เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่รัฐสภา เครือข่ายพลเมืองเน็ต ร่วมกับ แอมเนสตี้ นำโดย น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล ผู้ก่อตั้งและกรรมการบริหารเครือข่ายพลเมืองเน็ต เข้ายื่นหนังสือพร้อมรายชื่อประชาชนกว่า 3 แสนรายชื่อต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อขอสมาชิกสนช. ที่จะพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่) พ.ศ… ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม สนช.วาระ 2 และ 3 ในวันที่ 16 ธ.ค.นี้ ผ่านนางวรารัตน์ อติแพทย์ เลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สนช.

น.ส.สฤณี กล่าวว่า ต้องการให้สนช.ไม่รับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากทางเครือข่ายต้องการให้ชะลอการออกกฎหมายออกไป เพราะเนื้อหาในร่างยังไม่มีความชัดเจน ควรดำเนินการทบทวนและแก้ไขในมาตราที่จะกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเห็นสมควรให้พิจาณาแก้ไขร่างมาตรา 14 ให้มีความรัดกุมชัดเจน รวมทั้งแก้ไขร่างมาตรา 15, 18 ประกอบ 19, 20 และ 26 ที่ต้องคำนึงถึงสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวและสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน และให้การออกมาตรการเพิ่มเติมใดๆ ที่จะกระทบสิทธิเสรีภาพโดยทั่วไปของประชาชนจะต้องผ่านกระบวนการการพิจารณาของรัฐสภาเท่านั้น และพิจารณาตัดมาตรา 16/2 และ 20/1 ออกจากร่างพ.ร.บ.โดยเฉพาะการออกมาตราใหม่ในการตั้งศูนย์บล็อกเว็บไซต์ เป็นการให้อำนาจรัฐโดยตรง ทำให้มีลักษณะปิดกั้นประชาชน โดยเฉพาะข้อบัญญัติที่ระบุว่าพนักงาน เจ้าหน้าที่ จะสามารถปิดกั้นข้อมูลที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี แม้จะไม่ผิดกฎหมายก็ตาม

น.ส.สฤณี กล่าวต่อว่า เห็นว่าร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจะสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น หากการแก้ไขจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของไทยที่ได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หากร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านการพิจารณาผ่านออกมาเป็นกฎหมาย อาจเปิดช่องให้เกิดการตีความ และสามารถถูกนำไปบังคับใช้ในทางละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้ อาทิ ความผิดฐานหมิ่นประมาท ไม่ควรถูกบรรจุในมาตรา 14 ความผิดฐานเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟ้องหมิ่นประมาท ส่วนมาตรา 14 (1) จะพบว่า ต้นแบบของมาตรานี้ ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับการหมิ่นประมาทที่เกิดขึ้นบนอินเตอร์เน็ตแต่อย่างใด แต่เจตนารมณ์ของมาตรานี้คือ มุ่งที่จะเอาผิดเรื่องการทำเว็บไซต์หรือข้อมูลปลอมตัวตนทางออนไลน์ เพื่อนำไปหลอกเอาทรัพย์สินหรือข้อมูลส่วนบุคคลจากเหยื่อ แม้กรรมาธิการฯจะแก้ไขแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจน บางถ้อยคำยังมีปัญหาในการตีความ ซึ่งอาจเกิดปัญหาภายหลัง จนทำให้ถูกตีความให้เกิดการกลั่นแกล้ง และคุกคามสิทธิส่วนบุคคลได้

“นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการปิดเว็บไซด์ที่ภาครัฐสามารถเข้ากระทำได้เลย ซึ่งไม่ต้องรอคำสั่งของศาล ดังนั้นจึงอยากให้สนช.ทบทวนเนื้อหา ด้วยการฟังเสียงประชาชน แต่หากสนช.ยืนยัน ผ่านร่างกฎหมายนี้ ก็จะติดตามต่อไป และขอให้รัฐบาลถัดไปแก้ไขเนื้อหาให้เหมาะสม ขณะเดียวทางกลุ่มจะติดตามการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ที่กำลังอยู่ในชั้นการพิจารณาของกฤษฎีกา หากมีเนื้อหาไม่เหมาะสมก็จะคัดค้านอีก”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน