เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 8 ธ.ค. ที่ศูนย์บริการร่วม กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ทนายความและประธานเครือข่ายต่อต้านการบ่อนทำลาย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พร้อมด้วยนางวิกุล โพธิ์ชัย ชาวจังหวัดมุกดาหาร เข้าพบนายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรมและโฆษกกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอความเป็นธรรมกรณีนายชวนณรงค์ คำปาน สามี ถูกหลอกให้รับผิดในคดีครอบครองไม้พะยูง โดยได้ค่าจ้าง 200,000 บาท เพื่อแลกกับการเป็นผู้ต้องหารับสารภาพ และขอให้ดำเนินคดีนายชวนณรงค์ตามความเป็นจริง ในฐานแจ้งความเท็จและความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงให้รื้อฟื้นคดีไม้เถื่อนรายใหญ่ของประเทศ โดยขอให้ยธ. และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากผู้ต้องหาทั้งหมดเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ และเป็นผู้กว้างขวาง

201612081329062-20150129150635

นายสงกานต์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากนายชวนณรงค์ถูกดาบตำรวจ ชื่อเล่น “ยาว” หลอกลวงให้ไปรับจ้างติดคุกแทนนายทุนคดีตั้งโรงงานแปรรูปไม้เถื่อนรายใหญ่ โดยให้แสดงตัวเป็นเจ้าของไม้แปรรูปดังกล่าว ซึ่งดาบตำรวจแจ้งว่าว่าติดคุกเล็กน้อย เพราะนายชวนณรงค์ไม่เคยทำผิดมาก่อน โดยว่าจ้างเป็นเงิน 200,000 บาท ซึ่งจ่ายเงินแล้ว 100,000 บาท ส่วนที่เหลือจะทยอยให้ โดยหวังว่าจะนำเงินดังกล่าวมารักษาอาการป่วยด้วยโรคประจำของทั้งสองคน

แต่ปรากฎว่าเมื่อนำตัวส่งฟ้องศาล จึงทราบความจริงว่าเป็นโรงงานไม้แปรรูปขนาดใหญ่ มีทั้งไม้พะยูง และไม้มะค่า รวมกว่า 800 ท่อน มีมูลค่ามหาศาล อีกทั้งโรงงานไม้แปรรูปดังกล่าว ยังเคยถูกจับกุมเมื่อปี 2557 ด้วย ซึ่งเป็นข่าวใหญ่ ดังนั้น จึงทำให้นายชวนณรงค์ทราบว่าถูกดาบตำรวจหลอกและไม่ใช่เรื่องเล็กแล้ว ซึ่งคดีนี้ศาลพิพากษาจำคุก 8 ปี 6 เดือน ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพจึงลดโทษลงเหลือ 4 ปี 3 เดือน โดยขณะนี้นายชวนณรงค์ติดคุกอยู่ในเรือนจำมุกดาหารมาแล้ว 5 เดือน

นายสงกานต์ กล่าวต่อว่า หลังจากทราบว่านายชวนณรงค์ถูกหลอก นางวิกุลจึงเดินทางไปยื่นเรื่องร้องเรียนยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย (มท.) และผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า เพราะมีรายละเอียดจำนวนมาก อีกทั้ง คดีอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดเรื่องดังกล่าว ศาลจังหวัดมุกดาหารก็ได้เรียกนายชวนณรงค์มาไต่สวนเบื้องต้นว่าเป็นอย่างไร ดังนั้น กรณีนี้จึงมีด้วยกัน 3 ส่วน คือ 1.ผู้กระทำความผิดตัวจริง 2.ผู้ใช้จ้างวานให้สามีของนางวิกุลมารับผิด และ 3.สามีของนางวิกุลที่จะต้องถูกดำเนินคดีด้วย จึงเดินทางมาร้องขอความเป็นธรรมต่อนายธวัชชัย เพื่อให้สั่งให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าว

“ในวันนี้ป้ากับลุงบอกเสมอว่ายอมรับผิด และยอมรับโทษทางอาญาในเรื่องของการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน แจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานให้จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการหรือมหาชน และเบิกความเท็จในเรื่องของการพิจารณาคดีอาญา ซึ่งโทษสูงสุดจำคุก 7 ปี ปรับไม่เกิน 14,000 บาท ก็คงเป็นดุลยพินิจของศาล ไม่ใช่ว่ามารับสารภาพแล้วจะไม่ถูกดำเนินคดี” นายสงกานต์ กล่าวและว่า กระบวนการหลังจากนี้ เราจะต้องร้องทุกข์กล่าวโทษไว้ หากผู้ใดเป็นผู้จ้างงาน หรือนายทุนโรงงานไม้แปรรูปตัวจริง ก็จะได้ดำเนินคดีได้ เพราะเป็นความผิดที่ไม่อาจยอมความได้ ทั้งนี้ เรามีหลักฐานการโอนเงินอยู่ด้วย และภรรยาของดาบตำรวจยังมีการโทรศัพท์มาข่มขู่นางวิกุลด้วย

ด้าน นายธวัชชัย กล่าวว่า เรื่องของการรับจ้างติดคุกเราได้ยินอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ไม่มีพยานหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่ามีการรับจ้างติดคุกจริง ซึ่งถือเป็นกรณีแรกที่เจ้าตัวออกมายอมรับความจริง ส่วนประเด็นที่ ยธ. จะเข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องนี้คือจะให้ดีเอสไอรับไปตรวจสอบรายละเอียดว่า จะสามารถดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหน

นอกจากนี้ จะดูเรื่องของเงินค่าจ้างทนายความไปช่วยเหลือในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม นายชวนณรงค์จะต้องถูกดำเนินคดีด้วยแน่นอน ทั้งในเรื่องการแจ้งความเท็จและเบิกความอันเท็จในคดีอาญา ซึ่งมีโทษจำคุก 7 ปี ปรับไม่เกิน 14,000 บาท หากยอมรับก็ลดโทษกึ่งหนึ่ง ก็อยู่ที่ศาลจะใช้ดุลยพินิจอย่างไร

รองปลัดยธ. กล่าวต่อว่า สถาบันศาลเป็นสิ่งที่น่าเห็นใจมาก เพราะอยู่ดีๆจำเลยรับสารภาพ แน่นอนไม่มีการต่อสู้ในกระบวนการไต่สวนหรือสืบพยานจะไม่มีอยู่แล้ว ก็สามารถตัดสินได้เลย แต่กระบวนการแบบนี้มันทำให้กระบวนการยุติธรรมเสียหายมาก ดังนั้น ตนเห็นว่ากระบวนการที่ทำให้เกิดความเสียหายคือกระบวนการตั้งต้น

ปัญหาในขณะนี้การปฏิรูปกระบวนยุติธรรมเรื่องใหญ่ คือการแยกพนักงานสืบสวนกับสอบสวนออกจากกัน เพราะถ้าเราแยกสืบสวนกับสอบสวนออกจากกัน มันจะไม่สามารถไปก้าวก่ายกันได้ สั่งคดีไม่ได้ จึงถือว่าการสั่งรวมแบบนี้เป็นการถอยหลังมา 30 ปีในกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำขณะนี้ เรื่องการปฏิรูปตำรวจเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ และได้ให้ข้อสังเกตเรื่องนี้ไปแล้วหลายเรื่อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน