เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพฯ นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อมด้วยนางชฎาพร รักษาทรัพย์ ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลาง และนายกิตติพัฒน์ เดชะพหุล ผู้อำนวยการทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง นำสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการรักษาความปลอดภัย เพื่อตรวจสอบการลักลอบนำสิ่งของต้องห้ามเข้าภายในทัณฑสถานหญิงเป็นครั้งแรก เพื่อลดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในผู้ต้องขัง

201612141420544-20150129150635

นายกอบเกียรติ กล่าวว่า สำหรับที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ถือเป็นครั้งแรกที่ติดตั้งเครื่องตรวจค้นบุคคลและสิ่งของแบบเอกซเรย์ หรือบอดี้สแกนมาใช้ เพื่อป้องกันการลักลอบนำสิ่งของต้องห้ามเข้ามาภายในเรือนจำ ซึ่งเป็นเครื่องตรวจร่างกายแบบประสิทธิภาพสูง สามารถตรวจได้อย่างละเอียด รวมถึงภายในจุดซ่อนเร้นของอวัยวะด้วย ซึ่งเป็นเครื่องลักษณะเดียวกับเครื่องบอดี้สแกนที่ติดตั้งในสนามบิน อีกทั้ง ปัจจุบันเรือนจำมักมีปัญหาการร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยนชนในผู้ต้องขังหญิง ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม

201612141420543-20150129150635

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวต่อว่า ดังนั้น เพื่อการลดปัญหาดังกล่าว จึงนำเครื่องบอดี้สแกนมาติดตั้ง เพื่อลดปัญหาการถูกร้องเรียน ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรือนจำต้นแบบแห่งแรกสำหรับผู้ต้องขังหญิง ทั้งนี้ เรามีคู่มือปฏิบัติเป็นแนวทางชัดเจน ทั้งการตรวจค้นแบบปกติและแบบพิเศษ สำหรับการตรวจผู้ต้องขังเข้าใหม่และเก่า ซึ่งเครื่องเอกซเรย์ดังกล่าวจะสามารถลดปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิในผู้ต้องขังหญิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

201612141333084-20150129150635

ทั้งนี้ ปัจจุบันเรามีการติดตั้งเครื่องบอดี้สแกนแล้ว 11 เครื่อง และในปี 2560 จะเร่งดำเนินการติดตั้งอีก 5 เครื่อง เพื่อแก้ปัญหาในการตรวจค้นผู้ต้องขัง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่จำเป็น นอกจากเครื่องบอดี้สแกนแล้ว เรายังต้องใช้งานด้านการข่าวเพื่อช่วยในการตรวจสอบผู้ต้องขังอีกด้วย

201612141420542-20150129150635

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเยี่ยมชมดังกล่าวนายกอบเกียรติพาสื่อมวลชนชมวิธีการรับตัวผู้ต้องขังหญิงในทุกขั้นตอน รวมทั้งขั้นตอนการใช้เครื่องบอดี้สแกนตรวจร่างกายผู้ต้องขังหญิงด้วย เพื่อให้สังคมภายนอกได้รับทราบข้อเท็จจริง และมีความเข้าใจการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงอย่างถูกต้อง และชัดเจนมากยิ่งขึ้น เครื่องดังกล่าวสามารถตรวจเห็นสิ่งของต้องห้ามในร่างกายได้อย่างชัดเจน และภาพก็มีความละเอียดสูง จะแสดงสิ่งผิดปกติในร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า

201612141333082-20150129150635

ด้าน นางชฎาพร กล่าวว่า หลังจากที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการตรวจค้นผู้ต้องขังหญิงก่อนหน้านี้ เรายกเลิกการตรวจค้นภายในร่างกายทั้งหมด เพราะเกรงว่าจะมีปัญหา แต่เมื่อมีการยกเลิก วันต่อมาก็มีผู้ต้องขังหญิงนำยาเสพติด 300 เม็ด เข้ามาภายในทัณฑสถานทันที หลังจากนั้น ก็มีการนำสิ่งของต้องห้ามเข้ามาอยู่ตลอด ทางเราก็ต้องระมัดระวังมากยิ่งขึ้น เพราะไม่กล้าที่จะไปตรวจภายในร่างกายผู้ต้องขัง เราก็ต้องหาวิธีการอื่นมาใช้ตรวจค้น แต่หลังจากที่เรานำเครื่องบอดี้สแกนมาติดตั้ง เพื่อใช้ในการตรวจร่างกายผู้ต้องขังหญิง เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา ตรวจพบเพียงการลักลอบนำเงินสดเข้ามาภายในทัณฑสถานเท่านั้น ส่วนสิ่งของต้องห้ามอื่นๆยังไม่พบ

“ปัจจุบันทัณฑสถานหญิงกลาง มีทั้งผู้ต้องขังระหว่างและเด็ดขาด รวม 4,825 คน แบ่งเป็นผู้ต้องขังในคดียาเสพติด 3,676 คน ที่เหลือเป็นผู้ต้องขังในคดีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ เพศ และอื่นๆ ซึ่งทัณฑสถานหญิงกลาง มีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ข้าราชการเพียง 162 คน เป็นผู้ชาย 5 คน อีกทั้ง ยังเป็นเรือนจำที่มีพื้นที่เพียง 17 ไร่ จึงค่อนข้างคับแคบ แต่มีจำนวนผู้ต้องขังมาก โดยภายในเราไม่ได้มีการแบ่งแดนเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน แต่มีเรือนนอน 9 เรือนนอน แบ่งเป็นเรือนนอนแดนแรกรับ 3 เรือนนอน และเรือนนอนปกติ 6 เรือนนอน นอกจากนี้ ยังมีเรือนพยาบาลและห้องสมุดพร้อมปัญญาด้วย เพื่อเอาไว้ให้ผู้ต้องขังได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ รวมถึงศูนย์ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังพิการ และการฝึกอาชีพต่างๆ” ผอ.ทัณฑสถานหญิงกลาง กล่าว

นางชฎาพร กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ เรายังมีงานพิเศษของทางทัณฑสถานหญิงกลาง ที่ไม่เหมือนกับที่อื่น คือที่นี่มีเด็กติดมารดา 26 คน ซึ่งในช่วงเวลากลางวันจะเหมือนสถานรับเลี้ยงเด็ก ซึ่งจะมีผู้ต้องขังที่ได้รับการฝึกอบรมจากสภากาชาดไทยมาคอยเลี้ยงดู และให้แม่มาให้นมเป็นเวลา จากนั้น ก็ให้ไปฝึกอาชีพตามปกติ และในช่วงเย็นแม่ก็จะมารับเข้าที่พักต่อไป หากเด็กมีอาการป่วยก็จะมีการนำผู้คุมออกไปด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน