ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติหรือยูเอ็นเรียกร้องให้ธนาคารไทยพาณิชย์และอื่นๆตัดความสัมพันธ์กับหน่วยงานเมียนมาที่รัฐเป็นเจ้าของ หลังจากตรวจพบไทยขึ้นมาแทนที่สิงคโปร์ในการเป็นธนาคารและแหล่งหลักในการสั่งซื้ออาวุธและเสบียงบำรุงทางทหารของรัฐบาลเมียนมาเพื่อใช้ในการโจมตีพลเรือนในสงครามกลางเมือง 3 ปี

ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติหรือยูเอ็นเผยแพร่รายงานบทบาทของธนาคารต่างชาติในการอำนวยความสะดวกให้โอกาสที่จะเกิดอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อต้านมนุษยชาติ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.เวลาท้องถิ่น

ทอม แอนดรูส์ ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติในสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา ระบุว่า ธนาคารต่างชาติกำลังอำนวยความสะดวกการเข้าถึงอาวุธและวัตถุที่เกี่ยวข้องแก่กองทัพเมียนมา หมายความว่า ธนาคารเหล่านี้กำลังสนับสนุนการสู้รบโดยใช้ความรุนแรงและโหดร้ายต่อประชาชนเมียนมา

รายงานหัวข้อ ธนาคารบนการค้าความตาย : ธนาคารและรัฐบาลทั้งหลายให้อำนาจรัฐบาลทหารในเมียนมาอย่างไร ระบุว่า ธนาคาร 16 แห่งใน 7 ประเทศทำธุรกรรมเชื่อมโยงเกี่ยวกับการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ทหารเมียนมาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (31 มี.ค.2565-31 มี.ค.2567) และอีก 25 แห่งที่ให้บริการธนาคารตัวแทนต่างประเทศกับธนาคารที่เป็นของรัฐ ซึ่งถูกควบคุมโดยรัฐบาลทหาร

“ธนาคารระหว่างประเทศที่อำนวยความสะดวกในการโอนเงินรวมถึงธนาคารที่รัฐเมียนมาเป็นเจ้าของนั้นเสี่ยงสูงที่จะทำให้ทหารสามารถโจมตีพลเรือนเมียนมา ขอเรียกร้องให้หยุดการกระทำนี้ ธนาคารมีหน้าที่พื้นฐานที่จะไม่อำนวยความสะดวกต่ออาชญากรรม ซึ่งรวมถึงอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อต้านมนุษยชาติ” นายแอนดรูส์ระบุ

เกิดจากตรวจสอบจนเจอความเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อบทบาทของชาติอาเซียน 2 ประเทศได้แก่ ไทยและสิงคโปร์ ที่เป็นแหล่งส่งอาวุธและเสบียงทางทหาร หลังจากเมื่อปีที่แล้วสิงคโปร์อยู่ในอันดับ 3 แหล่งส่งอาวุธและเสบียงบำรุงทางทหารแก่รัฐบาลทหารเมียนมา รัฐบาลสิงคโปร์จึงเปิดการสอบสวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการค้าดังกล่าวที่อยู่ในสิงคโปร์ โดย ณ สิ้นเดือนมี.ค.2567 การขนส่งวัตถุอาวุธไปเมียนมาจากบริษัทที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ลดลงร้อยละ 90 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า

แต่การจัดซื้อของทหารเมียนมาผ่านประเทศไทยกลับตรงข้ามกับสิงคโปร์ โดย ณ สิ้นเดือนมี.ค.2567 รัฐบาลทหารนำเข้าอาวุธและเสบียงทางทหารจากบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยเกือบ 130 ล้านดอลล่าร์สหรัฐหรือราว 4.7 พันล้านบาท เพิ่มมากกว่าสองเท่าของยอดรวมปีที่แล้ว

ธนาคารไทยมีบทบาทสำคัญ ยกตัวอย่างธนาคารไทยพาณิชย์ อำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับกองทัพเมียนมาเพียงกว่า 5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐหรือราว 180 ล้านบาท ณ สิ้นสุดมี.ค.ปี 2566 แต่จำนวนเงินที่ทำธุรกรรมพุ่งขึ้นสู่กว่า 100 ล้านดอลล่าร์สหรัฐหรือราว 3.6 พันล้านบาท ณ สิ้น เดือนมี.ค.2567

“สิงคโปร์พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลที่มีเจตจำนงทางการเมืองที่เพียงพอจะสามารถสร้างความแตกต่างสู่การหยุดการค้าความตายกับเมียนมา ประเทศไทยมีโอกาสที่จะทำตามตัวอย่างสิงคโปร์ โดยการลงมือที่จะทำให้เกิดผลกระทบที่เลวร้ายต่อความสามารถของรัฐบาลทหารที่จะโจมตีเป้าหมายที่เป็นพลเรือน ผมเร่งให้ประเทศไทยลงมือทำโดยด่วน” นายแอนดรูส์กล่าว

นับตั้งแต่การรัฐประหาร พลเรือนถูกรัฐบาลทหารสังหารกว่า 5,000 ราย และอย่างน้อย 3 ล้านคนไร้ที่อยู่ และนักโทษการเมืองกว่า 20,000 คนยังคงถูกขังคุก และในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา การโจมตีทางอากาศของกองทัพต่อเป้าหมายพลเรือนเพิ่มขึ้น 5 เท่าขณะที่รัฐบาลทหารสูญเสียจุดตรวจ ด่านทหาร พื้นที่และกำลังพลให้แก่ฝ่ายต่อต้าน

รอยเตอร์ รายงานเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ว่า ดูเหมือนว่าความพยายามของนานาชาติที่จะโดดเดี่ยวเมียนมาด้วยการทำให้ความสามารถในการหาซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารครั้งใหม่จากต่างประเทศนั้นลดน้อยลงได้ แต่รัฐบาลทหารยังคงสามารถเข้าถึงเงินและอาวุธเพื่อใช้ทำสงครามกับกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร

กว่า 3 ปีนับตั้งแต่การทำรัฐประหาร การประท้วงเคลื่อนไหวต่อต้านเปลี่ยนไปสู่สงครามกลางเมืองเต็มที่ กองทัพเมียนมาถูกกล่าวหาโจมตีทางอากาศใส่ฝ่ายต่อต้านและพลเรือน ขณะที่ก็สูญเสียการควบคุมพื้นที่ขนาดใหญ่

ในภาพรวมรายงานที่จัดทำขึ้นโดยผู้แทนพิเศษยูเอ็นพบ มูลค่าของอาวุธ เทคโนโลยีที่ใช้ได้สองทางทั้งทางทหารและพลเรือน อุปกรณ์การผลิตและวัสดุอื่นๆที่นำเข้าโดยรัฐบาลทหารมีมูลค่า 253 ล้านดอลล่าร์สหรัฐหรือราว 9.3 พันล้านบาท ในระหว่างสิ้นเดือนมี.ค.2566-สิ้นเดือนมี.ค. 2567 ซึ่งน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือลดลงหนึ่งในสาม เนื่องจากสิงคโปร์ป้องกันหลายบริษัทของประเทศจากการช่วยเหลือรัฐบาลทหาร

ความคืบหน้านี้แสดงถึงการคว่ำบาตรและมาตรการอื่นๆอีกหลายมาตรการของนานาชาติส่งผลกระทบต่อความสามารถของรัฐบาลทหารในการที่จะนำเข้าเสบียงกองทัพมาใหม่และ ดังนั้นจึงไปลดความสามารถของกองทัพที่จะโจมตีในรูปแบบต่างๆอย่างเช่น การโจมตีทางอากาศที่สังหารพลเรือนในหมู่บ้านหลายแห่ง

“วิธีที่โหดร้ายอย่างมากที่พวกเขาใช้โจมตีหมู่บ้านขึ้นกับการเข้าถึงอาวุธและวัสดุอุปกรณ์ที่ขนมาจากต่างประเทศ”

กองทัพเมียนมาปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าได้กระทำเหตุโหดร้ายต่อพลเรือนและกล่าวว่า กำลังต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย ซึ่งเจ้าหน้าที่เมียนมาลดความสำคัญของผลกระทบของการแซงก์ชั่นต่อรัฐบาลทหารและว่าการแซงก์ชั่นก็เพียงแค่ทำให้แผนการกลับสู่ประชาธิปไตยของเมียนมาล่าช้าออกไปก็เท่านั้น

นายแอนดรูส์มองที่การซื้อโดยหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงกลาโหมเมียนมา ซึ่งการจัดซื้อจัดจ้างของทหารมีมูลค่า 630 ล้านดอลล่าร์สหรัฐหรือราว 23,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2022-2024 หรือปี 2565-2567

การส่งออกอาวุธและเสบียงทางทหารจากสิงคโปร์ลดลงจากเดิมกว่า 110 ล้านดอลล่าร์สหรัฐหรือราว 4,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2565 จนเหลือเพียงกว่า 10 ล้านดอลล่าร์สหรัฐหรือราว 368 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เพื่อนบ้านของเมียนมาอย่างไทยเข้ามาเติมช่องว่างนี้ได้บางส่วน หลายบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยโอนอาวุธและวัตถุที่เกี่ยวข้องมูลค่าเกือบราว 130 ล้านดอลล่าร์สหรัฐหรือราว 4.7 พันล้านบาท ในปีงบประมาณ 2566 เมื่อเทียบกับปีงบประมาณก่อนหน้าที่มีมูลค่า 60 ล้านดอลล่าร์สหรัฐหรือราว 2.2 พันล้านบาท

“ยกตัวอย่างที่เห็นเด่นชัด ในปี 2566 บริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยกลายเป็นแหล่งจัดหาอะไหล่สำรองสำหรับเฮลิคอปเตอร์ Mi-17 และ Mi-35 ของรัฐบาลทหาร ซึ่งบริษัทที่จดทะเบียนในสิงคโปร์เคยทำมาก่อน” รายงานระบุ

รัฐบาลทหารใช้เอลิคอปเตอร์เหล่านี้เพื่อขนทหารและโจมตีเป้าหมายที่เป็นพลเรือน เช่น การโจมตีหมู่บ้านปาซีจี ในภูมิภาคสะกาย ในเดือนเม.ย.ปีที่แล้วทำให้มีประชาชนเสียชีวิตราว 170 ราย รวมถึงเด็ก 40 ราย ส่วนกองทัพเมียนมาแจ้งว่า นักรบฝ่ายต่อต้านถูกสังหารหลายรายด้วย

 

 

 

 

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน