กอ.รมน.ภาค 4 สน. เตือน อย่าเชื่อ ‘ข่าวลวง’ ยัน พระ 388 วัดใน จชต. ยังบิณฑบาตตามปกติ

ยังบิณฑบาตตามปกติ – เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 21 ม.ค. ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า จากกรณีที่กลุ่มผู้ไม่หวังดีได้ปล่อยข่าวลือและข่าวลวง เป็นคลิปเสียงและข้อความ เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ ที่ทำให้เชื่อว่ากลุ่มคนร้าย เตรียมการก่อเหตุในพื้นที่ โดยภายหลังคลิปเสียงและข้อความดังกล่าวแพร่หลาย ได้สร้างความตื่นตระหนกหวาดกลัว ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนอย่างกว้างขวาง

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

ในการนี้ แม่ทัพภาคที่ 4 ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้สั่งการให้หน่วย ทำการตรวจสอบข่าวดังกล่าว ในเบื้องต้น พบว่าเป็นข่าวลวง ที่มีเจตนาให้เกิดความวุ่นวาย และตื่นตระหนก ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสืบค้น ขยายผลไปยังตัวบุคคล ผู้ผลิต และปล่อยข่าวมาลงโทษตามกระบวนการทางกฎหมาย

“ในช่วงที่ผ่านมา นอกจากกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงพยายามสร้างสถานการณ์ ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีกลุ่มผู้ไม่หวังดี ที่ฉกฉวยโอกาส ซ้ำเติมสถานการณ์ด้วยการปลุกระดม และปล่อยข่าวลือ เพื่อให้เกิดความตื่นตระหนก หวาดกลัว เกิดความปั่นป่วน และความวุ่นวายในพื้นที่ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าว ผิดกฎหมายอาญา ตามมาตรา 116 ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง” มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี สำหรับผู้ที่แชร์ข้อมูลต่อ หากพบว่า มีเจตนากระทำด้วยความจงใจ ก็จะเข้าข่ายกระทำความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 มีอัตราโทษจำคุก ไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้การแจ้งเตือนข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อเหตุรุนแรง จะต้องเป็นข่าวที่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานความมั่นคงของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าเท่านั้น ดังนั้นหากพบข่าวลักษณะดังกล่าว ขออย่าได้ตื่นตระหนก และให้มีการสอบถามเจ้าหน้าที่ให้ได้ข้อสรุปก่อนแชร์ หรือส่งต่อ” พ.อ.ปราโมทย์ กล่าว

โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยังกล่าวอีกว่า หลังจากเกิดเหตุคนร้ายยิงพระสงฆ์ในพื้นที่ จ.นราธิวาส มาตรการในการดูแลเป้าหมายอ่อนแอในพื้นที่ ก็ได้ปรับเปลี่ยนมาตรการการรักษาความปลอดภัย เหตุการณ์ในครั้งนี้ถือเป็นบทเรียน เพราะที่ผ่านมาในการดูแลความปลอดภัย บางครั้งจะต้องสอบถามว่าต้องการหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อเหตุการณ์เบาบางลง ทางกลุ่มเป้าหมายอ่อนแอ ก็จะเกรงใจเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ท่านแม่ทัพภาค 4 ได้สั่งการให้ไปทำการสำรวจชุมชนล่อแหลม เป้าหมายเชิงสัญลักษณ์ วัด และสำนักสงฆ์ ทั้ง 388 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องมีการวางแผนในการรักษาความปลอดภัย ทุกวัดจะต้องมีเจ้าหน้าที่ ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร กำลังภาคประชาชน จะต้องมาดูแล อย่างน้อย 1 ชุดปฎิบัติการ เพื่อดูแลความปลอดภัย

ส่วนข่าวลือเรื่องงดบิณฑบาต ก็ไม่เป็นเรื่องจริง ท่านแม่ทัพภาค 4 ไม่เคยสั่ง ท่านสั่งเพียงแค่ให้ไปวางระบบรักษาความปลอดภัย ในขณะที่บิณฑบาต ซึ่งจะห้ามไม่ได้ เพราะเป็นกิจของสงฆ์ และเป็นความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ทำเพียงแค่การวางระบบในการดูแลรักษาความปลอดภัย ยกเว้นบางพื้นที่ ถ้าเป็นข้อตกลงของคณะกรรมการวัด หรือเป็นข้อสั่งการจากสำนักพุทธ ก็คงจะไปห้ามไม่ได้ และก็จะมีการจัดภัตตาหารไปถวายให้ที่วัด แต่ขณะนี้ทั้ง 388 วัด พระยังคงออกบิณฑบาตตามปกติ

ซึ่งที่จังหวัดยะลา พล.ต.ต.กฤษฎา แก้วจันดี ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในแต่ละพื้นที่ที่มีพระสงฆ์ เพิ่มความเข้มงวด และเพิ่มกำลังดูแลความปลอดภัย ในส่วนของพระสงฆ์ในพื้นที่รอบนอก และพื้นที่สุ่มเสี่ยง ได้ปรับเปลี่ยนให้รับบิณฑบาตที่วัด โดยมีประชาชนนำสิ่งของอาหาร ไปทำบุญตักบาตรกันที่วัด เพื่อความปลอดภัยของพระสงฆ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน