วันที่ 23 เม.ย. เว็บไซต์ซีเอ็นเอ็นรายงานถึงเรื่องราวของน.ส.ชิโอริ อิโตะ นักข่าวที่กล้าออกมาเปิดเผยประสบการณ์ถูกล่วงละเมิดทางเพศ จุดความเคลื่อนไหว #MeToo จากประเทศสหรัฐอเมริกาให้เกิดในประเทศญี่ปุ่นด้วย ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ผู้หญิงกล้าออกมาเปิดเผยว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศ

น.ส.ชิโอริ อิโตะ นักข่าวกล่าวถึงประสบการณ์ล่วงละเมิดทางเพศว่า นักข่าวที่มีชื่อเสียงรายหนึ่งสนใจการทำงานข่าวของตน จึงเชิญตนไปกินข้าวข้างนอก ขณะอยู่ในสหรัฐอเมริกา แต่ยังไม่ได้ไปกินข้าวกันจนกระทั่งกลับไปกรุงโตเกียวทั้งสองไปกินซูชิด้วยกันที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ต่อมาอิโตะขอตัวไปห้องน้ำซึ่งเป็นสิ่งสุดท้ายที่อิโตะจำได้

“สิ่งสุดท้ายที่ฉันจำได้คืออยู่ในห้องน้ำ พอฉันตื่นขึ้นมาอีกทีด้วยความเจ็บปวดมากและนักข่าวที่มาด้วยกันอยู่บนตัวฉัน เขากำลังข่มขืนฉัน”น.ส.อิโตะกล่าว

“ฉันจำไม่ได้ว่าฉันไปที่นั่นได้อย่างไรและทำไม และฉันไม่เคยเสียความทรงจำแบบนี้มาก่อน” น.ส.อิโตะกล่าว

ส่วนคนที่ถูกอิโตะกล่าวหา ปฏิเสธว่าไม่ได้ทำ ชายคนดังกล่าวไม่เคยถูกจับกุมและคดีถูกยกเลิกไป โดยอัยการอ้างว่าขาดหลักฐาน ทั้งๆ ที่สิ่งที่อิโตะให้การอยู่ในกล้องวงจรปิดเผยภาพอิโตะถูกลากลงจากรกแท็กซี่ขึ้นไปโรงแรม มีผลทดสอบว่าอิโตะหมดสติและดีเอ็นเอจากชุดชั้นในของอิโตะตรงกับผู้ต้องหา

แต่สังคมกำลังเปลี่ยนแปลง กระแส#MeToo ในญี่ปุ่นเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ตัวอย่างซึ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ กับนักการเมืองที่มีชื่อเสียงถูกบีบให้ลาออกเพราะประพฤติผิดศีลธรรมทางเพศ

ตัวอย่างแรก นายจุนอิจิ ฟูคุดะ รมช.กระทรวงการคลังญี่ปุ่น ถูกกล่าวหาว่าคุกคามทางเพศนักข่าว ส่วนตัวอย่างที่สองนายเรียวอิจิ โยเนะยามะ ผู้ว่าการจังหวัดนิงาตะ ถูกกล่าวหาว่าจ่ายเงินซื้อบริการทางเพศนักเรียน

ในปี 2559 สถาบันแรงงานของญี่ปุ่น เผยว่าพนักงานเกือบร้อยละ 34.7 เคยถูกคุกคามทางเพศแต่ร้อยละ 60 ของพนักงานที่เคยถูกคุกคามทางเพศดังกล่าวแค่อดทนอดกลั้นไว้

อิโตะไม่เหมือนกับเหยื่อส่วนใหญ่ที่ถูกละเมิดทางเพศซึ่งเลือกที่จะเงียบ แต่อโตะเลือกจะเปิดเผยต่อสาธารณชน แก่คนทั้งในประเทศรวมถึงโลกเกี่ยวกับการถูกข่มขืน แต่อิโตะกลับถูกคำขู่มากมาย ปฏิกิริยารุนแรงจากโซเชี่ยลมีเดีย ทำให้อิโตะและครอบครัวหวาดกลัว กังวลถึงความปลอดภัย

อิโตะกล่าวว่า ตนเองยังไม่เชื่อว่า ญี่ปุ่นพร้อมสำหรับกระแส #Metoo เนื่องจากยังมีอุปสรรค อาทิ เหยื่อถูกสังคมเพิกเฉยและถูกทำให้ละอาย

เหตุข่มขืนในญี่ปุ่นต่ำอย่างน่าประหลาดใจ ตามตัวเลขของสหประชาชาติในปี 2556 พบว่าในประเทศญี่ปุ่น ใน 1 แสนคน มีคนถูกข่มขืน 1 คน ตรงข้ามกับสหรัฐอเมริกาที่ใน 1 แสนคนมีคนถูกข่มขืน 37 คน แต่ตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มไม่เป็นความจริง เพราะมีเหยื่อแค่ร้อยละ 4 ที่แจ้งตำรวจ ตามตัวเลขรัฐบาลญี่ปุ่น ดังนั้นในความเป็นจริงแล้วตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มสูงกว่ามาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน