บิ๊กเจี๊ยบ ชี้ นำทีมหมู่ป่า ออกจากถ้ำหลวงทางน้ำ ต้องมั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ ยัน กำลังพลพร้อม รอเช็กสภาพร่างกาย-จิตใจ 13 ชีวิต เผย การดำน้ำ มีความเสี่ยง เสียใจ ‘อดีตซีล’ เสียชีวิตขณะปฏิบัติภารกิจ

จากกรณีการระดมค้นหานักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่าอคาเดมี 12 คน และผู้ฝึกสอนอีก 1 คน รวม 13 ชีวิต ที่สูญหายไปขณะเข้าไปเที่ยวภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. กระทั่งเจ้าหน้าที่หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ หรือหน่วยซีล ได้ค้นหาและให้การช่วยเหลือได้เมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา

บิ๊กเจี๊ยบ / เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสารท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวภายหลังการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก (นขต.ทบ.) ว่า ได้เน้นย้ำให้มีการปรับกำลังในการช่วยเหลือการปฏิบัติงานในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ของ13 ชีวิตทีมหมูป่าอะคาเดมี ขณะนี้กำลังพลที่ส่งเข้าไปสนับสนุนถือว่าเพียงพอแล้ว

พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ในส่วนของกองทัพบก มีกำลังพลกว่า 1,200 คน แบ่งการปฏิบัติงานเป็น 3 ส่วน คือ 1.ปฏิบัติงานภายในถ้ำหลวง ช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องการลำเรียง ขนย้ายทุกอย่าง ร่วมกับหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ (นสร.) หรือหน่วยซีล 2.สนับสนุนการระบายน้ำพื้นที่รอบถ้ำ และเบี่ยงทางน้ำ และ 3.ปฏิบัติงานในพื้นที่บนเขาและยังคงปฏิบัติภารกิจ ร่วมกับกรมป่าไม่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งนี้ ตนได้สั่งการเพิ่มเติมในเรื่องการผลัดเปลี่ยนกำลังเพื่อหมุนเวียนกำลังพลชุดใหม่เข้าไปทดแทนกำลังพลที่อ่อนล้าจากการทำงาน ส่วนใหญ่เป็นกำลังพลระดับล่างที่ใช้แรงงาน

พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า สำหรับแนวทางการนำเด็กและโค้ช 13 คน ออกมาจากถ้ำทางน้ำนั้น ต้องมีสิ่งประกอบหลายๆอย่าง ที่จะทำให้เรามั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ ว่าจะประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย 1.ความพร้อมของเจ้าหน้าที่ ทั้งหน่วยซีล และหน่วยสนับสนุน ยุทโธปกรณ์ ตนคิดว่ามีความพร้อมพอสมควร อาจจะขาดอุปกรณ์พิเศษบางอย่าง แต่คนพร้อมแล้ว

ผบ.ทบ. กล่าวต่อว่า 2.ตัวน้องๆทั้ง 13 คน จะต้องพิจารณาใน 3 ส่วน คือ 1.ร่างก่าย ที่จะต้องได้รับการฟื้นฟู ให้แข็งแรงเหมือนเดิม หรือใกล้เคียงของเดิม ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะต้องใช้เวลา 5 ชั่วโมงในการเดินทางออกมา 2.ขีดความสามารถทางน้ำ และการใช้เครื่องมือ ซึ่งจำเป็นต้องเรียนรู้พอสมความ และ 3.ความพร้อมของจิตใจ เพราะการดำน้ำสภาพจิตใจสำคัญที่สุด ต้องนิ่ง และควบคุมสติได้ โดยเฉพาะการดำน้ำในถ้ำที่มีพื้นที่แคบ และมองไม่เห็น

พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ซึ่งตนทราบว่าในบางช่วงของการเดินทางทางน้ำน้องๆต้องดูแลตัวเองด้วย 3.สภาวะแวดล้อมแบ่งเป็น 2 ประการ คือปริมาณน้ำ และอากาศ ขณะนี้ทราบว่าหน่วยในพื้นที่พยายามทุกทางเพื่อจะเติมอากาศเข้าไปและลดปริมาณน้ำในถ้ำ

พล.อ.เฉลิมชัย ยังกล่าวถึงกรณีอดีตหน่วยซีลเสียชีวิตขณะปฏิบัติงานว่า การดำน้ำถือเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตราย การยึดถือกฎนิรภัยเป็นเรื่องสำคัญ แต่ตนไม่ทราบข้อมูลในขณะนั้น ยืนยันได้ว่าทุกคนที่เข้าไปมีความรู้ความสามารถ แต่เราไม่รู้สถานการณ์ในขณะนั้น ว่าอะไรทำให้เกิดความพลาดพลั้ง

“เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ เขาทุ่มเททั้งชีวิต สำหรับการทำงานครั้งนี้ และเป็นเพียงอดีตข้าราชการที่มีจิตอาสาเข้ามาช่วย การทำงานในภารกิจซ้ำๆ คนน้อย พื้นที่ห่างไกล เวลาพักผ่อนน้อย และสภาวะภายในถ้ำ ไม่ได้อยู่สบาย หลับนอนไม่สมบูรณ์ อาจจะส่งผลโดยที่ตัวเองไม่รู้ตัว” พล.อ.เฉลิมชัย กล่าว

ผบ.ทบ. กล่าวว่า ตนได้ฝากเน้นย้ำไปยังกำลังพล เพียงแต่บางครั้ง ใจอยากจะช่วย และคิดว่าไหว ต้องเข้าใจอะไรจะเกิด ก็ต้องเกิด เราทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ส่วนความหวังที่จะนำน้องๆออกจากถ้ำโดยเร็วที่สุดนั้น เชื่อว่าจะทำได้ ทุกภาคส่วนช่วยเหลือกันเต็มที่ ถือเป็นสิ่งดีๆที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม

“เป็นเรื่องที่ตอบอยาก ว่าควรนำเด็กและโค้ช ออกทางน้ำ หรือทางโพรงถ้ำ เพราะทั้ง 2 ทาง มีทั้งข้อดีและข้อเสีย การเข้าทางโพรงถ้ำ ถ้าเราทำได้เป็นเรื่องที่ดี แต่ดูจากพื้นฐานก็ยากพอสมควร ทั้งความลึก และเครื่องมือที่จะต้องทำในเวลาจำกัด ส่วนการออกทางน้ำก็จะมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากมาย ให้หน้างานเป็นผู้ตัดสินใจ เพราะเป็นผู้ประเมินสถานการณ์ได้ดีที่สุด” พล.อ.เฉลิมชัย กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน