วันที่ 20 ม.ค. ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิบูลย์ และนางพริ้ม บุญภัทรรักษา พ่อและแม่ของนายจตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ผู้ต้องหาตามความผิดประมวลกฎหมายอาญา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พร้อมด้วย ทนายความ ได้เดินทาง มาให้กำลังใจ และยื่นเรื่องคัดค้านการฝากขังผัดที่ 5 โดยมีนักกิจกรรมจำนวนมากยืนชูป้ายข้อความ พร้อมรูปเหมือนของ “ไผ่ ดาวดิน” ระบุว่า “สิทธิการประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานคืนอิสรภาพให้ ไผ่ ดาวดิน #FreePai” นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว แกนนำกลุ่มพลเมืองโต้กลับ นายสุลักษณ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นายรังสิมันต์ โรม แกนนำขบวนประชาธิปไตยใหม่ และสมาชิกประมาณ 30 คน ท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ทหารและตำรวจ โดยเจ้าหน้าที่ขอให้ยุติการแสดงสัญลักษณ์ดังกล่าว

นายวิบูลย์ เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการฝากขังผัดที่ 5 ของพนักงานสอบสวน ซึ่งครอบครัวและทนายความได้ยื่นคัดค้านการฝากขัง ข้อคัดค้านที่ทีมทนายความค้านไปนั้น จำเป็นต้องฝากขังต่อหรือไม่ ขณะที่การประกันตัวสิทธิ์พื้นฐานที่ควรจะได้รับ ที่สำคัญต้องมาดูแลเรื่องการศึกษา อย่างไรก็ตาม เรื่องสอบของไผ่ที่ออกไปมั่วทังนั้น ทุกคนหน่วยงานของรัฐได้หน้าทุกหน่วยงาน จริงแล้วไผ่ไมได้สอบเมื่อวันที่ 17-18 ม.ค.ที่ผ่านมาแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เผยแพร่ข้อความระบุว่า ด้วยเหตุที่การไต่สวนฝากขัง 2 ครั้งที่ผ่านมา ศาลมีคำสั่งให้การพิจารณาเป็นการลับ ทำให้ในวันนี้ทางทนายความได้ยื่นคัดค้านการพิจารณาลับไว้ด้วย โดยยืนยันว่า แม้ศาลจะอ้างอำนาจตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 177 แต่มาตรา 177 ระบุเหตุที่ศาลจะสั่งให้พิจารณาลับไว้เพียงเพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อย หรือเพื่อป้องกันความลับไม่ให้ล่วงรู้ถึงประชาชน แต่การไต่สวนคำร้องขอฝากขัง เป็นเพียงขั้นตอนก่อนการพิจารณาคดี ที่ผู้ต้องหาใช้สิทธิคัดค้านเรื่องความจำเป็นในการควบคุมตัวผู้ต้องหา จึงไม่เกี่ยวกับเหตุดังกล่าวที่ศาลจะใช้อำนาจสั่งให้พิจารณาลับได้

ต่อมา ทางพนักงานสอบสวนสภ.เมืองขอนแก่น ได้ยื่นคำร้องต่อศาล ขอฝากขังผู้ต้องหาอีก 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค.- 1 ก.พ.60 โดยระบุว่าพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานมาตลอด หากแต่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น โดยระบุว่าจากการประชุมสรุปพยานหลักฐานของหัวหน้าพนักงานสอบสวนตามคำสั่งของตำรวจภูธรภาค 4 พบว่ายังมีพยานหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี ต้องทำการสอบสวนเพิ่มเติม เช่น พยานหลักฐานที่เป็นข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อพิสูจน์ความผิดและความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา และพยานจับกุม

ด้านทนายของผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังดังกล่าว โดยระบุถึงเหตุที่ไม่มีความจำเป็นจะต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ระหว่างการสอบสวน โดยสรุปได้แก่

1.ผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และไม่มีพฤติการณ์ใดๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนและการฟ้องคดีแต่อย่างใด อีกทั้งที่พนักงานสอบสวนกล่าวอ้างว่าผู้ต้องหามีการแสดงความคิดเห็นทางสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นอุปสรรคของการสอบสวนนั้น เป็นการกล่าวอ้างเลื่อนลอย เพราะพยานบุคคลที่พนักงานสอบสวนจะสอบเป็นพยานนั้นล้วนมีตำแหน่งหน้าที่การงานน่าเชื่อถือ และมีความรู้ความสามารถ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ จึงเป็นไปไม่ได้ที่การแสดงความคิดเห็นของผู้ต้องหาจะมีอิทธิพลเหนือพยานบุคคลจนเป็นอุปสรรคของการสอบสวนได้

2.แม้ผู้ต้องหาจะถูกกล่าวหาในความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แต่คดีความผิดเช่นเดียวกันนี้ศาลก็อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้หลายกรณี ซึ่งคดีนี้ผู้ต้องหาเพียงแชร์ข่าวจากเว็บไซด์ข่าวบีบีซี ไม่ใช่การแสดงความเห็นด้วยตนเองและไม่ใช่การกระทำที่ร้ายแรง อีกทั้งการแสดงความคิดเห็นของผู้ต้องหาในทางสื่อออนไลน์ก็เป็นการแสดงความคิดเห็นทั่วไป ไม่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ หรือไม่ได้มีพฤติการณ์ที่จะกระทำผิดในคดีนี้ซ้ำแต่อย่างใด การนำมาเป็นเหตุในการควบคุมตัวผู้ต้องหาโดยปราศจากอิสรภาพ จะเป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของผู้ต้องหาจนเกินจำเป็นและไม่ได้สัดส่วน

3.ผู้ต้องหาไม่เคยถูกกล่าวหาหรือกระความผิดอาญาใดๆ มาก่อน อีกทั้งยังเป็นนักศึกษาชั้นปีสุดท้าย และมีความจำเป็นต้องศึกษาต่อให้จบ หากศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและตัดโอกาสทางการศึกษา ทำให้ผู้ต้องหาต้องได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรง ทั้งที่ผู้ต้องหาเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น ซึ่งในทางกฎหมายผู้ต้องหาต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์กระทำความผิดที่เป็นอาชญากรก่อให้เกิดภยันตรายต่อผู้อื่นและสังคม

ขณะเดียวกันคำร้องยังได้แนบจดหมายของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์การสหประชาชาติ ที่ระบุถึงการแสดงความกังวลต่อบทบาทของเจ้าหน้าที่ทหารในระหว่างการสืบสวนสอบสวน และการเพิกถอนสัญญาประกันตัวของนายจตุภัทร์ด้วย ประกอบการคัดค้านฝากขังในครั้งนี้ด้วย

ก่อนเริ่มการไต่สวน ศาลได้มีคำสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับ โดยขอให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากห้องพิจารณา ยกเว้นตัวผู้ต้องหา บิดามารดา และทนายความ

ทนายความจึงได้แถลงว่า ผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องคัดค้านการพิจารณาลับ เนื่องจากไม่ได้เป็นกรณีที่เป็นเนื้อหาคดี แม้จะเป็นคดีอุกฉกรรจ์หรือไม่ก็ตาม ขั้นตอนนี้ยังเป็นแค่ความเห็นของพนักงานสอบสวนว่าจะฝากขังหรือไม่ การพิจารณาโดยเปิดเผยจะเป็นหลักประกันเสรีภาพของผู้ต้องหา โดยที่ผ่านมาเป็นที่ชัดเจนว่าการขอฝากขัง 4 ครั้ง ที่ผ่านมาของผู้ร้อง ไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับคดี เป็นลักษณะการมาเบิกความว่าเหลือการสอบสวนพยานอีกกี่ปาก ขณะที่ในครั้งนี้ ยังมีคณาจารย์มาจากกรุงเทพ สื่อมวลชน และประชาชนผู้สนใจ ทุกคนมาเพราะความศรัทธาในศาล เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งโดยหลักการต้องพิจารณาคดีโดยเปิดเผย

จากนั้น ศาลได้ขอพักการพิจารณาเพื่อไปปรึกษาผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ราว 5 นาที ก่อนจะกลับมายืนยันคำสั่งพิจารณาคดีลับ โดยชี้แจงว่าเนื่องจากเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง และเป็นคดีที่มีโทษสูง จึงจำเป็นต้องสั่งพิจารณาลับ อีกทั้ง ศาลดำเนินการไต่สวนตามคำร้อง และพิจารณาตามหลักฐาน แม้จะพิจารณาลับ ศาลก็ยังให้สิทธิความเท่าเทียม พิจารณาตามหลักฐาน ไม่ได้กระทบสิทธิหรือเป็นโทษต่อผู้ต้องหา ทั้งได้ให้บิดามารดาเข้าร่วมการพิจารณา และให้มีทนายความเต็มที่ โดยที่คำสั่งศาล ทุกฝ่ายสามารถตรวจสอบได้ ศาลจึงยืนยันตามคำสั่งเดิม

ขณะที่นายจตุภัทร์ ผู้ต้องหา ได้แถลงต่อศาลว่าเมื่อศาลสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ ตนจึงขอไม่ให้มีทนายความอยู่ในห้องพิจารณา เพราะไม่ว่าจะมีหรือไม่มีทนายความ ตนก็ไม่ได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผยอยู่แล้ว จึงไม่ต้องการให้มารองรับกระบวนการที่ไม่เป็นธรรมและไม่ถูกต้องเช่นนี้ และยืนยันว่าจะไม่ลงนามในเอกสารใดๆ ในกระบวนการวันนี้ จากนั้นทีมทนายความจึงได้ออกจากห้องพิจารณาตามความตั้งใจของผู้ต้องหา และศาลให้เริ่มการไต่สวนฝากขัง โดยมีเพียงบิดาของผู้ต้องหาอยู่ในห้องพิจารณา

ต่อมาศาลได้ไต่สวนคำร้องแล้วเสร็จในเวลาประมาณ 11.10 น. กระทั่งเวลาประมาณ 12.20 น. ศาลจึงได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาต่อไปอีก 12 วัน ตามคำร้องของพนักงานสอบสวน ศาลยังได้สอบถามทนายความให้ลงลายมือชื่อในกระบวนการพิจารณา แต่ทนายความได้ระบุว่าไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ เพราะได้เดินออกมาจากห้องพิจารณาแล้ว ไม่ได้รับทราบกระบวนการพิจารณาที่เกิดขึ้น จึงไม่สามารถลงลายมือชื่อเพื่อรองรับได้ ทางผู้ต้องหาเองก็ไม่ได้ลงลายมือชื่อในกระบวนการพิจารณาเช่นกัน

ภาพประกอบจาก เพจ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ New Democracy Movement – NDM

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน