กรมธรณีฯ ชี้ปล่องแรกตัน ปล่อง 2 สูง 90 เมตร เตรียมโดรนบินจับสัญญาณความร้อน

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่กรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายทศพร นุชอนงค์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี พร้อมด้วยนายชัยพร ศิริพรไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการประสานงานระหว่างประเทศ ร่วมแถลงข่าวกรณีนักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่า อายุ 11-16 ปี จำนวน 12 คน และโค้ชผู้ฝึกสอน 1 คน อายุ 25 ปี รวม 13 คน เข้าไปเที่ยวภายในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง- ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย แล้วติดอยู่ในถ้ำตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 23 มิ.ย.

นายทศพร กล่าวว่า ขณะนี้กรมทรัพยากรธรณีเปิดศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกรมทรัพยากรธรณีได้จัดทำข้อมูลทางธรณีวิทยาสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะพบทางเข้าถ้ำนอกเหนือจากปากถ้ำ โดยใช้ข้อมูลทางธรณีวิทยาเพื่อหาแนวรอยแตกของถ้ำ ซึ่งพบโพรงหรือช่องเข้าได้อีกทางหนึ่ง เพื่อสนับสนุนทีมค้นหา จุดนั้นจะเรียกว่าถ้ำแห้ง โดยพบตำแหน่ง A คาดว่าเป็นทางเข้าถ้ำอีกทางที่เพิ่งค้นพบใหม่

และตำแหน่ง B คือบริเวณที่จะพบช่องหรือปล่องเข้าสู่ถ้ำที่ทั้ง 13 คนติดอยู่ เป็นจุดตัดระหว่างแนวถ้ำหรือรอยแตกของเขาตำแหน่ง A บริเวณทางออกของถ้ำนี้จะตัดในทางทิศใต้ของปลายถ้ำ มีลักษณะเป็นร่องเขา ส่วนตำแหน่ง B อยู่แนวฝั่งตะวันออกของแนวถ้ำ เป็นผาใกล้เชิงเขา ขณะที่ตำแหน่ง C คือบริเวณทางเข้าถ้ำเดิม อย่างไรก็ตามมีการตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงไม่ใช่วิธีเจาะหรือระเบิดจากด้านบนเข้าไป เรื่องนี้ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากแรงสั่นสะเทือนอาจทำให้เกิดหินถล่มปิดทาง และเป็นอันตรายต่อคนที่อยู่ภายในถ้ำได้

ด้านนายชัยพร กล่าวว่า จุดคาดว่าเป็นทางเข้าใหม่คือจุด A มีระยะห่างทางอากาศจากทางเข้าหลักคือจุด C ประมาณ 4 กม. ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ก่อนหน้านี้เคยพบโพรงที่เป็นทางเข้าถ้ำมาก่อน แต่เมื่อสำรวจพบว่าเป็นทางตัน แต่เมื่อเช้าวันที่ 26 มิ.ย. ได้ค้นพบอีกโพรงหนึ่งบริเวณใกล้เคียงกัน และได้ส่งทีมสำรวจเข้าไปในโพรงดังกล่าวแล้ว คาดว่าโพรงใหม่นี้จะพานักสำรวจไปถึงจุด B หรือพัทยาบีช ที่คาดว่าเป็นจุดที่เด็กๆ อยู่

อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถบอกได้ว่าทางเข้าใหม่จะเชื่อมต่อและนำคณะสำรวจไปถึงจุด B หรือไม่ แต่ระยะทางจากโพรงบริเวณจุด A ที่ค้นพบใหม่กับจุด B ห่างกันเพียง 3 กม. หากเชื่อมต่อกันได้การค้นหาจะสะดวกขึ้น ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับกรณีที่มีคนติดอยู่ในถ้ำต่างประเทศ หรือเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว พบว่าสามารถอยู่ในถ้ำได้นาน 1-2 สัปดาห์หรือเป็นเดือน โดยมีเพียงน้ำ ไม่มีอาหาร

“ปกติของถ้ำหินปูนอาจมีหลุมหรือดินถล่มมาบ้าง ซึ่งเกิดโพรงช่องปรากฏขึ้น โดยสังเกตจากน้ำผุด เพราะจะมีโพรงน้ำเยอะ หากฝนตกหนักจะมีไอน้ำสวนขึ้นมาจากโพรงถ้ำ ซึ่งเราพบ 2 โพรง โพรงแรกเข้าไปได้เพียง 5 เมตรก็ตันแล้ว ส่วนโพรงที่ 2 ถัดจากจุดแรกประมาณ 20 ม. มีลักษณะแคบสามารถเข้าไปได้เพียงทีละคน เราหวังว่าโพรงนี้จะเชื่อมไปถึงบริเวณที่เด็กๆ อยู่ ซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่ที่หาดพัทยา มีระยะทางประมาณ 3 กม.จากปากถ้ำ และเป็นพื้นที่ตลิ่ง เป็นดินเหนียว เป็นบริเวณดินโคลนถล่ม เป็นจุดที่อยู่เหนือน้ำ เพดานถ้ำสูง

“เวลานี้สิ่งที่เป็นกังวลคือเรื่องอากาศหายใจ โดยเฉพาะในช่วงแคบ เพราะจะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง อาจทำให้เด็กๆ หายใจลำบาก และภายในถ้ำไม่มีแสงสว่าง มืดสนิท ส่วนอาหารการกินถือว่ายังโชคดีที่มีน้ำกินแน่ๆ พวกเราหวังว่าเด็กทุกคนจะปลอดภัย” นายชัยพร กล่าว

นายชัยพร กล่าวต่อว่า ในส่วนการสำรวจทางเข้าออกเพิ่มเติม ทางพระจอมเกล้าพระนครเหนือจะนำโดรนติดเครื่องตรวจจับความร้อน ตนแนะนำให้บินสำรวจช่วงกลางคืน เพราะช่วงกลางวันลักษณะอากาศและน้ำภายในถ้ำจะคงที่ อาจสังเกตจุดความร้อนได้ยาก แต่หากตรวจจับความร้อนในช่วงกลางคืน ซึ่งถ้ำจะเริ่มมีความเย็น หากมีไอน้ำหรือจุดความร้อนโผล่ขึ้นมาจากโพรง จะสังเกตได้ง่ายกว่า

ด้านนายสมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า การบินสำรวจนั้น อาจมีอุปสรรคในการมองเห็น เพราะมีต้นไม้ใหญ่จำนวนมาก เราจึงสำรวจภาคพื้นดินเพิ่มเติม เพื่อหวังว่าจะพบทางเข้าออกใหม่อีก เนื่องจากที่ผ่านมานักสำรวจถ้ำแห่งนี้เข้าไปแค่ 6-7 กม.เท่านั้น แต่คาดว่ามีความยาวมากกว่านั้น แต่ยังระบุไม่ได้ว่าถ้ำแห่งนี้มีความยาวเท่าไร ปัจจุบันจึงยังไม่มีแผนที่ถ้ำที่สมบูรณ์จริงๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน