เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินผ่านนายธาวิน อินทรจำนงค์ รองเลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ตรวจสอบการกระทำเข้าข่ายผิดประมวลจริยธรรมของข้าราชการตำรวจ และข้าราชการการเมืองของพล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น. และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กรณีปรากฎข้อมูลในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน ที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า มีรายได้จากการเป็นที่ปรึกษาบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2558 ได้เงินเดือนๆละ 50,000 บาท

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวขัดต่อประมวลประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และประมวลจริยธรรมข้าราชการตำรวจ ข้อ 12 (1)-(6) ที่ระบุว่า ข้าราชการตำรวจต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต ยึดมั่นในศีลธรรม ยึดประโยชน์ส่วนรวมเหนือประโยชน์ส่วนตัว ไม่ใช้เวลาราชการหรือทรัพย์ราชการเพื่อธุรกิจหรือประโยชน์ส่วนตน ไม่ประกอบอาชีพเสริมที่มีลักษณะเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน หรือขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตน เนื่องจากบริษัทไทยเบฟฯดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ต้องถูกควบคุมตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งพล.ต.ท.ศานิตย์ เป็นข้าราชการตำรวจ เป็นคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานคร

กรณีดังกล่าวจึงเข้าข่ายผลประโยชน์ขัดกัน นอกจากนี้ ยังพบว่าการเป็นที่ปรึกษาดังกล่าวยังเข้าข่ายผิดพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยป.ป.ช. มาตรา 100(4) ที่ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนได้เสียเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน หรือลูกจ้างในธุรกิจเอกชนที่อยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของหน่วยงานรัฐที่เจ้าหน้าที่รัฐผู้นั้นสังกัดอยู่ และมาตรา 103 ที่ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่รัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลนอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมายด้วย

“ด้วยสปิริตของพล.ต.ท.ศานิตย์ ควรลาออกจาก ผบช.น. ไปเป็นตำรวจธรรมดาเหมือนเดิม และควรลาออกจากสนช.ด้วย เพื่อรักษาสถาบันตำรวจไว้ให้คงอยู่ต่อไป และผู้ตรวจฯ ควรจะไปตรวจสอบเพิ่มเติมด้วยว่าบริษัทดังกล่าวได้จ้างข้าราชการอื่นไปเป็นที่ปรึกษา เพื่อประโยชน์ของกิจการอีกหรือไม่ เพื่อสร้างความโปร่งใสให้กับวงราชการด้วย” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าว

ด้านนายธาวิน อินทร์จำนง รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องมีการตรวจสอบตามขั้นตอนต่อไป ทั้งในเรื่องจริยธรรม และการปฏิบัติตามกฎหมายหรือละเลยการปฏิบัติตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ให้อำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินดูแล เรื่องประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ เรื่องนี้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะพิจารณาและตรวจสอบต่อไป คาดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินการไม่นาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน