เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า กรณีรับจ้างเข้าไปเฉลยข้อสอบการสอบคัดเลือกนักเรียนนายสิบตำรวจ ตามกระแสข่าวดูเหมือนจะมีเยาวชนที่เป็นนักศึกษาแพทย์ วิศวกรรม และอื่นๆ ร่วมอยู่ในกระบวนการด้วย และพนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อกล่าวหาฐานแจ้งข้อความเท็จแก่เจ้าหน้าที่ตามมาตรา 137 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฐานอั้งยี่มาตรา 209 จำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 1 หมื่นสี่พันบาท และฐานนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์มาตรา 14 (1) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เมื่อพิจารณาเบื้องต้นน่าจะเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิด “กรรมเดียว” แต่เป็นความผิดต่อกฎหมาย “หลายบท” ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ใช้ “บทที่มีโทษหนักที่สุด” ลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายอาญา

ดังนั้น ในกรณีนี้ อัตราโทษบทที่มีโทษหนักสุด คือฐานความผิดอั้งยี่มาตรา 209 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 1 หมื่นสี่พันบาท หากผู้ต้องหาหรือจำเลยกรณีที่ศาลประทับรับฟ้องแล้วปฏิเสธ ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามกระบวนการต่อไป

แต่หากจำเลยกระทำความผิดจริงและให้การรับสารภาพ อัตราโทษก็จะลดลงมากึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี 6 เดือน ก็จะอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถขอเหตุอันควรแก่การปรานีต่อศาล ด้วยการร้องขอต่อให้ศาลมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติทำการสืบเสาะและพินิจ อายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม ด้วยว่าตนเองไม่ปรากฏว่ากระทำความผิดอื่นใด หรือปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อน

ซึ่งก็อยู่ที่ดุลพินิจของศาลว่าจะให้โอกาสรอการกำหนดโทษ หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้แล้วปล่อยตัวไป เพื่อให้โอกาสผู้นั้นกลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลจะได้กำหนด แต่ต้องไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษา โดยจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้นั้นด้วยหรือไม่ก็ได้

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่เยาวชนเหล่านี้ จะต้องมีประวัติอาชญากรติดตัวไปชั่วชีวิต ไม่สามารถเข้ารับราชการ หรืองานอื่นใดที่หน่วยงานเหล่านั้นได้กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคนที่จะเข้าทำงานได้ว่า “ต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยต้องโทษจำคุกหรือต้องคำพิพากษามาก่อน”

อนึ่ง อย่างไรสถานศึกษาก็ไม่ควรไปตัดสิทธิการให้ศึกษาต่อของเยาวชนเหล่านี้ มิเช่นนั้นจะเป็นการสร้างภาระให้กับสังคมและประเทศชาติ ไม่ใช่เป็นการสร้างพลัง ส่วนเขาเหล่านั้นเมื่อจบการศึกษาไปแล้วจะไปทำธุรกิจส่วนตัว หรือไปเจอหน่วยงานใจดีรับให้เข้าไปทำงานก็ได้ และที่สำคัญก็จะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน ประเทศไทยควรเป็นประเทศที่มุ่งลงโทษเพื่อการบำบัด แก้ไขฟื้นฟู มากกว่า เพื่อเป็นการแก้แค้นทดแทนครับ

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน