สายเที่ยวต้องรู้! ด่วน ราชกิจจาฯ ประกาศแล้ว ห้าม 22 จังหวัด เปิดผับ-บาร์-อาบอบนวด

สายเที่ยว ผับ บาร์ – เมื่อวันที่ ๒๒ พ.ย. ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกากําหนดท้องที่งดอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ พ.ศ.๒๕๖๑ มีรายละเอียดระบุว่า

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่าโดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงท้องที่งดอนุญาตให้ตั้งสถานบริการเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๑๗๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.๒๕๐๙ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

  • มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกากําหนดท้องที่งดอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ พ.ศ.๒๕๖๑”
  • มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
  • มาตรา ๓ ให้ยกเลิก

(๑) พระราชกฤษฎีกากําหนดเขตจังหวัดนครนายก จังหวัดพิจิตร จังหวัดสตูล จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดอ่างทอง เป็นท้องที่งดอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ พ.ศ.๒๕๔๕

(๒) พระราชกฤษฎีกากําหนดเขตจังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดกําแพงเพชร จังหวัดชัยนาท จังหวัดชุมพร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดน่าน จังหวัดปทุมธานี จังหวัดปัตตานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพะเยา จังหวัดพังงา จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดยโสธร จังหวัดระนอง จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสกลนคร จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดหนองคาย จังหวัดหนองบัวลําภู และ จังหวัดอุทัยธานี เป็นท้องที่งดอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ พ.ศ.๒๕๔๕

  • มาตรา ๔ ให้กําหนดเขตจังหวัดดังต่อไปนี้ เป็นท้องที่งดอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ

(๑) กําแพงเพชร
(๒) ชัยนาท
(๓) ชุมพร
(๔) นครนายก
(๕) นนทบุรี
(๖) น่าน
(๗) ปทุมธานี
(๘) ปัตตานี
(๙) พะเยา
(๑๐) พังงา
(๑๑) พิจิตร
(๑๒) เพชรบุรี
(๑๓) ยโสธร
(๑๔) ระนอง
(๑๕) สกลนคร
(๑๖) สตูล
(๑๗) สิงห์บุรี
(๑๘) สุโขทัย
(๑๙) สุพรรณบุรี
(๒๐) หนองคาย
(๒๑) อ่างทอง
(๒๒) อุทัยธานี

  • มาตรา ๕ พระราชกฤษฎีกานี้ไม่ใช้บังคับแก่สถานบริการที่ได้รับอนุญาตให้ตั้งก่อนวันที่ พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ และสถานบริการที่อยู่ในสถานที่ตั้งโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
  • มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี


 

ทั้งนี้ ตาม พระราชบัญญัติ สถานบริการ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๔๖ ในมาตรา ๓ ให้นิยามของคำว่า สถานบริการไว้ว่า

“สถานบริการ” หมายความว่า สถานที่ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการโดยหวังประโยชน์ในทางการค้าดังต่อไปนี้

(๑) สถานเต้นรำ รำวง หรือรองเง็ง เป็นปกติธุระประเภทที่มีและประเภทที่ไม่มีคู่บริการ

(๒) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา น้ำชา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายและบริการ โดยมีผู้บำเรอสำหรับปรนนิบัติลูกค้า

(๓) สถานอาบน้ำ นวด หรืออบตัว ซึ่งมีผู้บริการให้แก่ลูกค้า เว้นแต่

(ก) สถานที่ซึ่งผู้บริการได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยประเภทการนวดไทยตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ หรือได้รับยกเว้นไม่ต้องขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนไทยประเภทการนวดไทยตามกฎหมายดังกล่าว หรือสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล

(ข) สถานที่เพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมสวยที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะต้องมีลักษณะของสถานที่ การบริการหรือผู้ให้บริการเป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยด้วย ประกาศดังกล่าวจะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบเพื่อการรับรองให้เป็นไปตามมาตรฐานนั้นด้วยก็ได้ หรือ

(ค) สถานที่อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(๔) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายหรือให้บริการ โดยมีรูปแบบอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(ก) มีดนตรี การแสดงดนตรี หรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิงและยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้นักร้อง นักแสดง หรือพนักงานอื่นใดนั่งกับลูกค้า

(ข) มีการจัดอุปกรณ์การร้องเพลงประกอบดนตรีให้แก่ลูกค้า โดยจัดให้มีผู้บริการขับร้องเพลงกับลูกค้า หรือยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้พนักงานอื่นใดนั่งกับลูกค้า

(ค) มีการเต้นหรือยินยอมให้มีการเต้น หรือจัดให้มีการแสดงเต้น เช่น การเต้นบนเวทีหรือการเต้นบริเวณโต๊ะอาหารหรือเครื่องดื่ม

(ง) มีลักษณะของสถานที่ การจัดแสงหรือเสียง หรืออุปกรณ์อื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(๕) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่าย โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา ๒๔.๐๐ นาฬิกา

(๖) สถานที่อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน