กระแสลมแห่งโลกาภิวัตน์ที่โลกมีผู้นำอย่างสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองกำลังจะเปลี่ยนทิศ หลังการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสายกำปั้นทุบดิน เตรียมเข้าพิธีสาบานตนเป็นผู้นำคนใหม่ของแดนพญาอินทรีอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ม.ค.ที่จะถึงนี้ ทุกฝ่ายทุกประเทศควรจับตาเอาไว้

ทรัมป์จากพรรครีพับลิกันได้รับเลือกตั้งอย่างท่วมท้นในฐานะผู้ที่จะเข้ามากอบกู้คุณภาพชีวิตของชาวอเมริกัน มีนโยบายด้านการต่างประเทศและเศรษฐกิจแบบ “ไม่แทรกแซง” (non-intervention) จึงอาจเป็นการหักเหของนโยบายสหรัฐครั้งใหญ่ในฐานะผู้นำโลก และออกนอกรอบกุศโลบายโลกบาลอย่าง “ฉันทามติวอชิงตัน” ที่ปกติแล้วสหรัฐจะใช้กลไกทางเศรษฐกิจในการสร้างพันธมิตร ซึ่งหากสหรัฐลดบทบาทตัวเองไป บรรดาชาติคู่แข่งจะยิ่งดีใจเร่งแผ่ขยายอิทธิพล ทว่า ทรัมป์จะยอมแลกตรงนี้ได้หรือไม่

เริ่มต้นที่สงครามรัสเซียรุกรานยูเครน ทรัมป์ ประกาศไว้หลายครั้งในการหาเสียงว่า ต้องการยุติสงครามยูเครน แต่หากพิจารณาจากถ้อยคำของว่าที่ผู้นำสหรัฐคนใหม่ที่ว่า “ผมไม่ใช่ไม่อยากช่วยเค้านะ ผมสงสารประชาชนเค้า แต่เค้าไม่น่าให้สงครามนี้มันเกิดขึ้นมาได้ตั้งแต่แรกแล้ว” ก็ค่อนข้างแน่ใจได้ว่าทรัมป์อาจยุติการสนับสนุนยูเครน

และน่าจะหันไปเจรจากับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย โดยทรัมป์นั้นมั่นใจถึงขนาดระบุไว้ว่า จะยุติสงครามยูเครนภายในวันเดียว แต่ไม่ทราบว่าความยุติธรรมต่อยูเครนอยู่ในสมการต่อรองของทรัมป์เพียงใด

ศาสตราจารย์จอห์น เมียชไฮเมอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยชิคาโก ประเทศสหรัฐ มองว่ายังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าทรัมป์จะทำได้จริงอย่างที่หาเสียงไว้หรือไม่ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐนั้นย่ำแย่และลุกลามไปจนถึงระดับที่ประธานาธิบดีปูตินอาจไม่ไว้ใจ

ศาสตราจารย์จอห์น เมียชไฮเมอร์

ที่ชัดเจนแน่นอนที่สุดคือ ทรัมป์จะมีวิธีการที่แตกต่างไปจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐคนปัจจุบันจากพรรคเดโมเครติก หรือเดโมแครต ที่เน้นการเผชิญหน้า ไม่ยอมเจรจากับรัสเซียและเดินหน้าประเคนทั้งงบประมาณและอาวุธให้ยูเครน สร้างความไม่พอใจให้ชาวอเมริกันที่ต้องการให้รัฐนำเงินภาษีมายกระดับชีวิตของตนมากกว่า

“การสู้รบเพื่อนำดินแดนยูเครนที่ถูกรัสเซียยึดครองกลับมา ในมุมมองของผม มองว่าเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากแสนยานุภาพของยูเครนและรัสเซียนั้นแตกต่างกันมากเกินไป พิสูจน์จากความพยายามรุกคืบของยูเครนที่ผ่านมานั้นไม่เป็นผลสำเร็จ ทางออกเดียวที่ดีและเหลืออยู่คือการเจรจากับรัสเซียเพื่อไม่ให้เสียดินแดนไปอีก” ศ.เมียชไฮเมอร์ ระบุ

การสู้รบในยูเครนยังพัวพันมาถึงองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต้ด้วย ซึ่งทรัมป์เคยแสดงท่าทีว่าเป็นภาระทางการเงิน โดยหากทรัมป์ตัดสินใจลดการสนับสนุนนาโต้ ก็จะกระตุ้นให้ชาติยุโรปแข่งขันกันด้านการทหาร เพราะต่างกำลังหวาดผวากับรัสเซียและอาจทำให้สหรัฐหมางใจกับพันธมิตรเหมือนสมัยแรก

อัลจาซีราระบุว่า อีกหนึ่งเรื่องใหญ่เป็นสงครามในตะวันออกกลาง หลังอิสราเอลเปิดปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซ่า ที่กลายเป็นชนวนความขัดแย้งลุกลามไปทั่วภูมิภาค มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 45,000 ราย และอิสราเอลถูกครหาจากประชาคมโลกว่าทำสงครามด้วยเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์เพื่อยึดครองดินแดนที่เหลืออย่างเบ็ดเสร็จ ได้แก่ ฉนวนกาซ่า และเขตเวสต์แบงก์ ซึ่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ถือว่าอิสราเอลละเมิดข้อบังคับสากล

สมรภูมิกาซ่าจะยุติอย่างไร (รอยเตอร์)

ประเด็นปัญหานี้ สหรัฐในยุคของไบเดน ชาติเดียวในโลกที่ยืนหยัดปกป้องอิสราเอลทั้งในทางการทูตและการทหารเสมอมาน่าจะหนักไปหน้ายิ่งกว่าเก่าในยุคของทรัมป์ 2.0

แม้ชาวอเมริกันจำนวนมากจะไม่พอใจที่สหรัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในการสนับสนุนอิสราเอลทำสงครามดังกล่าว แต่ต้องไม่ลืมว่าชาวอเมริกันบางส่วนที่เลือกทรัมป์ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ไม่ได้เลือกทรัมป์เพราะนิยมชมชอบทรัมป์ แต่เพราะต้องการลงโทษไบเดนและรัฐบาลพรรคเดโมแครต รวมถึงสาเหตุจากโพลสำรวจในอเมริกาเอง พบว่าเป็นเรื่องภายใน ไม่ว่าจะเป็นกระแสต่อต้านเสรีนิยมตกขอบ (Woke) ไปจนถึงนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ที่เอ่ยถึงคุณภาพชีวิตประชาชนทั่วไป ไม่ใช่นายทุน นักการเมือง หรือตัวเลขจีดีพีสวยๆ ที่ไม่ทำให้ผู้คนปกติมีชีวิตที่ดีขึ้น

กาซ่าเสียหายสุดขั้ว (รอยเตอร์)

ทรัมป์เคยระบุไว้ว่า “ผมดีใจที่บิบี้ (เบนจามิน เนทันยาฮู) ตัดสินใจทำในสิ่งที่ได้ทำลงไปแล้ว” นอกจากนี้ ความแน่นแฟ้นระหว่างทรัมป์กับอิสราเอลยังสะท้อนได้ชัดเจนจากผลงานเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐสมัยแรก จากกรณีที่ทรัมป์สั่งย้ายสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐจากกรุงเทลอาวีฟไปไว้ยังนครเยรูซาเลม

ทรัมป์ยังประกาศยอมรับว่า นครเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ส่งผลให้สหรัฐเป็นชาติแรกในโลกที่ยอมรับเรื่องนี้ต่อจากอิสราเอล สร้างความเดือดดาลให้ชาวปาเลสไตน์และเสียงโจมตีจากนานาชาติ ไม่เว้นแม้แต่จากบรรดาชาติพันธมิตรของสหรัฐและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ที่สมาชิกถาวรทั้งหมดพร้อมใจกันประณาม แต่สหรัฐใช้อำนาจวีโต้คว่ำการออกแถลงการณ์ของ UNSC

ท้ายสุดเป็นเรื่องเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ทรัมป์มีนโยบายสวนทางการค้าเสรีผ่านการสร้างกำแพงภาษีเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในของชาวอเมริกัน โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นจะนำมาซึ่งภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในโลก ความแปรปรวนของตลาดหุ้น และสงครามการค้าที่จะยิ่งทวีความรุนแรง โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐกับจีน เรื่องนี้ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในชาติเสี่ยงที่สุด ที่อาจถูกทรัมป์ตั้งกำแพงภาษีเพื่อกีดกันสินค้าด้วย

อิทธิพลจีน (รอยเตอร์)

ข้อมูลนี้มาจากรายงานของมูลนิธิข้อมูลเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITIF) ที่กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐ ที่เผยแพร่ผลการประเมินดัชนีความเสี่ยงที่จะถูกทรัมป์เข้ามาจัดการของชาติพันธมิตร (Trump Risk Index Score-TRIS) ประเมินจากปัจจัย 4 ประการ ได้แก่ งบสนับสนุนด้านการทหาร (ที่สหรัฐต้องจ่าย) ดุลการค้า (ที่สหรัฐเสียเปรียบ) นโยบายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสหรัฐ และแนวโน้มที่จะต่อต้านอิทธิพลของจีน

ประเทศไทยถือเป็นชาติที่มีดัชนี TRIS สูงเป็นอันดับสองจากทั้งหมด 39 ชาติ เป็นรองเพียงเม็กซิโกเท่านั้น เนื่องมาจากดุลการค้าที่สหรัฐขาดดุลไทยอยู่ถึง 3.78 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 1.3 แสนล้านบาท (ข้อมูลจากเว็บไซต์ OEC World) หากสินค้าของไทยถูกกีดกันก็จะส่งผลให้หนึ่งรายได้หลักของไทยประสบปัญหา

นอกจากนี้ สินค้าของชาติอื่นที่ส่งไปขายในสหรัฐไม่ได้ ก็อาจไหลทะลักเข้ามาในไทยด้วย โดยเฉพาะสินค้าจีน เนื่องจากไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่จีนใช้ระบายสินค้าล้นตลาดภายใน

TRIS ของไทยอยู่อันดับ 2 (ITIF Report)

ทรัมป์ ผู้นำใหม่ของสหรัฐเป็นบุคคลที่เชื่อว่าโลกโลกาภิวัตน์ปัจจุบันที่สหรัฐเป็นชาติผู้นำนั้นเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณประโยชน์ต่อชาวอเมริกัน นโยบายเศรษฐกิจ สังคม และการต่างประเทศของทรัมป์ จึงเป็นการเปลี่ยนทิศทางครั้งใหญ่ของสหรัฐ ซึ่งจะสร้างแรงกระเพื่อมใหญ่หลวงทั้งในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ และอาจนำไปสู่การมาถึงของนิวโกลบอล ออร์เดอร์ หรือการจัดกลุ่มอำนาจใหม่ เป็นเรื่องที่ทุกชาติ รวมถึงไทยต้องจับตาไว้ ไม่ให้ตกขบวนประโยชน์และหลบเลี่ยงมรสุมให้ทันท่วงที ปีหน้าฟ้าใหม่จะเป็นอย่างไร ก็ต้องสู้กันต่อไป จำไว้ว่าชีวิตย่อมมีหนทางเสมอ …สวัสดีปีมะเส็ง 2568

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน