กฤษฎีกาสรุปแก้กฎหมายสงฆ์ ถวายพระราชอำนาจตั้ง “กรรมการมหาเถรสมาคม”

กฤษฎีกาสรุปแก้กฎหมายสงฆ์ ถวายพระราชอำนาจตั้ง “กรรมการมหาเถรสมาคม”

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขร่างพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ที่สำนักงานกฤษฎีกาเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์เสร็จสิ้นแล้วเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ว่า สำนักงานกฤษฎีกาสรุปผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นทั้งสิ้นประมาณ 200 ราย ที่มีทั้งพระสงฆ์ และประชาชนทั่วไป และจากการประมวลดูแล้วความคิดเห็น มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจะปรับแก้โดยดูจากความคิดเห็นของประชาชนด้วย เมื่อถามว่ายังมีพระสงฆ์บางส่วนไม่เห็นด้วย จะทำความเข้าใจหรือไม่ นายสุวพันธุ์กล่าวว่า “เดี๋ยวรอร่างสุดท้ายออกมาเมื่อไหร่ ก็จะชี้แจงทำความเข้าใจ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา www.krisdika.go.th ในการแก้ไขพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 เกี่ยวกับการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) เจ้าคณะใหญ่หนต่างๆ และเจ้าคณะภาค ให้เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ จนถึงวันที่ 27 มิ.ย.

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะสงฆ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ดังนี้

1.ในการจัดทําร่างพ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ) ได้นําข้อมูลดังต่อไปนี้มาใช้ประกอบ การพิจารณา

1.1 ความคิดเห็นของพระภิกษุและประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับหลักการของร่างพ.รบ.ดังกล่าวที่เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของสํานักงาน (www.krisdika.go.th) ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2561 ถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2561 เป็นระยะเวลา 7 วัน และสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้รับหนังสือแสดงความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไป สํานักงาน พระสงฆ์ และองค์กรเครือข่าย
สรุปความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพ.ร.บ.ได้ว่า การแก้ไขกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ โดยการกําหนดให้กรรมการมหาเถรสมาคมที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์จะทําให้ได้มาซึ่งพระภิกษุผู้มีความรู้ มีจริยวัตรที่ดีและมีพรรษาที่เหมาะสมได้เข้ามาปกครองดูแลคณะสงฆ์ ลดการเกิดระบบอุปถัมภ์ในหมู่คณะสงฆ์ อีกทั้งจะทําให้การปกครองคณะสงฆ์เป็นไปอย่างคล่องตัวและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณาอย่างรอบคอบด้วยว่า การบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ เป็นผู้ทรงแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม จะเป็นการเพิ่มพระราชภาระแก่พระมหากษัตริย์โดยไม่สมควรหรือไม่ และต้องระมัดระวังไม่ให้นักการเมืองเข้ามามีอํานาจในการเสนอชื่อ เพื่อแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการมหาเถรสมาคม เนื่องจากนักการเมืองอาจใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง รวมทั้งควรคํานึงถึงหลักพระธรรมวินัยในการแต่งตั้งพระภิกษุผ้มีพรรษาน้อย หรือลําดับชั้นของสมณศักดิ์ที่จะได้รับการแต่งตั้งให้มาทําหน้าที่ในการปกครองดูแลคณะสงฆ์

1.2 ในการตรวจพิจารณาร่างพ.ร.บ.คณะสงฆ์ของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้รับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้แทนสมเด็จพระสังฆราช ผู้แทนมหาเถรสมาคม รมต.ประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ) และ ผอ.สํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในการแก้ไขเพิ่มเติมร่างดังกล่าว เพื่อนํามาประกอบการพิจารณา

2.สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้นําความเห็นที่ได้รับทั้งหมดมาประกอบการพิจารณาสรุปสาระสําคัญได้ดังนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า บทบัญญัติที่กําหนดให้พระมหากษัตริย์ มีพระราชอํานาจในการแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ รวมถึงการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการมหาเถรสมาคม นั้นเป็นพระราชอํานาจมาแต่โบราณกาลตามโบราณราชประเพณี ซึ่งรัฐธรรมนูญตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันก็ได้บัญญัติรับรองไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก จึงเป็นพระราชอํานาจที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ มิใช่พระราชภาระที่กําหนดขึ้นเพิ่มเติมแต่ประการใด ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) จึงได้แก้ไขถ้อยคําให้เหมาะสมยิ่งขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามความมุ่งหมายดังกล่าว

สําหรับความคิดเห็นของพระภิกษุและประชาชนทั่วไปที่ให้ความเห็นว่า ไม่ควรให้นักการเมืองมีอํานาจในการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม เนื่องจากนักการเมืองอาจใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง นั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) พิจารณาแล้ว เห็นว่า การที่กําหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ นั้น เป็นบทบัญญัติที่จะต้องกําหนดขึ้นในกรณีที่พระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการ ซึ่งจําเป็นต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเช่นเดียวกับกฎหมายทั่วไปที่ได้กําหนดให้มีบทบัญญัติในลักษณะเดียวกันนี้เช่นกัน

มส สงฆ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน