้วหรือไม่ รวมถึงความเป็นกลางของสภากาชาดเมียนมา นายปานปรีย์ขอชี้แจงว่า ไทยได้ประสานงานกับฝ่ายต่างๆ ในเมียนมาด้วยรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์และว่าการที่ไทยเริ่มต้นโครงการกับรัฐบาลเมียนมา เนื่องจากหากเริ่มต้นกับกลุ่มอื่นก็ต้องกลับมาเริ่มต้นกับรัฐบาลอยู่ดี

รัฐมนตรีต่างประเทศย้ำว่าปัญหาในเมียนมาต้องแก้ภายในเมียนมา และยืนยันว่าไทยไม่ได้แทรกแซงกิจการภายใน หรือทำเพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่ทำเพื่อประชาชน “เราคิดว่าเรื่องมนุษยธรรมเกี่ยวกับประชาชนโดยตรง ไม่เกี่ยวการเมือง” นายปานปรีย์กล่าวและเชื่อว่า สภากาชาดเมียนมามีเจตนาต้องการช่วยเหลือประชาชน

นายปานปรีย์ยังชี้แจงอีกว่า ไทยตั้งศูนย์ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมชั่วคราวขึ้นดังกล่าวไม่ใช่สร้างศูนย์รับผู้ลี้ภัยแห่งใหม่ โดยอธิบายว่า ความช่วยเหลือมนุษยธรรมเกิดขึ้นในกรณีที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนหรือมีปัญหาในเรื่องสุขภาพ ที่อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว

แม้ขณะนี้ยังไม่มีชาติตะวันตกเข้าร่วม แต่นายปานปรีย์ระบุว่า ในโอกาสเดินทางไปประชุมอาเซียน-สหภาพยุโรปหรืออียูที่กรุงบรัสเซลส์เมื่อ 2 ก.พ. อียูได้แสดงความต้องการที่จะให้เงินทุน หากโครงการมีประสิทธิผล

นายคมกฤช จองบุณวัฒนา ผู้อำนวยการกองเอเชียตะวันออก 2 กรมเอเชียตะวันออก อธิบายถึงกระบวนการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมว่า ทางฝ่ายรัฐบาลเมียนมาตกลงที่จะร่วมมือกับไทย โดยกรมเอเชียตะวันออกกับเมียนมาได้มีการหารือกันอย่างต่อเนื่อง มีการจัดตั้งคณะทำงานในระดับรองอธิบดีสามารถหารือเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับสิ่งของความช่วยเหลือทั้งในการส่งมอบ การแจกจ่ายความช่วยเหลือในฝั่งเมียนมา

โดยมีการประชุมครั้งแรกเมื่อ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ โดยมีองค์ประกอบคณะทำงานทั้งสองฝ่าย ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ สภากาชาดไทยและเมียนมา โดยสภากาชาดไทยมอบหมายให้สภากาชาดเมียนมา แจกจ่ายสิ่งของความช่วยเหลือให้แก่ประชาชน

ข้อสรุปเบื้องต้นหลังการหารือไทย-เมียนมา


1) สภากาชาดไทยจะดูแลในส่วนจัดหาสิ่งของความช่วยเหลือ ขณะนี้สภากาชาดสองฝ่ายอยู่ระหว่างการประสานงานกัน สิ่งของความช่วยเหลือเบื้องต้น อาทิ ข้าวสาร อาหารแห้ง
2) พื้นที่นำร่อง 3 หมู่บ้านในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นพื้นที่ผู้พลัดถิ่นจากการสู้รบในประเทศอาศัยอยู่ มีประชากรทั้งสิ้นราว 20,000 คน กระทรวงฯอยู่ระหว่างการโอนงบประมาณไปให้สภากาชาดไทย เมื่อได้งบประมาณใช้เวลา 30 วันในการจัดสิ่งของ โดยเมื่อทราบกำหนดแน่นอนจะประสานฝ่ายเมียนมา เพื่อที่จะกำหนดวันในการทำพิธีส่งมอบที่ด่านศุลกากรแม่สอด จ.ตาก
3) สิ่งของความช่วยเหลือผ่านพิธีการศุลกากร มีการคัดกรองด้านความปลอดภัย เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีสิ่งของอื่นๆนอกจากความช่วยเหลือที่ตกลงกันปะปนไปด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจทั้งสองฝ่ายให้เกิดขึ้น โดยในงานศุลกากรทำร่วมกันระหว่างสองฝ่าย ซึ่งจะทำล่วงหน้าก่อนพิธีส่งมอบ
4) การส่งมอบเป็นหน้าที่ของสภากาชาดไทยและสภากาชาดเมียนมา ทางฝั่งเมียนมานำรถข้ามมาขนถ่ายสิ่งของประมาณ 8 คันรถ พอข้ามไปในฝั่งเมียนมาก็จะนำไปยังจุดคัดกรองฝั่งเมียนมา

สำหรับการแจกจ่ายของในเมียนมา คำนึงความปลอดภัยในการขนส่งและการแจกจ่าย โดยให้เมียนมาไปคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เพื่อให้เปิดทาง ไม่ให้ดำเนินการใดๆที่กระทบการดำเนินการ

ประเด็นการสร้างความน่าเชื่อถือของกระบวนการ ซึ่งได้ให้ศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (AHA Center) เข้ามาสังเกตการณ์ หลังจากที่ประชุมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการจัดขึ้นที่หลวงพระบางได้มาเข้าร่วมการสังเกตการณ์แทน

สำหรับจุดพักสิ่งของ ฝ่ายไทยย้ำกับเมียนมาว่า ควรเป็นพื้นที่ที่ทีมีความเป็นกลาง ไม่ควรมีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาล เพื่อให้เกิดความน่ามั่นใจและความน่าเชื่อถือ ทางฝ่ายเมียนมาเข้าใจและรับปาก ขณะนี้กำลังจัดหาอาคารจัดเก็บ ซึ่งอยู่ใกล้หมู่บ้านนำร่อง เพื่อเป็นจุดพักรอแจกจ่าย

อีกประเด็นที่ฝ่ายไทยย้ำว่า ต้องให้องค์กรภาคประชาสังคม หัวหน้าชุมชนต่างๆเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการแจกจ่ายความช่วยเหลือ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า สิ่งของความช่วยเหลือทั้งหมดไปถึงมือผู้พลัดถิ่น

อ่าน ‘ปานปรีย์’ พบรองนายกฯเมียนมา ถกปมสันติภาพ ตั้งคณะทำงานยกระดับความช่วยเหลือมนุษยธรรม

อ่าน แนวโน้มการปราบทุนจีนเทาจากเล้าก์ก่ายสู่แม่สอด? วิเคราะห์สถานการณ์สู้รบของกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ 3 พี่น้อง (ตอน 2)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน