เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 27 ม.ค. ที่ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (พช.พระนคร) นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานแถลงข่าวความคืบหน้าการจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

นายอนันต์ กล่าวว่า ภาพรวมความคืบหน้าการดำเนินงานภายหลังพิธีตอกหมุดเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ที่ผ่านมา การทำงานดำเนินไปตามแผนงาน โดยพื้นที่ผังบริเวณในงานพระราชพิธีจะมีขนาดใหญ่กว่างานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยเฉพาะใน 4 ครั้งหลัง และภายในพื้นที่จะมีถนนเส้นกลางกึ่งกลางหลักบริเวณสนามหลวง พื้นที่เกือบ 2 ใน 3 ของสนามหลวง จะเกี่ยวข้องกับพระราชพิธีทั้งหมด ประกอบด้วยพระเมรุมาศ พระที่นั่งทรงธรรม ศาลาลูกขุน 6 หลัง ทับเกษตร โดยส่วนที่เลยไปจะเป็นทางถนน ศาลาลูกขุนเป็นส่วนที่จะทำหน้าที่บริการ

“การวางผังอาคารเลยถนนกลางสนามหลวงไปทางทิศเหนือ 80 เมตร ใช้พื้นที่ 2 ใน 3 ของท้องสนามหลวง การวางผังอาคารเชื่อมโยงสัมพันธ์กับศาสนสถานที่สำคัญของเกาะรัตนโกสินทร์ พระเมรุมาศมีการวางผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้าง 60 เมตร ยาว 60 เมตร สูง 50.49 เมตร พระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด บนฐานชาลา 3 ชั้น ตรงกลางบุษบกประธานประดิษฐานพระจิตกาธาน พระเมรุมาศประดับด้วยเทวดา และสัตว์หิมพานต์ มีแนวความคิดในการตีความเชิงสัญลักษณ์ตามผังภูมิจักรวาล ตามปรัชญา และคติความเชื่อของไทย” นายอนันต์ กล่าว

อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวต่อว่า สำหรับด้านหน้ามณฑลพิธี ซึ่งจะเป็นส่วนของกรมศิลปากรโดยสำนักสถาปัตยกรรม จะออกการจัดสวน และจากนั้นจะเป็นพลับพลายก ส่วนในด้านทิศเหนือของสนามหลวงจะเป็นบริเวณเวทีมหรสพสมโภชน์ และอีกส่วนจะเป็นลานเพื่อวางปืนใหญ่ในการยิงสลุต โดยทางกรมศิลปากรได้นำเสนอต่อคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศเป็นที่เรียบร้อย และในส่วนของพระเมรุมาศที่ได้มีการนำเสนอรูปแบบไปแล้วนั้น กรมศิลปากร ทางสำนักสถาปัตยกรรมจัดทำรูปสามมิติ

โดยพระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด ซึ่งทางสำนักสถาปัตยกรรมและสำนักช่างสิบหมู่ได้ประสานงานอย่างใกล้ชิด โดยพระเมรุมาศถือได้ว่าเป็นอาคารประธาน และเป็นอาคารสำคัญมณฑลในพิธี ซึ่งการจัดสร้างในครั้งนี้ได้ยึดถือคติโบราณในเรื่องของความเชื่อในเรื่องสมมุติเทพของพระมหากษัตริย์ ที่ได้ยึดถือกันมาเป็นเวลานาน จึงได้จำลองคติความเชื่อโลกและจักรวาลมาสร้างในงานสถาปัตยกรรม

ส่วนในการจัดทำภูมิทัศน์จะสะท้อนให้เห็นถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยการนำเสนอการจัดการพื้นที่ พืชพันธุ์ และเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่เนื่องมาจากพระราชดำริ พรรณไม้ภายนอกรั้วราชวัตรนำมาจากพรรณไม้ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการพระราชดำริต่างๆ เช่น พันธุ์ข้าวพระราชทาน หญ้าแฝก ต้นยางนา มะม่วงมหาชนก ภายในรั้วราชวัตรวางแนวคิดในการเลือกพรรณไม้ ที่สะท้อนถึงสรวงสวรรค์ตามคติโบราณและพรรณไม้สีเหลือง ขาว เพื่อสื่อถึงวันพระราชสมภพ

อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดสร้างเทวดาประกอบพระเมรุมาศ ประกอบด้วย เทวดายืนรอบพระเมรุมาศ จำนวน 12 องค์ เทวดานั่งรอบเชิงฉัตรและบังแทรกพระเมรุมาศ จำนวน 56 องค์ โดยครั้งนี้ได้จัดสร้างมหาเทพประกอบด้วยพระศิวะ พระนารายณ์ พระอินทร์ พระพรหม รวมจำนวน 4 องค์ จากนั้นจะมีท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ ประอบด้วย ท้าวเวสสุวรรณ ท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักษ์ ท้าววิรุฬหก และสัตว์มงคลประจำทิศ ประกอบด้วย ช้าง ม้า วัว สิงห์ ประดับทางขึ้นบันได ชั้นที่ 1 ประจำทิศ ทิศละ 1คู่

นอกจากนี้ ยังจะเพิ่มครุฑยืนรอบพระเมรุมาศบริเวณชั้นที่ 3 จำนวน 4 คู่ 8 ตัว 4 ทิศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปั้นหุ่นต้นแบบ จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนขยายแบบจริง โดยจะดำเนินการบริเวณโรงขยายแบบและศูนย์ควบคุมการก่อสร้างเพื่อดำเนินการในขั้นต่อไป

นายอนันต์ กล่าวอีกว่า ประติมากรรมประกอบพระเมรุมาศได้ดำเนินการตามขั้นตอน โดยขณะนี้ทยอยปั้นประติมากรรมต้นแบบจากภาพลายเส้น หากผ่านการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิกรมศิลปากร จะนำไปสู่การขยายแบบเท่าจริง ขั้นตอนต่อไปจะผูกไม้ครอส ขึ้นดินโกลนหุ่น ปั้นกายวิภาค ใส่เครื่องประกอบ เก็บรายละเอียด ทำพิมพ์ หล่อชิ้นงาน ตกแต่งชิ้นงาน ลงพื้น และเขียนสี ลงสีทองปิดทองคำเปลว ประดับแวว และติดตั้งประกอบพระเมรุมาศ

ส่วนข้อกังวลของประชาชนทั่วไปในการเคลื่อนย้ายต้นมะขามนั้น เนื่องจากจะมีการเคลื่อนย้ายต้นมะขามประมาณ 50 ต้น โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญจะเข้ามาทำงานร่วมกันในการเคลื่อนย้ายต้นไม้เข้ามาดูแลและจะจัดทำพันธุกรรมของต้นมะขามในส่วนจำเป็น ที่ต้องเคลื่อนย้ายเพื่อป้องกันต้นตาย โดยจะทำเคลื่อนย้ายในลำดับต่อไป

อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า สำหรับอาสาสมัครที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสร้างพระโกศจันทน์ และงานศิลปกรรมเครื่อง ประกอบพระเมรุมาศ นั้นมีผู้สมัครรวม 228 คน และยังจะเปิดรับสมัครไปจนถึงวันที่ 3 ก.พ. จากนั้นจะทำการคัดเลือกโดยทดสอบทักษะความสามารถด้านช่างฝีมือและสัมภาษณ์ เพื่อคัดเลือกเข้าปฏิบัติงาน นอกจากนี้ จะได้เปิดโอกาสและประสานให้นักศึกษาจากสถาบันต่างๆเข้ามามีส่วนร่วม โดยจะทำการคัดเลือกด้วยเช่นกัน

“อย่างไรก็ตาม งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จะมีความยิ่งใหญ่เทียบเท่างานพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก กรมศิลปากรจะเร่งทำงานอย่างเต็มที่ในช่วงปลายหนาว และหน้าร้อน เนื่องจากมีความกังวลเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน จะมีอุปสรรคในการก่อสร้างพระเมรุมาศอยู่บ้าง โดยจะมีพิธียกเสาเอกพระเมรุมาศปลายเดือนมี.ค.ถึงต้นเดือนเม.ย.นี้ มั่นใจจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2560 ตามแผนงานที่นำเสนอในคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ” อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว

นายอนันต์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้งานก่อสร้างพระเมรุมาศอยู่ในขั้นตอนปรับหาค่าระดับ และเกลี่ยดินให้ได้ระดับเดียวกัน โดยในวันที่ 9 ก.พ. นี้ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาปกรณ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศฯ จะประชุมคณะกรรมการ และลงพื้นที่จัดสร้างพระเมรุมาศเพื่อติดตามความคืบหน้า จากนั้นจะล้อมต้นมะขาม 50 ต้น เพื่อเคลื่อนย้ายออกจากบริเวณที่จะสร้างถนนเพื่อใช้เคลื่อนราชรถ เข้าสู่พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมพืชมาจัดทำพันธุกรรมต้นมะขามทั้งหมด

อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าในการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ และราชยาน งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 9 มกราคม ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่สำนักช่างสิบหมู่ และเจ้าหน้าที่กรมสรรพาวุธทหารบก โดยเจ้าหน้าที่สำนักช่างสิบหมู่ ดำเนินการกะเทาะกระจกบริเวณหน้ากระดานฐานล่าง พระมหาพิชัยราชรถ และถอดส่วนประกอบพระที่นั่งราเชนทรยาน เพื่อนำไปบูรณะฯ ยังสำนักช่างสิบหมู่ ส่วนเจ้าหน้าที่กรมสรรพาวุธทหารบก ดำเนินการถอดช่วงล่างราชรถน้อย และเจ้าหน้าที่สำนักช่างสิบหมู่ถอดชิ้นส่วนบริเวณเกรินราชรถ ขนย้ายไปทำการบูรณะฯ ยังหน่วยงาน

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่กลุ่มช่างแกะสลักและช่างไม้ประณีตดำเนินการถอดเทพพนมชั้นเกริน พระมหาพิชัยราชรถ และดำเนินการปรับพื้นส่วนชั้นวางกระจังเจิม และชั้นเทพพนมซ่อมแซมส่วนเกรินรถและท้ายเกริน แกะซ่อมลวดลายส่วนที่เลือนหายให้คมชัด และถอดพระวิสูตรทั้งหมดเพื่อเปลี่ยนใหม่ ราชรถน้อย 9784 เจ้าหน้าที่กลุ่มช่างบุ ดำเนินการถอดเฟื่อง และยอดพุ่มข้าวบิณฑ์ พระมหาพิชัยราชรถ เวชยันตรราชรถ ราชรถน้อย 9782 และ 9783 เจ้าหน้าที่กลุ่มช่างปิดทองและประดับกระจก ดำเนินการกะเทาะกระจกที่ชำรุดโดยรอบ และตัดกระจกเตรียมไว้สาหรับการประดับกระจกส่วนหน้ากระดานฐานล่าง พระมหาพิชัยราชรถ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน