การเปิดรับไต้หวันเข้าร่วมระบบของ UN จะสามารถช่วยสร้างหลักประกันทางสันติภาพในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกได้
บทความพิเศษ โดย นายหลินเจียหลง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)
ไต้หวันเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงและชิปขั้นสูงที่ใช้ปฏิวัติปัญญาประดิษฐ์ (AI) กว่า 90% ของโลก ดังนั้น ไต้หวันเป็นคู่ค้าที่ขาดเสียมิได้ในห่วงโซ่อุปทานโลก นอกจากนี้ เรือบรรทุกสินค้าทั่วโลกจำนวนเกินครึ่งเดินเรือผ่านช่องแคบไต้หวัน ทำให้ช่องแคบไต้หวันเป็นเส้นทางเดินเรือสากลที่สำคัญ ประกอบกับหลายพื้นที่และประชาชนหลายพันล้านคนทั่วโลกยังได้รับประโยชน์จากความเจริญรุ่งเรือง อันเป็นผลพวงจากความมั่นคงของน่านน้ำช่องแคบไต้หวัน
หลายปีมานี้ ผู้นำทั่วโลกได้ใช้เวทีระดับทวิภาคีและพหุภาคีหลายวาระ เช่น การประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม(G7), การประชุมสหภาพยุโรป(EU), การประชุมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ(NATO), และการประชุมอาเซียน (ASEAN) เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของการธำรงรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงและสันติภาพของช่องแคบไต้หวัน แม้สหประชาชาติจะตระหนักดีว่าจำเป็นต้องลดความตึงเครียดในภูมิภาคนี้ แต่ยังมิได้ใช้มาตรการที่เป็นรูปธรรมในการรับมือกับความท้าทายที่เกิดจากสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือการรับไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบสหประชาชาติ ขณะนี้ ประชาคมโลกได้มีวิธีการใหม่ในการสานสัมพันธ์กับไต้หวัน และสร้างประโยชน์มหาศาลต่อโลก การต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนหรือไต้หวันในระบบสหประชาชาติ กลายเป็นแนวคิดล้าหลังตกยุค และเป็นวิธีเลือกขั้วที่ผิดพลาด ขณะนี้ถือเป็นจังหวะที่เหมาะสมสำหรับสหประชาชาติในการพิจารณาแก้ไขนโยบายกีดกันไต้หวันที่ไม่เป็นธรรม
ภารกิจเร่งด่วนสำหรับสหประชาชาติขณะนี้คือจักต้องยุติการจำนนต่อแรงกดดันของสาธารณรัฐประชาชนจีน และมิควรบิดเบือนญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 เมื่อปี 1971 อีกต่อไป สาธารณรัฐประชาชนจีนจงใจอธิบายญัตติดังกล่าวอย่างไม่ถูกต้อง เชื่อมโยงญัตติดังกล่าวกับ “หลักการจีนเดียว” ของสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างไม่เหมาะสม ขัดขวางสิทธิอันชอบธรรมของไต้หวันในการเข้าร่วมกิจกรรมและหน่วยงานพิเศษของสหประชาชาติอย่างไม่ผ่อนปรน ในความเป็นจริง “หลักการจีนเดียว” ของสาธารณรัฐประชาชนจีนกับ “นโยบายจีนเดียว” ของประเทศส่วนใหญ่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ญัตติที่ 2758 ของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติจัดการเฉพาะปัญหาสิทธิตัวแทนประเทศจีนในสหประชาชาติเท่านั้น โดยมิได้กล่าวถึงไต้หวัน และไม่เคยระบุชัดแจ้งว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน ยิ่งไม่เคยมอบอำนาจให้สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นตัวแทนของไต้หวันในระบบสหประชาชาติ กล่าวคือ ญัตติดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับไต้หวัน
โชคดีที่หลายเดือนมานี้ มีข้าราชการพลเรือนอาวุโสของสหรัฐอเมริกาหลายท่าน โจมตีวาทกรรมของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่บิดเบือนญัตติที่ 2758 ในการสร้างความชอบธรรมว่าตนมีอำนาจอธิปไตยเหนือไต้หวัน
นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกรัฐสภากว่า 250 ท่านจาก 38 ประเทศทั่วโลกและสหภาพยุโรป ได้ร่วมกันจัดตั้ง “กลุ่มพันธมิตรจีนของสมาชิกรัฐสภาข้ามชาติแห่งภูมิภาคยุโรป” (Inter-Parliamentary Alliance on China, IPAC) และเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ศกนี้ “IPAC ได้เห็นชอบ แม่แบบญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 (Model Resolution on 2758)” แสดงถึงการสนับสนุนไต้หวันอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศตามที่ระบุในกฎบัตรสหประชาชาติ องค์การสหประชาชาติจักต้องกลับสู่และสนับสนุนคำอธิบายญัตติที่ 2758 ที่ถูกต้อง พร้อมหาวิธียับยั้งความทะเยอทะยานในการยั่วยุของสาธารณรัฐประชาชนจีน
หากย้อนมองประวัติศาสตร์ การมุ่งหมายประชาธิปไตยจักต้องแสดงออกอย่างทันท่วงที ก่อนที่จะสายเกินไป ระบบสหประชาชาติเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันเวทีฟอรั่มความร่วมมือระหว่างประเทศ ตามหลักควรจัดการกับความท้าทายด้านความมั่นคงของภูมิภาคและสนับสนุนเสถียรภาพของเศรษฐกิจทั่วโลก การประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติครั้งที่ 79 ที่กำลังจะมีขึ้นและ “การประชุมสุดยอดอนาคต” จะมีการหารือความมั่นคงอันสำคัญ ณ ปัจจุบัน ขณะเดียวกัน จะกระตุ้นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั่วโลก และเป็นโอกาสดีที่สุดในการสรรค์สร้างสังคมที่มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นเพื่อปัจจุบันและอนาคต
หลายสิบปีที่ผ่านมา ไต้หวันได้พิสูจน์ให้ผู้ให้ความร่วมมือเห็นว่าตนมีความรับผิดชอบและพึ่งพิงได้ เมื่อเร็วๆ นี้ ไต้หวันยังได้สร้างคุณูปการสำคัญตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ การเปิดรับไต้หวันเข้าร่วมระบบสหประชาชาติอย่างมีนัยยะ จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดขององค์การสหประชาชาติในการผ่อนคลายวิกฤตแฝงเร้นในภูมิภาคและการรักษาสันติภาพ ความมั่นคงของช่องแคบไต้หวัน ตลอดจนเพิ่มพูนความรุ่งเรืองของโลกอย่างไม่ต้องสงสัย
ในอนาคต ไต้หวันจะใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ พร้อมร่วมมือกับประเทศที่มีอุดมการณ์ใกล้เคียงกัน สร้างสรรค์ห่วงโซ่อุปทานโลกที่สมบูรณ์และเข้มแข็งในการอำนวยชิปเซมิคอนดักเตอร์ อีกทั้งตั้งใจช่วยผลักดันความก้าวหน้าของโลก
เพื่อโลกที่มั่นคงและดียิ่งกว่า ระบบสหประชาชาติจึงควรเปิดรับให้ไต้หวันเข้าร่วมด้วย