เมื่อเวลา 15.15 น. วันที่ 27 ธ.ค. ที่รัฐสภา นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณาวาระการเข้าชื่อของสมาชิกสนช. จำนวน 84 คน เพื่อเสนอแก้ไขพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับปี พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 ในมาตรา 7 เรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งคณะกรรมาธิการศาสนา และศิลปวัฒนธรรม นำโดย พล.ต.อ.พิชิต ควรเตชะคุปต์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ เป็นผู้รับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและได้พิจารณาเสร็จแล้ว คือ “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ” โดยให้กลับไปใช้ตามข้อความตามลักษณะเดิมตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.คณะสงฆ์ปี พ.ศ.2505 โดยยกเลิกข้อความในมาตรา 7 ของพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ปี พ.ศ.2505 แก้ไข เพิ่มเติม พ.ศ.2535

ที่ระบุว่า “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุด โดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ในกรณีที่สมเด็จพระราชคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช”

เมื่อถามว่า แสดงว่าตัดขั้นตอนการเสนอชื่อ สมเด็จพระสังฆราชของมหาเถรสมาคมออกไปใช่หรือไม่ นพ.เจตน์ กล่าวว่า หากดูตามถ้อยคำจะเป็นลักษณะนั้น คือตัดตอนของมหาเถรสมาคมออกไป แต่ทั้งนี้คงต้องดูการศึกษาของคณะกรรมาธิการ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้งว่าเป็นอย่างไร

นพ.เจตน์ กล่าวต่อว่า คณะกรรมาธิการฯ ให้เหตุผลการเสนอแก้ไขดังกล่าวได้รับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องมาแล้ว และเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชที่ผ่านมา รวมถึงกลับไปใช้ความเดิมตามโบราณราชประเพณี ที่เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช อย่างไรก็ตาม ร่างพ.ร.บ.นี้จะเสนอเข้าที่ประชุมสนช. ในวันที่ 29 ธ.ค.นี้ ซึ่งจากการประสานงานไปยังรัฐบาล ทางครม.จะส่งนายออมสิน ชีวพฤกษ์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ เข้าร่วมประชุม เพื่อพิจารณารับเรื่องไปศึกษา ซึ่งจะส่งเรื่องกลับมาให้ทางสนช.เมื่อไหร่อย่างไรขึ้นอยู่กับทางครม. แต่คาดว่าจะเข้าสู่ที่ประชุมสนช.ได้ภายหลังปีใหม่

เมื่อถามว่า การแก้ไขเพียงข้อความสั้นๆจะเป็นการพิจารณา 3 วาระรวดหรือไม่ โฆษกวิปสนช. กล่าวว่า ที่ประชุมวิปสนช.ยังไม่ได้กำหนดจะพิจารณาอย่างไร แต่จะต้องทำโดยเร็ว ถามต่อว่าเกรงหรือไม่ว่าจะเกิดแรงต่อต้านจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยเนื่องจากกฎหมายเดิมใช้มาเป็นเวลานาน นพ.เจตน์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าจะเกิดแรงกระเพื่อมหรือไม่ แต่ว่ากฎหมายต้องรีบทำ

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากกฎหมายใหม่ยังไม่มีการประกาศใช้แสดงว่า จะยังไม่มีการตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่หรือไม่ นพ.เจตน์ กล่าวว่า ถ้าจะตั้งก่อนกฎหมายบังคับใช้ก็ได้ แต่หากกฎหมายเสร็จแล้วจึงจะมีผลใช้บังคับ

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน