น้ำท่วมทะเลทรายซาฮารา ทางตอนใต้ของโมร็อกโก หลังเจอพายุถล่ม ฝนตกหนัก ปรากฏการณ์หายาก รอบ 50 ปี
วันที่ 9 ต.ค. สำนักข่าวต่างประเทศ เอพี รายงานว่า เกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติที่หายาก น้ำท่วมทะเลทรายซาฮารา ทางตอนใต้ของโมร็อกโก ที่เป็นพื้นที่แห้งแล้งที่สุดในโลก หลังฝนตกหนัก น้ำไหลบ่าเข้าท่วมอย่างรวดเร็ว เนื่องจากทรายไม่สามารถดูดซับน้ำได้ทัน
ทางด้านกรมอุตุนิยมวิทยาแห่งโมร็อกโก กล่าวว่า เกิดพายุฝนตกหนัก ส่งผลให้มวลน้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่ทะเลทรายซาฮารา และพืชพรรณในทะเลทราย ทางตอนใต้ของโมร็อกโก สถานที่ที่ขึ้นชื่อว่า แห้งแล้งที่สุด บางแห่งมีน้ำในปริมาณมากกว่าที่เคยพบเห็นมาหลายทศวรรษ
โดยภาพจากดาวเทียมของ NASA แสดงให้เห็น น้ำที่ไหลทะลักเข้ามาเติมเต็มทะเลสาบอิริกุย ซึ่งเป็นทะเลสาบที่มีชื่อเสียงระหว่างซาโกราและตาตา โดยพื้นที่แห่งนี้ไม่ได้เกิดฝนตกหนักเช่นนี้ และทำให้เกิดน้ำท่วมในระยะเวลาอันสั้น มานานกว่า 50 ปี
ขณะที่ ทางรัฐบาลโมร็อกโก เปิดเผยว่า ปริมาณฝน 2 วันในเดือนกันยายนเกินค่าเฉลี่ยรายปี ในหลายพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่า 250 มิลลิเมตร (10 นิ้ว) ต่อปี ซึ่งรวมถึงเมืองตาตา ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด
นอกจากนี้ ในหมู่บ้านตากูนิเต ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงราบัตไปทางใต้ประมาณ 450 กิโลเมตร (280 ไมล์) พบว่ามีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 100 มิลลิเมตร (3.9 นิ้ว) ในรอบ 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ ฝนที่ตกหนักดังกล่าว ซึ่งทางด้านนักอุตุนิยมวิทยา เรียกว่า พายุนอกเขตร้อน อาจทำให้สภาพอากาศในภูมิภาคนี้เปลี่ยนแปลงไปในอีกไม่กี่เดือนหรือไม่กี่ปีข้างหน้า เนื่องจากอากาศจะกักเก็บความชื้นไว้มากขึ้น ทำให้เกิดการระเหยมากขึ้นและทำให้เกิดพายุมากขึ้น