นักวิทย์แห่จับตา! ลิงบนเกาะปานามาแสดงพฤติกรรมสุดแปลก หลังลักพาลูกสัตว์ต่างชนิดเพื่อเอาไปเลี้ยงเอง เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยพบมาก่อน
19 พ.ค. 2568 สื่อต่างประเทศระบุว่า “ลิงคาปูชิน” เพศผู้วัยรุ่นที่เบื่อหน่าย เริ่มทำพฤติกรรมใหม่สุดประหลาด ด้วยการ “ลักพาตัวลูกลิงฮาวเลอร์” ไปเลี้ยง นักวิทยาศาสตร์เผยว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกพฤติกรรมสัตว์ที่ขโมยลูกของสัตว์ต่างสายพันธุ์ โดยไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน”
โซอี้ โกลด์สโบโร (Zoe Goldsborough) นักศึกษาปริญญาเอก เริ่มสังเกตเห็นผิดปกติบางอย่างเมื่อปี 2022 (พ.ศ. 2563) ขณะที่เธอกำลังตรวจสอบภาพจากกล้องตรวจจับความเคลื่อนไหว ซึ่งติดตั้งอยู่บนเกาะฮิการอน นอกชายฝั่งของประเทศปานามา
โกลด์สโบโร จากสถาบันศึกษาพฤติกรรมสัตว์ที่ประเทศเยอรมนีให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า “ฉันตกใจเป็นอย่างมาก เมื่อเห็นลิงคาปูชินหน้าขาวกำลังแบกลูกลิงฮาวเลอร์ไว้บนหลัง”
โดยนักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อเล่นให้ลิงคาปูชินตัวดังกล่าวว่า เจ้า “โจ๊กเกอร์” เนื่องจากมันมีรอยแผลเล็ก ๆ ที่มุมปาก ซึ่งทำให้นึกถึงตัวร้ายจากภาพยนตร์ “แบทแมน” อันโด่งดัง
หลังจากการตรวจสอบภาพวิดีโอเพิ่มเติม พวกเขาพบว่าเจ้า “โจ๊กเกอร์” เคยแบกลูกลิงฮาวเลอร์มาแล้วถึง 4 ตัว ด้วยกัน
ในตอนแรก ทีมนักวิจัยคิดว่าอาจเป็น “เรื่องราวน่ารักอบอุ่นของลิงคาปูชินตัวหนึ่งที่แปลกไปจากธรรมชาติ เพราะมันดูเหมือนกำลังรับเลี้ยงลูกลิงฮาวเลอร์”
แต่ไม่นานหลังจากนั้น พวกเขาก็เริ่มพบพฤติกรรมคล้ายกันจากลิงคาปูชินตัวอื่น ๆ ตามมา โดยตลอดช่วงเวลา 15 เดือน ทีมวิจัยพบว่า “มีลิงคาปูชินอย่างน้อย 5 ตัว ที่เคยอุ้มลูกลิงฮาวเลอร์ถึง 11 ตัวที่ต่างกัน ซึ่งทำให้เรื่องนี้ดูแปลก และน่ากังวลมากยิ่งขึ้น”
จากนั้น ทีมก็พบหลักฐานใหม่จากภาพวิดีโอของพ่อ-แม่ลิงฮาวเลอร์ ส่งเสียงร้องเรียกลูกอย่างโศกเศร้า ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า “ลูกลิงเหล่านั้น ถูกลักพาตัวไปจริง ๆ และไม่ใช่เป็นการ ‘รับเลี้ยง’ อย่างที่คาดไว้ในตอนแรก”
กระแสอันตรายที่น่ากังวล นักวิจัยรู้สึกสับสนกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะลิงคาปูชินเหล่านี้ ไม่ได้กิน หรือ ทำร้ายลูกลิงฮาวเลอร์ และก็ไม่ได้แสดงพฤติกรรมเหมือนกำลังเล่นสนุกกับพวกมันแต่อย่างใด ซึ่งพฤติกรรมทั้งหมดดูเหมือนไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน ทำให้ยิ่งน่าสงสัยว่าเกิดจากอะไร และมีจุดประสงค์อะไรแอบแฝงหรือไม่?
โกลด์สโบโรกล่าวว่า ในที่สุดทีมวิจัยก็เริ่มเข้าใจว่า การลักพาตัวลูกลิงฮาวเลอร์เหล่านี้ อาจเป็น “ธรรมเนียมทางสังคม” หรือ “กระแสสังคมชั่วคราว” ในกลุ่มลิงคาปูชินเพศผู้วัยรุ่นที่อาศัยอยู่บนเกาะ
ด้าน เบรนแดน บาร์เร็ตต์ ผู้ร่วมเขียนงานวิจัย ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกพฤติกรรมของสัตว์ชนิดหนึ่งที่ลักพาตัวลูกของสัตว์อีกชนิดอย่างต่อเนื่อง โดยเกิดจากการเลียนแบบและแพร่กระจายภายในกลุ่มสังคม”
ทว่า! “กระแส” นี้ก็แลกมาด้วยผลร้ายรุนแรง มีลูกลิงฮาวเลอร์อย่างน้อย 4 ตัวที่ถูกพบว่าเสียชีวิต และนักวิจัยเชื่อว่า “ไม่มีลูกลิงตัวใดรอดชีวิตเลย” และสิ่งที่ยังคงเป็นปริศนาคือ “ลิงคาปูชินจัดการลักพาตัวลูกลิงฮาวเลอร์ได้อย่างไร? ทั้งที่มักถูกพ่อ-แม่ปกป้องอย่างใกล้ชิดอยู่เสมอ”
“พวกมันทำได้สำเร็จอย่างเหลือเชื่อ เพราะดูเหมือนแม้แต่ลูกลิงที่เพิ่งคลอดเพียง 1 หรือ 2 วัน ก็ยังถูกดึงตัวออกจากแม่ได้” โกลด์สโบโรกล่าว
สิ่งที่น่าประหลาดยิ่งกว่านั้นคือ ลิงคาปูชินไม่ได้รับบาดเจ็บใด ๆ ทั้งที่ลิงฮาวเลอร์ตัวเต็มวัยมีขนาดใหญ่กว่าถึง 3 เท่า
พฤติกรรมที่เกิดจาก “กระแสทางสังคม” หรือ “วัฒนธรรมชั่วคราว” ในกลุ่มสัตว์นั้น ถือว่าหายากมาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลย
เบรนแดน บาร์เร็ตต์ เคยศึกษาพฤติกรรมคล้ายกันมาแล้วในกลุ่มลิงคาปูชินที่ประเทศคอสตาริกา ซึ่งอยู่ดี ๆ ก็เริ่มนิยมแปรงขนให้กับเม่น แต่ต่อมาก็เลิกพฤติกรรมนั้นไปเพราะดูเหมือนจะ “เบื่อ”
มีการเปิดเผยว่า บนเกาะแห่งนี้ ลิงคาปูชิน ไม่มีศัตรูตามธรรมชาติ และมีอาหารอุดมสมบูรณ์ ทำให้พวกมันมี “เวลาว่าง” มากพอที่จะทดลองสิ่งแปลกใหม่ ทั้งที่มีประโยชน์ และไม่ก็ไม่รู้จุดประสงค์ที่ชัดเจน
การศึกษาครั้งนี้ครอบคลุมเฉพาะเหตุการณ์ลักพาตัวที่บันทึกได้จนถึงเดือนกรกฎาคม 2023 (พ.ศ. 2567) แต่โกลด์สโบโรระบุว่า “หลังจากนั้นยังมีอย่างน้อยอีกหนึ่งกรณีที่เกิดขึ้น แม้ว่าพวกเขาจะยังตรวจสอบวิดีโอทั้งหมดไม่ครบก็ตาม”
จำนวนเหตุการณ์ลักพาตัวที่ลดลง อาจเป็นเพราะจำนวนลูกลิงฮาวเลอร์ในเกาะเริ่มลดน้อยลง โดยลิงฮาวเลอร์บนเกาะนี้ถือเป็นสัตว์ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มใกล้สูญพันธุ์
อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยยังคงวางแผนศึกษาต่อว่า ลิงฮาวเลอร์ ซึ่งโดยปกติแล้วมีนิสัยสงบ จะเริ่มมีพฤติกรรมหวาดกลัว หรืออาจพัฒนาไปถึงขั้นก้าวร้าวต่อกลุ่มลิงคาปูชิน ที่ก่อนหน้านี้เคยอยู่ร่วมกันอย่างไม่มีปัญหาหรือไม่?

ภาพประกอบจาก : Brendan Barrett/Max Planck Institute of Animal Behavior