เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อ.4022/2557 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายกิตติศักดิ์ หรือ อ้วน สุ่มศรี อายุ 47 ปี ชาวกรุงเทพมหานคร นายปรีชา หรือ ไก่เตี้ย อยู่เย็น อายุ 27 ปี ชาวจังหวัดเชียงใหม่ นายรณฤทธิ์ หรือ นะ สุริชา อายุ 36 ปี ชาวจังหวัดอุบลราชธานี นายชำนาญ หรือ เล็ก ภาคีฉาย อายุ 48 ปี ชาวกรุงเทพมหานคร และ นางปุนิกา หรือ อร ชูศรี อายุ 42 ปี ชาวกรุงเทพมหานคร เป็นจำเลยที่ 1-5 ตามลำดับ ในความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 มาตรา 4, 8 ทวิ 55, 72 และ 78 และข้อหาพาอาวุธปืนไปในเมือง ที่ชุมชนหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต

ตามฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 จำเลยทั้ง 5 กับพวกที่ยังหลบหนีและพวกที่ถึงแก่ความตายไปแล้ว ได้บังอาจร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน โดยร่วมกันพาอาวุธ เครื่องกระสุน และวัตถุระเบิด ที่สามารถใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินให้เกิดความเสียหายได้ อาทิ เครื่องยิงลูกระเบิด เอ็ม 79 ปืนเอ็ม 16 ปืนเอชเค 33 หรือ ปืนอาก้า ซึ่งนายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไปตามบริเวณแยกคอกวัว ถนนตะนาว ถนนประชาธิปไตย แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กทม. ซึ่งเป็นเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ทั้งในเวลาเกิดเหตุมีการชุมนุมกันของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งวัน เวลาเกิดเหตุ เจ้าพนักงานยึดได้อาวุธสงครามของกลาง กระทั่งวันที่ 11 กันยายน 2557 เจ้าพนักงานติดตามจับกุมพวกจำเลยทั้ง 5ส่งพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินคดี

โดยวันนี้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้เบิกตัวจำเลยที่ 1-4 มาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และเบิกตัวจำเลยที่ 5 มาจากฑัณสถานหญิงกลาง

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้ชุมนุมกันตั้งแต่ช่วงสะพานปิ่นเกล้า แยกคอกวัวไปจนถึงสะพานผ่านฟ้า โดยเมื่อเวลา 14.00 น. วันดังกล่าวทางการได้สั่งให้กำลังทหารเข้าขอคืนพื้นที่ ซึ่งระหว่างนั้นมีกลุ่มชายชุดดำสวมหมวกไหมพรม ซึ่งมีอาวุธยิงใส่กลุ่มเจ้าหน้าที่ กลุ่มผู้ชุมนุมและพลเรือน กระทั่งมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งหลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ไปตรวจที่เกิดเหตุพบเศษปลอกกระสุนเอ็ม 79 ปลอกกระสุนปืนกลเล็กขนาด 5.5 มม. ต่อมามีผู้แจ้งว่าพบรถยนต์ฮอนด้าสีขาวจอดไว้อยู่ที่บ้านริมน้ำนานผิดสังเกต กระทั่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบกระทั่งสืบทราบกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ทหารจึงได้ควบคุมตัวจำเลยทั้งห้าคนมาสอบถาม

โดยส่วนของนายกิตติศักดิ์ จำเลยที่ 1 นั้น โจทก์มีทหารม้าเป็นพยาน เบิกความว่า วันเกิดเหตุขับรถฮัมวี่พวงมาลัยซ้าย เพื่อพากำลังทหารไปในพื้นที่ตามคำสั่งสลายการชุมนุมและรอรับกลับ ระหว่างจอดรถรออยู่หัวรถหันไปทางกองทัพบก ท้ายรถหันมาทางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้เห็นรถตู้โตโยต้าสีขาวขับผ่านมา แล้วชะลอความเร็ว โดยมีชายคนหนึ่งผลักประตูรถเลื่อนออกมาแล้วตะโกนด่าพยาน ภายหลังทราบว่าเป็นจำเลยที่ 1

โดยระหว่างนั้นก็เห็นอาวุธปืนอยู่ในรถคันดังกล่าวด้วย แม้คำเบิกความของพยานดังกล่าวจะเป็นช่วงเวลารวดเร็วที่มองเห็นบุคคลซึ่งไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่ได้ความว่ารถตู้ได้ชะลอความเร็ว ประกอบกับพยานเป็นทหารน่าจะมีความสามารถพิเศษในการจดจำบุคคล ประกอบกับสอดคล้องกับคำเบิกความของพี่สาวของผู้ชุมนุมที่ใกล้ชิดจำเลยที่ 1 ระบุว่า นายกิตติศักดิ์ จำเลยที่ 1 มีอาชีพขับรถตู้รับจ้างเช่นเดียวกับน้องชาย ซึ่งเคยพากันไปชุมนุมหลายครั้ง ก่อนเกิดเหตุเห็นช่วยกันขนกระเป๋าสีดำจากรถยนต์ฮอนด้าสีขาว ที่จอดไว้บริเวณบ้านริมน้ำมายังที่ห้องพักโดยพยานเห็นปากกระบอกปืนโผล่ออกมาจากกระเป๋า จากนั้นก่อนไปชุมนุมได้ขนกระเป๋าและลังสีน้ำตาลใส่รถตู้สีขาว

เพื่อจะพาไปยังที่ชุมนุม จึงเห็นว่าพยานปากนี้คุ้นเคยกับจำเลยที่ 1 จึงไม่มีเหตุจะปรักปรำให้ต้องรับโทษ ส่วนที่อ้างว่าพยานถูกข่มขู่ ถ้าเป็นจริงพยานก็น่าจะเบิกความพาดพิงจำเลยคนอื่นๆด้วย นอกจากนี้ ยังมีเจ้าของรถตู้ที่เบิกความว่าจำเลยที่ 1ได้เช่ารถไปใช้ต่อ

ดังนั้นจึงสอดรับกับพยานที่เป็นทหาร ซึ่งได้ควบคุมตัวและบันทึกการสอบถามจำเลยทั้งห้าไว้ ซึ่งอ้างถึงคำรับสารภาพว่า มีการวางแผนจัดเตรียมอาวุธไปในที่ชุมนุมโดยจำเลยที่ 1 จะใช้อาวุธปืนเอ็ม 79 จำเลยที่ 2 จะใช้ปืนอาก้า จำเลยที่ 4 จะใช้ปืนเอ็ม 16 จำเลยที่ 5 ถือระเบิดเพลิง ส่วนจำเลยที่ 3 จะช่วยส่งอาวุธปืนให้

ส่วนที่นายกิตติศักดิ์ จำเลยที่ 1 อ้างว่ากล่องที่ขนไว้ในรถตู้เป็นอะไหล่ซ่อมรถนั้น เป็นเพียงการกล่าวอ้าง และที่ว่ารับสารภาพเพราะถูกข่มขู่นั้น ก็ไม่ปรากฏร่องรอยการถูกซ้อม ซึ่งพยานโจทก์ทุกปากให้การสอดคล้องกันกับภาพถ่าย, บันทึกการสอบถามผู้ต้องหาและบันทึกการนำชี้จุดที่เกิดเหตุ ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

สำหรับนายปรีชา จำเลยที่ 2 นั้น มีพยานเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นายที่แฝงตัวอยู่ในชุมนุม เบิกความว่าตามวันเวลาเกิดเหตุ มีกลุ่มชายชุดดำที่มีอาวุธปืนอาก้า เข้ามาในที่ชุมนุม ซึ่งการ์ด นปช.ได้ขอตรวจบัตร แต่กลุ่มชายชุดดำอ้างว่าไม่ได้นำมา จังหวะนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่แฝงตัวอยู่ในที่ชุมนุม จึงได้ถอดหมวกไหมพรมของหนึ่งในชายชุดดำออกก่อนที่จะยึดอาวุธปืน ก็พบว่าเป็นใบหน้าจำเลยที่ 2 แต่ขณะที่กำลังจะถอดหมวกไหมพรมชายชุดดำคนที่ยืนถัดไปได้เพียงครึ่งหน้า ก็ปรากฏว่าเกิดเหตุระเบิดขึ้นบริเวณที่ชุมนุม ทำให้ชายชุดดำดังกล่าววิ่งออกไป

ส่วนที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าไม่ได้ไปที่ชุมนุม แต่ไปรับจ้างเดินสายไฟที่อาคารศูนย์ราชการนั้น ก็ไม่ได้มีพยานบุคคลรวมทั้งสัญญาจ้างมากล่าวอ้าง ทั้งที่สามารถหาพยานบุคคลได้โดยง่าย และที่อ้างว่าภาพถ่ายจำเลยที่ 2 ขณะเปิดหมวกไหมพรมนั้นเป็นภาพตัดต่อ ก็ไม่ปรากฏข้อพิรุธในภาพถ่ายของโจทก์ ดังนั้น พยานโจทก์ที่นำสืบในส่วนของจำเลยที่ 1-2 จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าร่วมกันกระทำผิด

ส่วนจำเลยที่ 3-5 แม้โจทก์จะมีบันทึกคำให้การของจำเลยทั้งห้าในช่วงที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวและสอบถาม ซึ่งเคยรับว่าอยู่ในที่ชุมนุม แต่โจทก์ก็ไม่มีประจักษ์พยานอื่นใด รวมทั้งพยานแวดล้อมมานำสืบประกอบขณะที่จำเลย 3-5 ให้การปฏิเสธในชั้นศาล โดยจำเลยบางปากอ้างว่าขายข้าวไข่เจียวอยู่ ไม่อาจรับฟังได้ว่าระหว่างนั้นได้ครอบครองและใช้อาวุธปืน พยานหลักฐานโจทก์ยังมีเหตุสงสัยตามสมควร จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 3-5 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง

จึงพิพากษาว่า นายกิตติศักดิ์ จำเลยที่ 1 และนายปรีชา จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 8 ทวิ 55, 72, 78 ให้จำคุกคนละ 8 ปี และฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง ที่ชุมชน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 10 ปี ส่วนจำเลยที่ 3-5 นั้น พิพากษายกฟ้อง แต่ให้ขังไว้ระหว่างอุทธรณ์

นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ กล่าวภายหลังศาลมีคำสั่งพิพากษาว่า ในวันนี้ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลย 1-2 คนละ 10 ปี และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3-5 แต่ยังให้ขังไว้ระหว่างอุทธรณ์ อย่างไรก็ตามที่ศาลเรายังเห็นต่างในเรื่องการรับฟังพยานของศาลโดยเราจะใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ขอต่อสู้คดีต่อไป

ส่วนจำเลยที่ 3-5 ที่ศาลยกฟ้องแต่ยังให้ขังไว้ระหว่างอุทธรณ์นั้น ทางทีมทนายความจะใช้สิทธิยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวเพื่อให้จำเลยทั้ง 3 คนที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องได้ออกมาข้างนอกโดยไม่ต้องถูกขังรอระหว่างอุทธรณ์ ส่วนศาลจะให้ประกันตัวหรือไม่นั้นก็จะต้องลองยื่นคำร้องดูก่อน เนื่องจากในคดีนี้ศาลชั้นต้นเองก็ได้มีคำสั่งให้ยกฟ้องไปแล้ว แต่ที่ยังให้ขังไว้ระหว่างอุทธรณ์อาจเพราะยังเกรงว่าจำเลยจะหลบหนีระหว่างอุทธรณ์ อีกอย่างตนเชื่อว่าในคดีนี้ทางอัยการโจทก์จะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป

“ที่ผ่านมาในชั้นพิจารณาเราเคยยื่นประกันจำเลยทั้งหมดไป 3 ครั้งแต่ไม่ได้รับการประกันตัว และในชั้นอุทธรณ์เราก็จะยังขอใช้สิทธิยื่นประกันตัวจำเลยทั้งหมดอีก คาดว่าการยื่นประกันตัวจำเลยที่ 1-2 ที่ศาลสั่งจำคุกอาจจะต้องเพิ่มหลักทรัพย์ยื่นประกอบการพิจารณาหลักล้านบาท” นายวิญญัติ กล่าว

นายธำรง หลักแดง ทนายความจำเลยที่ 3 และ 4 กล่าวว่า หลังจากนี้จะเตรียมหลักทรัพย์ยื่นขอปล่อยชั่วคราวจำเลย 3-5 ที่ศาลสั่งให้ขังไว้ระหว่างอุทธรณ์ โดยมูลค่าหลักทรัพย์จะเริ่มตั้งแต่ 6 แสนบาทที่เคยเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ ซึ่งเคยยื่นตั้งแต่ชั้นพิจารณาคดี หรืออาจจะเพิ่มหลักทรัพย์สูงสุดอีกเท่าตัวเป็นหลักล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน