เมื่อวันที่ 27 ม.ค. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตให้ราชสกุล องคมนตรี คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม องค์กรอิสระ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน

และสมาคมต่างๆ ร่วมเป็นเจ้าภาพบำเพ็ญกุศลถวายพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นวันที่ 7 ภายหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร โดยแบ่งออกเป็น 4 รอบ เวลา 10.00 น., 14.30 น., 17.00 น. และเวลา 19.00 น. รอบละ 11 คณะๆละ 50 คน หมุนเวียนจนกว่าจะครบจำนวนเจ้าภาพตามที่แสดงความจำนง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้เป็นวันที่ 87 ที่มีพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนเข้าถวายสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เบื้องหน้าพระบรมโกศ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งสำนักพระราชวังเปิดให้ประชาชนกลุ่มแรกเข้าพระบรมมหาราชวังเวลา 04.45 น. โดยมีประชาชนจากทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลเดินทางมาต่อคิวเพื่อเข้ากราบสักการะพระบรมศพอย่างไม่ขาดสาย

เวลา 10.00 น. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานบำเพ็ญกุศลและถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ 10 รูป จากวัดนาคกลาง, วัดอรุณราชวราราม, วัดศรีเบญจคาลัย จ.พิจิตร, วัดชัยสามหมอ จ.ชัยภูมิ, วัดป่าโคกกรุง จ.ชัยภูมิ, วัดปทุมาวาส จ.ชัยภูมิ, วัดใหญ่อินทาราม จ.ชลบุรี และวัดหนองสองห้อง จ.ชัยภูมิ ที่สวดพระพุทธมนต์

ในการนี้พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ รับถวายภัตตาหารเพล โดยมีกลุ่มบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน), กลุ่มบริษัทบริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), กองกำลังผาเมือง กองพลทหารม้าที่ 1 ร่วมกับคณะศิษย์ศรัทธาพระอาจารย์อารยวังโส วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย จ.ลำพูน, คีรีมันตราวิปัสสนารีสอร์ท หัวหิน พร้อมด้วยสมาคมส่งเสริมการศึกษาในถิ่นกันดาร ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน), บริษัท สยามสปอร์ตซินดิเคท จำกัด (มหาชน), สมาคมส่งเสริมการศึกษาในถิ่นกันดาร ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สศก.), คณะศิษย์วัดเขาใหญ่ญาณสัมปัณโณ, คณะชาวบ้านและประชาชน (คณะชาวครบุรีและคณะชมรมตัวแทนประกันชีวิตและวินาศภัย จ.ขอนแก่น) ร่วมเป็นเจ้าภาพ

นายมีชัย เปิดเผยว่า วันนี้มาเป็นประธานในนามขององค์กรสื่อ ซึ่งได้รับรู้ความวิปโยคโศกเศร้าของประชาชนทั้งประเทศ รวมถึงตนที่น้ำตาคลอทุกครั้งที่คิดถึงพระองค์ท่าน ระหว่างที่ตนเป็นประธานบำเพ็ญกุศล ตนได้จับเวลาประชาชนที่เข้ามาถวายสักการะตั้งแต่เข้าสู่ด้านในเขตพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ตลอดจนนั่งกราบและลุกออกไป ใช้เวลาถวายสักการะแค่ 15 วินาทีเท่านั้น แต่ต้องเข้าแถวต่อคิวรอคอยนานหลายชั่วโมง ซึ่งประชาชนทุกคนก็มีความตั้งใจ ไม่ย้อท้อที่จะมาถวายสักการะอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นความจงรักภักดีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างหาที่สุดมิได้

“ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นเลิศพระราชา ที่ยากจะหากษัตริย์องค์ใดเหมือน ทรงพระปรีชาสามารถในทุกๆ ด้าน อุทิศทั้งชีวิตของพระองค์ท่านเพื่อให้ประชาชนได้สุขสบาย ด้วยความรักและความมีเมตตาจิต นี่จึงเป็นเหตุผลที่ประชาชนชาวไทยรักพระองค์มาก” นายมีชัย กล่าว

สำนักพระราชวังได้สรุปยอดรวมประชาชน ที่เดินทางมาสักการะพระบรมศพ เมื่อวันที่ 27 ม.ค. หลังสำนักพระราชวัง ปิดไม่ให้ประชาชนเข้าพระบรมมหาราชวัง เพื่อขึ้นกราบสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในเวลา 22.35 น. ว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 47,952 คน รวม 86 วัน มี 3,780,604 คน และมีประชาชนถวายเงินเพื่อร่วมบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นเงิน 3,289,028.30 บาท รวม 86 วัน เป็นเงินทั้งสิ้น 317,484,749.09 บาท

นายสะแหล่ทู แสงกระแแจ่มเรือง อายุ 49 ปี ชาวกะเหรี่ยงจากหมู่บ้านแม่แฮเหนือ ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตนเป็นชาวกะเหรี่ยงเดินทางมากับเพื่อนๆในหมู่บ้าน ซึ่งทุกคนมีความตั้งใจว่าในชีวิตนี้จะต้องมาถวายสักการะพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้ได้ เพราะในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นผู้ที่สร้างประโยชน์ให้กับแผ่นดินอย่างมหาศาล ทรงเสด็จฯไปยังถิ่นทุรกันดารโดยไม่สนว่าหนทางจะยากลำบากเพียงใด ทรงงานหนักเพื่อให้พวกเรากินดีอยู่ดี

“เดิมทีหมู่บ้านแม่แฮและหมู่บ้านบริเวณใกล้เคียง ส่วนใหญ่ชาวบ้านเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ม้ง ประกอบอาชีพทำนาและทำไรเลื่อนลอย เช่น ปลูกข้าวโพด ปลูกฝิ่น และเลี้ยงสัตว์ พวกเรามักอพยพเคลื่อนที่หาที่เพาะปลูกจึงมีการบุกรุกเผาป่าไปเรื่อยๆ แต่ความเป็นอยู่ก็ยังไม่ดีขึ้น กระทั่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จฯมายังหมู่บ้านและเห็นความยากลำบาก จึงมีพระราชดำริก่อตั้งโครงการหลวงพัฒนาเกษตรที่สูงแม่แฮ แต่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ ที่ได้พัฒนาหมู่บ้าน พัฒนาพื้นที่การเกษตรให้กับชาวเขา โดยไม่ต้องทำลายป่าอีก” นายสะแหล่ทู กล่าว

ชาวกะเหรี่ยงหมู่บ้านแม่แฮเหนือ กล่าวต่อว่า ที่โครงการหลวงได้พัฒนาอาชีพให้แก่ชาวบ้าน มีแปลงสาธิตการผลิตพืชผักเมืองหนาว เช่น ผักกาดหวาน กะหล่ำปลีแดง พลับ องุ่น เป็นต้น สิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทำให้แก่พวกเรานับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวง ที่เปลี่ยนชีวิตชาวเขาให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และไม่ยากลำบากอีกต่อไป

ที่เต็นท์อาหารพระราชทานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้าประตูสรีสุนทร ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นประตูทางออกของพสกนิกรหลังกราบสักการะพระบรมศพ การนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ฯ นำอาหาร ขนม ของว่าง และน้ำดื่มพระราชทานมาแจกจ่ายให้ประชาชน

โดยแบ่งเป็นมื้อเช้าเวลา 07.00 น. ข้าวไข่ตุ๋น 1,500 จาน, กระเพาะปลา 1,000 ถ้วย นมหนองโพ 2,000 กล่อง มื้อกลางวัน 11.00 น. บะหมี่หมูแดง 3,000 กล่อง, ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า 500 จาน, ก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ้ว 500 กล่อง มื้อบ่าย 16.00 น. ขนมไทย 1,000 กล่อง เฉาก๊วย 1,000 ถุง มื้อเย็น 18.00 น. ข้าวหมูอบ 1,500 จาน, ข้าวไก่อบ 1,500 จาน และมีน้ำสมุนไพร 700 ลิตร พร้อมน้ำดื่มให้บริการตลอดทั้งวัน

เวลา 14.30 น.นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานบำเพ็ญกุศล พระสงฆ์ 10 รูปจากวัดบรมวงศ์อิศรวรารามวรวิหาร ,วัดวชิรธรรมาราม, วัดนิเวศธรรมประวัติ,วัดราษฎร์บำรุง จ.พระนครศรีอยุธยา, วัดไทยเชตวันมหาวิหาร ประเทศอินเดีย, วัดช่องลม จ.สมุทรสงคราม, วัดศิริมงคล จ.สมุทรสาคร, วัดศิริเจริญเนินหม้อ จ.ราชบุรี และวัดทรงเสวย จ.ชัยนาท สวดมาติกาและสดัปปกรณ์บำเพ็ญกุศลอุทิศถวายพระบรมศพ

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ, สำนักงานผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร, กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ, กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์, กองพลที่ 1 รักษาพระองค์, กองพันทหารม้าที่ 3 รักษาพระองค์ฯ, หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก, หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน, หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง, กรมยุทธศึกษาทหารบก, นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายสมหมาย ภาษี อดีต รมว.กระทรวงการคลังและคณะ ร่วมเป็นเจ้าภาพ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน