เทแสนล้าน! เปิดงบทุ่มให้ คนจน ทั้งเพิ่มเงิน 500 ค่าน้ำ-ค่าไฟ-ค่าเดินทาง

เมื่อวันที่ 20 พ.ย. นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนรับสวัสดิการจากรัฐ ข้าราชการบำนาญ และผู้มีรายได้ที่ต้องการบ้านอยู่อาศัย เป็นวงเงินที่ใช้ในมาตรการทั้งหมดกว่า 1 แสนล้านบาท

คาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.07% เพราะมาตรการมีอายุยาวไปถึงปี 2562 ซึ่งจะส่งผลดีกับเศรษฐกิจมากกว่าปี 2561

สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยลงทะเบียนภาครัฐ ประกอบด้วย ช่วยค่าไฟฟ้าไม่เกิน 230 บาท/ครัวเรือน/เดือน และค่าน้ำประปา 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน เริ่มเดือน ธ.ค. 2561-ก.ย.2562 จำนวน 8.2 ล้านครอบครัว ใช้เงิน 2.7 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเติมเงินให้กับผู้ถือบัตร 14.5 ล้านคน คนละ 500 บาท เพียงครั้งเดียว โดยจะเติมเงินให้ระหว่างเดือน ธ.ค. 2561-ม.ค.2562 เพื่อใช้จ่ายเพิ่มเติม เป็นวงเงิน 7,250 ล้านบาท

ยังมีมาตรการช่วยเหลือค่าเดินทางไปโรงพยาบาลของผู้มีรายได้น้อยสูงอายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 3.5 ล้านคน จำนวน 1,000 บาท โดยจ่ายครั้งเดียว เป็นวงเงิน 3,500 ล้านบาท

มาตรการสนับสนุนค่าเช่าบ้านผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 400 บาทต่อเดือน ให้ตั้งแต่ ธ.ค. 2561-ก.ย. 2562 จำนวน 2.3 แสนคน เป็นวงเงินที่ต้องใช้ 920 ล้านบาท

ด้านน.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ครม. เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือข้าราชการเกษียณที่รับบำนาญแบ่งเป็น 2 มาตรการ คือ ให้ข้าราชการบำนาญสามารถนำบำเหน็จตกทอด 30 เท่าของเงินเดือน มาใช้เป็นบำเหน็จดำรงชีพได้เป็นครั้งที่ 3 ได้อีก 1 แสนบาท มีผู้ได้สิทธิ 6.59 แสนคน เป็นเงิน 2 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ยังเติมเงินข้าราชบำนาญที่ได้บำเหน็จน้อยต่ำกว่าเดือนละ 1 หมื่นบาท ให้เป็น 1 หมื่นบาท จำนวน 5.27 หมื่นคน ใช้เงิน 558 ล้านบาท

ขณะที่นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ครม. เห็นชอบ ให้ ธอส. จัดทำโครงการบ้านล้านหลังภายใต้วงเงินรวม 6 หมื่นล้านบาท ให้ผู้มีรายได้น้อย กลุ่มคนวัยทำงาน หรือผู้ที่กำลังเริ่มต้นสร้างครอบครัว รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ มีบ้านอยู่อาศัย โดยวงเงินแบ่งเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับลูกค้ารายย่อย 5 หมื่นล้านบาท

สำหรับซื้อบ้านไม่ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ตั้งวงเงินกู้ไว้ 2 หมื่นล้านบาท ให้ผ่อนนานถึง 40 ปี อัตราดอกเบี้ย แบ่งเป็นกรณีรายได้ไม่เกิน 2.5 บาท/คน/เดือน อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1–5 คงที่ 3.00 % ต่อปี กรณีรายได้เกิน 2.5 หมื่นบาท/คน/เดือน ตั้งวงเงินกู้ไว้ 3 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-3 คงที่ 3.00 % โดยทั้ง 2 กรณีเงินกู้ 1 ล้านบาท ผ่อนชำระ 3 ปีแรก เริ่มต้นเพียง 3,800 บาท

สำหรับวงเงินที่เหลืออีก 1 หมื่นล้านบาท เป็นการปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ที่ต้องมีบ้านราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ไม่น้อยกว่า 40 % ของจำนวนหน่วยขายทั้งหมดของโครงการ อัตราดอกเบี้ย MLR – 1.25% ต่อปี เฉพาะกรณีสร้างที่อยู่อาศัยที่มีราคาขายไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่วนกรณีก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่ราคาขายเกิน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MLR – 0.75% ต่อปี ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MLR อยู่ที่ 6.25% ต่อปี

ทั้งนี้ ธนาคารกำหนดจะเริ่มเปิดโครงการภายในเดือน ธ.ค. 2561 โดยจะเปิดให้ประชาชนจองสิทธิ์สินเชื่อเพื่อซื้อหรือปลูกสร้างที่อยู่อาศัย และซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องกับที่อยู่อาศัยตามวัตถุประสงค์ของโครงการ หรือจองสิทธิ์สินเชื่อเพื่อเลือกซื้อทรัพย์ที่พร้อมเข้าอยู่อาศัยภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 จำนวนกว่า 3 หมื่นหน่วย ได้จากแคตตาล็อกในเว็บไซต์ www.ghbmillionhome.com ซึ่งพร้อมเปิดให้เข้าชมเว็บไซต์ได้ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ย.2561 เป็นต้นไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน