เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ในการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งดำเนินมาเป็นวันที่ 90 การนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตให้ราชสกุล องคมนตรี คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม องค์กรอิสระ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ร่วมเป็นเจ้าภาพในการบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและถวายเป็นพระราชกุศล เป็นวันที่ 36

โดยในวันนี้มีหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และสมาชิกโครงการทู บี นัมเบอร์ วัน ร่วมเป็นเจ้าภาพพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

เวลา 07.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง พร้อมด้วยคุณพลอยไพลิน เจนเซน คุณสิริกิติยา เจนเซน ธิดาในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากนั้น ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยหน้าพระบรมศพ ทรงกราบหน้าพระบรมโกศพระบรมศพ จากนั้นทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ที่หน้าพระแท่นพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร แล้วถวายภัตตาหารแด่พระพิธีธรรม 8 รูป จากวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร และวัดบวรนิเวศวิหาร ที่สวดพระพระอภิธรรมตั้งแต่ค่ำวันที่ 10 ม.ค. ในการนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เป็นเจ้าภาพร่วมบำเพ็ญกุศลพระบรมศพ

จากนั้นเวลา 10.30 น. นางรัศมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เป็นประธานถวายภัตตาหารเพลแด่พระพิธีธรรม จำนวน 8 รูป จากวัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร และวัดอนงคารามวรวิหาร โดยมีสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ เป็นเจ้าภาพร่วมบำเพ็ญกุศลพระบรมศพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้ารอบบริเวณพระบรมมหาราชวังมีฝนตกโปรยปราย ทั้งนี้ ประชาชนที่เดินทางมากราบสักการะพระบรมศพจากทั่วทุกสารทิศได้สวมชุดไว้ทุกข์สุภาพเรียบร้อย และเข้าคิวอย่างเป็นระเบียบตั้งแต่เช้ามืด โดยเจ้าหน้าที่เปิดให้ประชาชนเข้าทางประตูวิเศษไชยศรีอย่างเป็นระเบียบ ตั้งแต่เวลา 04.50 น. โดยพสกนิกรที่มากราบสักการะพระบรมศพทุกคนจะได้รับแจกภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พิมพ์ 4 สี ขนาด 5 คูณ 7 นิ้ว ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่พสกนิกรทุกคนเก็บไว้เป็นที่ระลึกด้วย

วันเดียวกันนี้ สำนักพระราชวังได้สรุปยอดรวมประชาชน ที่เดินทางมาสักการะพระบรมศพ เมื่อวันที่ 10 ม.ค. หลังสำนักพระราชวัง ปิดไม่ให้ประชาชนเข้าพระบรมมหาราชวัง เพื่อขึ้นกราบสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในเวลา 21.00 น. ว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 40,761 คน รวม 71 วัน มี 3,078,507 คน และมีประชาชนถวายเงินเพื่อร่วมบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นเงิน 4,149,657 บาท รวม 71 วัน เป็นเงินทั้งสิ้น 251,917,981 บาท

ร.อ.วสันต์ บุตรสนิท อายุ 54 ปี พสกนิกรจาก จ.นครราชสีมา อดีตข้าราชการกองพันทหารม้าที่ 8 กองพลทหารม้าที่ 3 กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา เดินทางมาโดยรถตู้พร้อมเพื่อนบ้านมารอคิวเพื่อเข้ากราบพระบรมศพบริเวณสนามหลวงตั้งแต่เวลา 01.00 น. เปิดเผยว่า เคยได้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทพระบรมศานุวงศ์ทุกพระองค์ ด้วยความจงรักภักดีอย่างหาที่สุดไม่ได้ ทุกวันนี้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ในหลวง ร.9 ที่มีต่อปวงชนชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง ตัวเองได้ลงพื้นที่ไปเรียนรู้ในโครงการพระราชดำริเกือบทุกที่ ก็เห็นว่าในทุกพื้นที่ที่พระองค์ทรงช่วยเหลือ สร้างความร่มเย็นเป็นสุข เป็นความภาคภูมิใจที่ได้มากราบพระองค์ท่านใกล้ชิด เพราะต่อให้บอกต่อๆ กันว่ามาแล้วรู้สึกอย่างไรก็คงไม่เหมือนมาด้วยตัวเอง

ร.อ.วสันต์ บุตรสนิท อายุ 54 ปี

“ผมจำได้ดีในหลวง ร.9 มีรับสั่งในพิธีสวนสนามครั้งหนึ่งว่า ให้รักชาติและสามัคคี ซึ่งผมก็ได้ปฏิบัติมาตลอดแม้ว่าได้เกษียณอายุราชการออกมาก่อน และเมื่อได้มาเห็นคนไทยที่พร้อมใจกันมากราบสักการะพระบรมจำนวนมาก ก็ยิ่งเห็นว่าคนไทยรักพระองค์และรักกันมาก นอกจากนี้ ยังได้นำสิ่งต่างๆ ที่เคยได้เรียนรู้จากโครงการของพระองค์ไปบอกต่อพลทหารรุ่นใหม่เพื่อให้เข้าถึง เข้าใจและพัฒนา เป็นไปตามหลักของในหลวง รวมถึงตัวเองได้น้อมนำเรื่องของเกษตรพอเพียงมาใช้ในครัวเรือน ปลูกผักเลี้ยงปลาตามหลักที่ท่านสอน ปลูกเพื่อกินหากเหลือก็นำไปขาย เป็นการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง และยึดความกตัญญูดูแลบิดามารดา และตาที่อายุ 97 ปี ไม่ทอดทิ้งพวกท่าน” ร.อ.วสันต์ กล่าว

นายพัฒนา พันธิวา อายุ 72 ปี

นายพัฒนา พันธิวา อายุ 72 ปี พสกนิกรจาก อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย เปิดเผยหลังเข้ากราบสักการะพระบรมศพว่า นับเป็นความปลาบปลื้มใจจริงๆ ที่ได้มีโอกาสเข้ากราบพระองค์ เพราะพระองค์ทรงเป็นที่รักและเคารพยิ่ง ในความทรงจำตนเคยถือธงชาติไทย และรับเสด็จฯ ในหลวง ร.9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมัยตนเรียนชั้น ป.2 ขณะนั้นพระองค์เสด็จฯ ในหมู่บ้านมีประชาชนเฝ้ารับเสด็จฯ เนืองแน่น สำหรับตนแค่ได้เห็นรถพระที่นั่งก็รู้สึกถึงพระบารมีที่ปกคลุมทั่วทุกแผ่นดินไทย

น.ส.กฤตินี ศิลปี และนายวรภัทร อนาวรญาณ

“ถ้าไม่มีพระองค์ก็จะไม่มีเราในวันนี้ ดิน น้ำ ลม ไฟ ทุกอย่างพระองค์ได้สร้างไว้หมดแล้ว ในถิ่นทุรกันดารที่รถยนต์เข้าไม่ถึง พระองค์ก็เสด็จฯ มาแล้ว นับเป็นความโชคดีของพวกเราทุกคน ผมเก็บภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ไว้มากมาย ในทุกๆ พระจริยวัตร เป็นความทรงจำที่จะเก็บไว้ในหัวใจตลอดไป ทุกวันนี้คิดถึงพระองค์ครั้งใด ก็อยากร้องไห้ด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณทุกครั้ง” นายพัฒนา กล่าวด้วยความตื่นตันใจ

ด้าน น.ส.กฤตินี ศิลปี ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารมูลนิธิรักไทย เดินทางมาสักการะบรมศพพร้อมเพื่อน นายวรภัทร อนาวรญาณ อดีตพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บอกเล่าถึงความประทับใจที่มีต่อในหลวง ร.9 ว่า ตนเดินทางมาเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ซึ่งไม่ว่าจะมาสักกี่ครั้งก็เปี่ยมล้นไปด้วยความจงรักภักดีที่มีต่อพระองค์ทุกครั้ง ปัจจุบันตนได้ทำงานเดินตามรอยพระองค์อยู่แล้ว อย่างมูลนิธิรักไทยของตนก็เป็นมูลนิธิที่ทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในประเทศไทย ล่าสุดได้รับขอรับบริจาคสิ่งของเพื่อส่งต่อน้ำใจไปยังผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ด้วย สิ่งดีๆ เหล่านี้ล้วนมาจากคำสอนของพระองค์ที่ให้คนไทยมีน้ำใจ ช่วยเหลือกัน

“ความรู้สึกที่เข้ากราบสักการะพระบรมศพวันนี้คือ ทุกครั้งที่เห็นพระบรมโกศเหมือนเป็นความรักที่ส่งผ่านสายตาและดวงใจที่ส่งต่อพระองค์ แม้ในวันนี้พระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว แต่ยังคงสถิตอยู่ในดวงใจของตนเสมอ และอยากบอกคนไทยทุกคนว่า ภายหลังที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตแล้วพวกท่านสัญญาว่า จะทำดีตามรอยเท้าพ่อ ก็อย่าลืมคำสัญญานั้น ไม่ใช่วันเวลาผ่านไปแล้วจะลืมคำพูดดังกล่าว ขอให้จำความรู้สึกเหล่านั้นเอาไว้และทำดีต่อไปเรื่อยๆ” น.ส.กฤตินี เผย

นายวรภัทร กล่าวว่า สำหรับตนได้เดินทางมาเป็นครั้งแรก หลังจากเมื่อวานที่ได้ทำงานเสร็จก็กลับมาเตรียมตัวเพื่อออกเดินทางจากบ้านประมาณเวลา 02.00 น. ไม่ได้รู้สึกเหนื่อยหรือท้อแม้แต่น้อย ซึ่งตนเป็นบุคคลหนึ่งที่ชื่นชอบการฟังเพลงที่เกี่ยวข้องกับในหลวงรัชกาลที่ 9 มาก ทั้งเก็บแผ่นซีดีที่ทรงบรรเลงเพลงต่างๆ จนเต็มบ้านไปหมด สาเหตุที่ตนชอบก็เพราะตนชอบทำนองและความหมายของเพลง เช่น เพลงต้นไม้ของพ่อ พระราชาผู้ทรงธรรม และเมื่อค่อยๆ แกะเนื้อเพลงทีละคำจะพบว่ามีเนื้อหาอันลึกซึ้งซ่อนอยู่ภายใน ฟังทีไรน้ำตาเอ่อล้นทุกครั้ง ไม่เพียงเท่านั้นตนยังได้ซึมซับเรื่องราวการดนตรีของพระองค์ผ่านคุณลุง นายแมนรัตน์ ศรีกรานนท์ สมาชิกวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ ที่ได้ทำงานร่วมกับในหลวง ร.9 มาเป็น 15 ปี คุณลุงก็ได้ถ่ายทอดเรื่องราวการดนตรี จนตนได้ซึมซับมาตลอด

“เรามักคิดว่ากษัตริย์ในนิทานไม่มีอยู่จริง แต่กษัตริย์ที่เป็นทั้งผู้ให้และผู้เสียสละในขณะเดียวกันยิ่งกว่ากษัตริย์ในนิทานมีอยู่จริง คือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” นายวรภัทร กล่าว

น.ส.จิดาภา มณฑา อายุ 44 ปี

น.ส.จิดาภา มณฑา อายุ 44 ปี พนักงานบริษัทเอกชน บอกเล่าถึงความรู้สึกหลังการเข้าสักการะพระบรมศพเบื้องหน้าพระบรมโกศว่า ตนได้เดินออกมาจากที่พักแถวรังสิต จ.ปทุมธานี เพียงลำพัง ตั้งแต่เวลา 02.00 น. และมาถึงท้องสนามหลวงประมาณ 02.30 น. โดยการมาในครั้งนี้ตนอยากมาเห็นกับตา อยากมาสัมผัสบรรยากาศ ความรู้สึกต่างๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งครั้งนี้ก็เป็นครั้งแรก ตนรู้สึกตื้นตันใจมากที่ครั้งหนึ่งได้มีโอกาสมาร่วมสักการะ เพราะตนทำอะไรมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว

นางอัจฉรา พลพวก อายุ 42 ปี และนางกัญญา ผลมาตร์ อายุ 53 ปี

นอกจากการนำคำสอนของในหลวงร.9 มาใช้ ทั้งในเรื่องความกตัญญูรู้คุณต่อบิดามารดา ความประหยัดมัธยัสถ์ และสิ่งสำคัญคือ ความพอเพียงไม่ทำอะไรเกินตัว อย่างตนแม้ไม่ได้มีที่ดินผืนใหญ่ที่สามารถทำไร่ทำสวนได้ แต่ตนก็นำขวดน้ำมาทำเป็นกระถางปลูกต้นไม้หรือใช้พื้นที่เล็กๆ ริมระเบียงบ้านปลูกผักสวนครัวกินเอง แค่นี้ก็ถือเป็นความพอเพียงที่ตั้งอยู่บนความพอดีแล้ว นอกจากนี้ เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมาตนยังได้ไปปฎิบัติธรรมบวชพราหมณ์เป็นเวลา 3 วันที่วัดมเหยงคณ์ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อถวายเป็นพระกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

“ท้ายสุดนี้ตนอยากบอกคนไทยว่า อยากให้ช่วยกันทำความดี แม้จะเป็นความดีเล็กๆ น้อยๆ แต่เมื่อทุกคนร่วมกันทำแล้วสิ่งเล็กน้อยเหล่านี้ก็จะกลายเป็นความดีที่ยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทำด้วยกายใจที่บริสุทธิ์ ก็จะช่วยยกสังคมไทยให้สูงขึ้นได้ หรือไม่เช่นนั้นก็ขอให้เดินรอยตามในหลวงร.9 ที่ทรงเสียสละทั้งร่างกาย สายตา ทรงงานหนักต่างๆ เพื่อปวงชนชาวไทยทุกคน” น.ส.จิดาภา กล่าว

นางอัจฉรา พลพวก อายุ 42 ปี เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา และนางกัญญา ผลมาตร์ อายุ 53 ปี เผยพร้อมน้ำตาแห่งความตื้นตันว่า เพิ่งได้มากราบพระบรมศพเป็นครั้งแรก แม้ก่อนหน้านี้ตั้งใจจะมานานแล้ว แต่ขณะที่ยังไม่ได้มากราบก็ได้ร่วมกับทางจังหวัดร่วมเป็นเจ้าภาพจัดทำบุญถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวง ร.9 จึงคิดว่าหากไม่ได้มากราบก็ไม่เสียใจ เพราะเราตั้งใจทำให้พระองค์ท่านอย่างเต็มที่แล้ว แต่เมื่อมีโอกาสได้มากราบพระองค์สักครั้งในชีวิตยิ่งรู้สึกตื้นตันใจถือเป็นบุญของชีวิต เพราะที่ผ่านมาพระองค์ทรงงานเพื่อประชาชนมาโดยตลอด ทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกหลานของพระองค์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นางอัจฉรา กล่าวก้วยว่า เสียดายที่ก่อนหน้าที่ขณะที่ยังทรงมีพระชนม์ชีพ ประชาชนไม่ค่อยได้รับทราบว่าพระองค์ทรงทำอะไรไว้ให้พวกเราบ้าง มาเห็นและเรียนรู้กันมากขึ้นเมื่อสิ้นพระองค์ไปแล้ว ซึ่งหากคิดอีกแง่มุมคือแม้ท่านไม่อยู่แล้วแต่พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ยังคงแผ่ไพศาลไปยังพสกนิกรรุ่นต่อๆไปไม่มีวันหมดสิ้น และยังทำให้คนไทยรักกันมากขึ้น สามัคคีปรองดอง เพราะด้วยมีพระองค์เป็นแหล่งศูนย์รวมยึดเหนี่ยวจิตใจ โดยหลังจากนี้ได้ตั้งใจนำโปสการ์ดพระบรมฉายาลักษณ์ที่ได้รับภายหลังกราบพระบรมศพนำไปบูชา และนำเมล็ดข้าวเปลือกพอเพียงไปปลูกเป็นขวัญนา ซึ่งตัวเองตั้งใจจะเริ่มทำนานปลูกข้าวกินเอง หลังจากที่ได้ปลูกพืชผักกินเองบ้างแล้ว และได้เห็นพระองค์ทรงทำให้เห็นเป็นตัวอย่างด้วย แม้รู้ว่าการทำนานเป็นเรื่องยากลำบาก แต่เราก็จะพยายาม หากเหน็ดเหนื่อยก็ยอม เพราะที่ผ่านมาพระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยมามากกว่าเราหลายร้อยเท่า เราทำเพียงเท่านี้เศษเสี้ยวหนึ่งของพระองค์เราก็ยอม

ที่เต็นท์อาหารพระราชทานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งตั้งอยู่บริเวณท้องสนามหลวงฝั่งทิศเหนือ เยื้องกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยรวมอยู่ภายในศูนย์อาหารบริการประชาชน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ฯ นำอาหาร ขนม ของว่าง และน้ำดื่มพระราชทานมาแจกจ่ายให้ประชาชน โดยแบ่งเป็นมื้อเช้าเวลา 07.00 น. ก๋วยเตี๋ยวหลอด 1,500 ถ้วย กาแฟสด 2,500 แก้ว นมหนองโพ 2,000 กล่อง

มื้อกลางวันเวลา 11.00 น. ขนมจีนน้ำยาลูกชิ้น 1,000 ข้าวผัดหนำเลี๊ยบหมูสับ 1,000 จาน กระเพาะปลาน้ำแดงเห็ดหอม 1,000 ถ้วย ขาหมูสามรสราดข้าวขลุกขลิก 1,000 จาน มื้อบ่ายเวลา 16.00 น. ขนมไทย 1,000 กล่อง ข้าวเหนียวหมูทอด ไก่ทอด 1,000 กล่อง เฉาก๊วย 1,000 ถุง มื้อเย็นเวลา 18.00 น. ข้าวหมูฮ้องซาวด์เคร้าห์ (กะหล่ำปลีดอง) 3,000 จาน โดยมีน้ำดื่มสมุนไพร 700 ลิตร และน้ำดื่มให้บริการประชาชนตลอดทั้งวัน

ที่เต็นท์หน่วยแพทย์พระราชทาน ซึ่งตั้งอยู่ภายในท้องสนามหลวง ด้านทิศเหนือ ฝั่งศาลฎีกา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พร้อมด้วยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ทรงห่วงใยในพสกนิกรที่เดินทางมากราบสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงมีรับสั่งให้มีหน่วยแพทย์พระราชทานมาดูแลสุขภาพประชาชนเป็นประจำทุกวัน ต่อเนื่องจนครบ 100 วัน โดยวันนี้มีแพทย์ พยาบาล เภสัชกร เวชกิจฉุกเฉิน และเจ้าหน้าที่ จากโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลตรัง และโรงพยาบาลเกาะจันทร์ จ.ชลบุรี จำนวน 23 คน มาตรวจรักษาและให้บริการทางการแพทย์

โดยประชาชนส่วนใหญ่เข้ามารับการรักษาด้วยอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และระบบทางเดินหายใจ เนื่องด้วยอากาศเปลี่ยนแปลง พร้อมกันนี้ได้พระราชทานข้าวไก่เทอริยากิ 500 กล่อง พร้อมขนมปังแครกเกอร์และน้ำดื่ม ให้แก่ประชาชนได้อิ่มท้องก่อนขึ้นกราบพระบรมศพ

วันเดียวกัน รศ.ธรรมรักษ์ ละอองนวล รักษาราชการแทนอธิการมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เปิดเผยว่า สำนักศิลปะและวัฒนธรรม จะจัดการแสดงถวายความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “100 วัน หมอลำอีสาน อาลัยพ่อ” ระหว่างวันที่ 18-20 ม.ค. เวลา 16.00-18.00 น. ณ บริเวณลานหน้าอาคาร 100 ปี ประสิทธิ์ สุนทรโรทก

โดยมีพิธีถวายสักการะพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมทั้งถวายความอาลัย และยืนสงบนิ่ง เป็นเวลา 89 วินาที ในการจัดงานครั้งนี้มีการแสดงลำล่อง ลำภูไท และการขับร้องเพลงถวายอาลัยจากศิลปินแห่งชาติ และศิลปินจังหวัดอุบลราชธานี อาทิ อ.ฉวีวรรณ ดำเนิน ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม คุณบานเย็น รากแก่น คุณอังคณา คุณไชย อ.นพดล ดวงพร และดอกอ้อ ทุ่งทอง/ก้านตอง ทุ่งเงิน

นอกจากนี้ ยังมีการแสดงพื้นบ้านจากอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และการบรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์ จากวงออร์เคสตรามหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ในโอกาสนี้ ขอเชิญคณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และประชาชนร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถวายความอาลัย และร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน