รฟม.เต้น สั่งสอบด่วน หลังมีข้อร้องเรียน ลักดินสร้างรถไฟฟ้า ขนถมที่เอกชน ชี้ดินดังกล่าวเป็นของกทม. ผู้รับเหมาต้องขนไปทิ้งในที่ซึ่งระบุไว้ในสัญญา

จากกรณีเมื่อ วันที่ 24 ส.ค. พล.ต.ต.สมพงษ์ ชิงดวง รอง ผบช.น. สั่งการให้ พล.ต.ต.เอกชัย บุญวิสุทธิ์ ผบก.น.2 ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

รฟม.เต้น / ตามหนังสือบช.น.ที่ 0015.(สง.น.5)/101 ลงวันที่ 5 ก.ค. 2561 เรื่องให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีมีผู้ทำหนังสือร้องเรียนฉบับลงวันที่ 9 ม.ค. 2561 ขอให้ตรวจสอบการขุดเจาะดินและบรรทุกขนดิน ที่ได้จากการขุดสร้างอุโมงค์ เพื่อก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดและรถไฟฟ้า บริเวณสี่แยกรัชโยธิน ถนนรัชดาภิเษก แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

และขนดินที่ได้จากการขุดเจาะไปเทไว้บริเวณริมทางรถไฟ ใต้ทางด่วนกำแพงเพชร 2 ซึ่งเป็นที่ดินเอกชน รวมถึงบริเวณจุดที่ก่อสร้างหมู่บ้านแห่งหนึ่งริมถนนพหลโยธิน-วัชรพล และมีการนำดินที่ได้จากการขุดดังกล่าวไปลักลอบจำหน่าย ตามที่เป็นข่าวไปแล้ว อ่านข่าว : ลักดินสร้างรถไฟฟ้า ขนถมที่เอกชน รูปหลักฐานชัด

ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ส.ค. รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดเผยถึงจากกรณีดังกล่าวว่า มีผู้ร้องเรียน ว่าพบการลักลอบนำดินที่ขุดได้จากการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแยก
รัชโยธิน ไปถมในพื้นที่ของเอกชน ซึ่งดินดังกล่าวถือว่าเป็นทรัพย์สินของทางราชการนั้น

รฟม.ได้รับมอบพื้นที่จากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแยกรัชโยธิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และ รฟม. ได้ส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวให้ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาสัญญาที่ 1 (บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง

โดยมีแนวทางการบริหารจัดการดิน ตามสัญญางานก่อสร้างโครงการฯ และข้อตกลงเงื่อนไขการอนุญาตให้เข้าพื้นที่ก่อสร้างฯ ของกทม. ทั้งนี้ดินที่ขุดได้จากพื้นที่ก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแยกรัชโยธิน ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของกทม. และผู้รับจ้างฯมีภาระหน้าที่ตามสัญญาฯในการขนย้ายดินดังกล่าว ออกไปถมในพื้นที่ที่กทม.กำหนด

โดยรฟม.และที่ปรึกษาบริหารโครงการและควบคุมการก่อสร้างงานโยธา (ที่ปรึกษาควบคุมงาน PCGRN) ได้มีการสุ่มตรวจสอบการดำเนินการขนย้ายดิน และจัดทำรายงานสรุปการขนย้ายดินเป็นระยะๆ ทั้งนี้เมื่อดำเนินการขนย้ายดินจนครบถ้วนแล้วเสร็จตามจำนวนที่ระบุ

รฟม.จะมีการตรวจสอบปริมาณดินที่นำไปถมในพื้นที่ที่กทม. กำหนด เปรียบเทียบกับปริมาณดินที่ขุดออกจากพื้นที่ก่อสร้างอีกครั้ง หากพบข้อมูลว่ามีปริมาณไม่เท่ากัน แสดงว่ามีการลักลอบนำดินที่ขุดไปไว้ในบริเวณอื่นที่มิใช่พื้นที่ที่กทม.กำหนด

รฟม.จะดำเนินการกับผู้รับจ้าง และผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ตาม รฟม. ได้เร่งรัดให้ที่ปรึกษาควบคุมงาน PCGRN ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และรายงานผลต่อ รฟม. โดยเร็วแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน