จับแล้ว! มือ เผาป้าย พลังประชารัฐ อ้างแวะจอดฉี่ เมาแล้วอยากจุดไฟ

เผาป้าย / เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 6 ก.พ. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ วงษ์ปิ่น ผบช.น. เปิดเผยว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ราษฎร์บูรณะ ได้ทำการจับกุมผู้ต้องหาที่ก่อเหตุเผาทำลายป้ายหาเสียงพรรคพลังประชารัฐได้แล้ว

จากการที่ได้รับรายงานทางการสืบสวนทราบว่า ผู้ที่กระทำการเผาป้ายดังกล่าวได้ทำการดื่มสุรามาแล้วทางผ่านจอดรถทำธุระส่วนตัวก็เห็นป้ายขณะมึนเมาจึงทำการเผาทำลาย

รวมถึงพื้นที่สน.ลาดพร้าวก็เช่นกันเพิ่งสามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้แล้ว มีอาการมึนเมาขณะก่อเหตุด้วยเช่นกัน ยังอยู่ระหว่างการขยายผลความเชื่อมโยงต่างๆ ในกรณีการเกิดเหตุในพื้นที่ สน.ลาดพร้าว

“จากการสอบสวนขยายผลเพิ่มเติมพบว่าการกระทำดังกล่าวไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่อย่างใด หากเมาแล้วเผาทำลายป้าย หากใช้เป็นเหตุผลก็จะต้องถูกดำเนินคดีข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ส่วนเหตุผลว่าจะเป็นคำอ้างอย่างไรนั้นอาจพูดลำบาก แต่ผู้กระทำความผิดจะถูกดำเนินคดีตามข้อกฎหมายที่กำหนดอย่างแน่นอน” ผบช.น. กล่าว

เมื่อถามว่าพรรคการเมืองต่างๆ ที่ติดตั้งป้ายเป็นจำนวนมากมีการกีดขวางการจราจรนั้น พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ กล่าวว่า ตามระเบียบมีการกำหนดไว้ชัดแจ้งว่าห้ามติดตั้งป้ายกีดขวางการจราจรและจะละเมิดกฎหมายไม่ได้อยู่แล้ว ตนมั่นใจว่าทุกพรรคการเมืองมีความรู้กรณีดังกล่าวอยู่แล้ว เพราะถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่พรรคการเมืองจะต้องระมัดระวังตัวเองอยู่แล้ว

ส่วนการติดตั้งป้ายทับซ้อนกันทางสำนักกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็มีระเบียบกำหนดไว้อยู่แล้ว กรณีมีป้ายตั้งอยู่แล้วนำป้ายของตนไปปิดทับก็ถือเป็นความผิด เป็นหน้าที่ของกกต.ที่ต้องดำเนินการตามระเบียบ

เมื่อถามว่าการข่าวข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวช่วงเลือกตั้งนั้น พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ กล่าวว่า เวลานี้ยังไม่มีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้น เหตุที่เกี่ยวข้องอาทิเช่น การเผาป้าย ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็สามารถจับกุมตัวได้ หรือมีกลุ่มอิทธิพลหรือกลุ่มมือปืนเข้ามาทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม ขณะนี้นั้นยังไม่มีเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวแต่อย่างใด

การดูแลผู้สมัครหาเสียงนั้น ภายหลังจากที่ได้มีการประชุมร่วมกันว่ามีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งออกมาแล้วขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจของเราวางตัวเป็นกลาง ดูแลกลุ่มผู้สมัครทุกพรรคให้เท่าเทียมกัน สิ่งที่บอกคือข้าราชการตำรวจต้องเป็นการทุกคนเข้าใจอยู่แล้วไม่ต้องให้ขยายผลคำว่ากลางของตำรวจเป็นอย่างไร

ต่อข้อซักถามว่า กรณีที่มีผู้สมัครเห็นว่ามีความสุ่มเสี่ยงจะสามารถร้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจคุ้มกันนั้น พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ กล่าวว่า สามารถทำได้แต่ต้องมีหลักการและเหตุผล ถ้าทุกพรรคบอกว่าตัวเองเสี่ยงทั้งหมดมีการร้องขอไป 10-20 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็แย่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการร้องขอเจ้าหน้าที่ตำรวจไปดูแลผู้สมัครตามพรรคต่างๆ แต่อย่างใด และยังไม่มีพื้นที่ใดที่น่าหนักใจที่จะต้องดูแล

เกาะติดข่าวการเมืองข่าวเลือกตั้ง แค่กดเป็นเพื่อนกับไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน