เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 22 ธ.ค. ที่อาคารมติชนอคาเดมี สโมสรศิลปวัฒนธรรมและสำนักพิมพ์มติชน จัดเสวนาเรื่อง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 กับปัญหาเอกราชสยาม โดยมีนายไกรฤกษ์ นานา นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ เป็นวิทยากรทำหน้าที่บรรยาย โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

dsc_5146

นายไกรฤกษ์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างสยามกับฝรั่งเศสในช่วง พ.ศ.2429 หรือที่เรียกกันว่า เหตุการณ์ รศ.112 มีความสำคัญต่อการรับรู้ของคนไทยปัจจุบัน ในประเด็นเรื่องเอกราช ซึ่งขณะเดียวกันก็ครบรอบ 120 ปี แห่งข้อตกลงที่ทำให้สยามกลายเป็นรัฐกันชน ในปี พ.ศ.2439 ซึ่งอังกฤษกับฝรั่งเศสได้ทำข้อตกลงเรื่องแผ่นดินสยามด้วย จากการค้นคว้าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เกิดข้อสงสัยว่า ที่ผ่านมาทำไมคนไทยถูกปิดบังในเรื่องรัฐกันชน

dsc_5187

นายไกรฤกษ์ กล่าวต่อว่า ประเด็นเรื่องรัฐกันชนเกิดมาจาก ประเด็นต่อไปนี้ 1.ก่อนเหตุการณ์ รศ.112 อังกฤษมีผลประโยชน์อยู่ในสยามถึง 90 เปอร์เซ็นต์มานานกว่า 10 ปี เมื่อฝรั่งเศสเข้ามายังพื้นที่อินโดจีน ด้วยเหตุผลว่าต้องหาเงินค่าปฏิกรรมสงคราม ส่วนอังกฤษก็ไม่อยากสู้กับฝรั่งเศสนอกทวีป ซึ่งต่อสู้กันมาตั้งแต่สมัยนโปเลียน 2.นโยบายล่าอาณานิคมของฝรั่งเศสก้าวร้าว ทำให้อังกฤษทนไม่ได้ต้องรีบดำเนินการ 3.กรณีที่ฝรั่งเศสได้ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ปิดโอกาสให้อังกฤษเข้าถึงเมืองยูนาน ประเทศจีน เพราะอังกฤษมีนโยบายจะสร้างรถไฟจากพม่าผ่านสยามไปเมืองคุนหมิง 4.อังกฤษคิดว่าหากไทยกับฝรั่งเศสจับมือกัน อาจจะมีการจะขุดคอคอดกระ ซึ่งจะทำให้อังกฤษเสียอำนาจในดินแดนมลายู 5.กังวลมหาอำนาจที่ 3 อาทิ เยอรมัน รัสเซีย

dsc_5137

นักประวัติศาสตร์ กล่าวต่อว่า หลังเหตุการณ์ รศ.112 อังกฤษไม่พอใจ ทนดูไม่ได้ที่สยามเสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส และไม่เห็นท่าทีการตื่นตัวของสยามด้วย เพราะส่วนหนึ่งสยามคิดว่าอังกฤษจะช่วยรบกับฝรั่งเศส จนกระทั่งอังกฤษรอสยามไม่ไหว วันที่ 15 ม.ค. ค.ศ.1896 หรือ รศ.114 ทั้งสองประเทศเปิดโต๊ะเจรจากันที่กรุงลอนดอน การเจรจาตกลงกันได้ว่าจะเว้นดินแดนที่ปลูกข้าวอันอุดมสมบูรณ์ไว้ แล้วพื้นที่อื่นๆ ก็แบ่งครึ่งๆ อะไรที่ได้ประโยชน์กันไปก่อน รศ.112 ก็มาตกลงกันใหม่

dsc_5108

หลักฐานประวัติศาสตร์ ระบุว่า หนังสือลงนามโดยลอร์ดซอส เบอรี่ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ กับบารอง เดอ กัวแซล รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีสาระสำคัญมี 6 คือ ข้อ1.รัฐบาลอังกฤษกับรัฐบาลฝรั่งเศส สัญญาไว้ต่อกันว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะไม่ยกกำลังพร้อมอาวุธเข้าไปยังดินแดนเหล่านี้ คือ พื้นที่ที่เป็นลุ่มแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงลำคลองย่อยทั้งหลายจากแม่น้ำเหล่านี้ และจะไม่หาประโยชน์จากที่ดินที่ยังไม่ได้รับเสมอเหมือนกัน

dsc_5165

2.ข้อความตามข้อ 1 จะไม่เป็นที่ขัดขวางในการที่ทั้งสองประเทศจะยินยอมกันต่อไป ที่จะรักษาอิสรภาพของกรุงสยาม 3.ตั้งแต่ดินแดนปากลำน้ำฮวก ซึ่งเป็นเขตแดนระหว่างสยามกับอังกฤษขึ้นไปจนถึงพรมแดนประเทศจีน จะไม่เป็นที่ขัดขวางในการที่อังกฤษกับฝรั่งเศสจะเข้าประเทศจีน ทางน้ำของแม่น้ำโขงจะเป็นพื้นที่ของอังกฤษและฝรั่งเศส 4.ผลประโยชน์ทางการค้าในเมืองยูนาน เมืองฟาโฮ เมืองเสฉวน ต้องเป็นที่ที่อังกฤษกับฝรั่งเศสได้เสมอเหมือนกัน 5.กองทัพข้าหลวงของทั้งสองประเทศจะออกไปปักปันเขตแดน ในหัวเมืองขึ้นของทวีปแอฟริกา 6.ทั้งสองประเทศทำสัญญาการค้ากันใหม่ในเมืองตูนิส (ตูนิเซีย)

“นี่จึงเป็นที่มาว่า ทำไมสยามจึงเป็นรัฐกันชน เนื่องจากมหาอำนาจอย่างฝรั่งเศสและอังกฤษทำข้อตกลงกันแล้ว เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นอิทธิพลที่ทำให้มีการเสด็จประพาสยุโรปของรัชกาลที่ 5 ในภายหลัง 1 ปีต่อมา โดยเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ หรือโรลังยัคมินส์ นักการทูตชาวเบลเยี่ยม ข้าราชการในรัชกาลที่ 5 เป็นผู้ที่แนะนำให้พระองค์ไปยุโรป เพื่อสู้ในทางการทูตกับสองมหาอำนาจด้วยการหาประเทศที่สามพูดคุยด้วย ขณะที่เอกสารบทวิเคราะห์โดยชาวตะวันตกพูดถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นสรุปสั้นๆ ว่า สำหรับประเทศที่เล็กกระจ้อยร่อยอย่างสยาม คงจะยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นดีที่สุดแล้วสำหรับสยาม” นายไกรฤกษ์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน