สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งแก่นายกฯ จัดพระราชพิธีฯ ให้ประหยัด-ไม่หรูหราเกิน

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 1 มี.ค. ที่ห้องประชุม 1 อาคารหอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แถลงข่าวงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 1/2562 โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการฝ่ายพิธีการ เป็นประธาน และมี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และนางทัศนีย์ ผลชานิโก รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ร่วมแถลงข่าว

นายวิษณุ กล่าวว่างานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่กำลังจะมีขึ้นในอีกประมาณ 1 เดือนข้างหน้านี้ ถือว่าเป็นพระราชพิธีสำคัญยิ่งใหญ่เป็นอันดับที่ 2 รองจากพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เนื่องจากไม่ต้องมีการก่อสร้างถาวรวัตถุใด เพียงแต่นำโบราณวัตถุเดิมที่มีอยู่มาบูรณะซ่อมแซมใหม่ ส่วนใหญ่หนักในเรื่องของขั้นตอนพิธีซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์ตามโบราณพระราชประเพณี แบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา ได้แก่ พระราชพิธีเบื้องต้น เบื้องกลาง และเบื้องปลาย เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติใหม่ๆ มีพระราชกระแสรับสั่งแก่นายกรัฐมนตรีว่า ถึงอย่างไรพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็จะต้องจัดขึ้นอยู่ดีไม่วันใดก็วันหนึ่ง แต่ขอให้จัดเพียงตามโบราณราชประเพณีเท่านั้น อย่าสร้างเสริมเติมแต่งอะไรขึ้นใหม่ให้หรูหราหรือมากเกินไปกว่าที่เป็นพระราชประเพณีเดิม ให้ทำโดยรวบรัดถ้าสามารถรวบรัดได้ และขอให้ทำโดยคำนึงถึงความประหยัดเป็นหลักที่รัฐบาลรับใส่เกล้าใส่กระหม่อมมาโดยตลอดในการจัดงานครั้งนี้

“สำหรับฝ่ายจัดพิธีการจะต้องเตรียมการต่างๆ ซึ่งขณะนี้คืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 80 ดังนี้ 1. เตรียมเรื่องตราสัญลักษณ์ ซึ่งจะใช้ประทับลงบนคนโทน้ำศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงมอบให้กทม.นำไปประดับตกแต่งสถานที่และเส้นทางเสด็จฯ ตลอดจนธงพระราชพิธีที่มีพื้นสีเหลืองและตราสัญลักษณ์อยู่ตรงกลาง และจัดทำเป็นเข็มที่ระลึก ซึ่งจะจัดทำเป็นเข็มพระราชทานแก่ข้าทูลละอองธุลีพระบาท และสำนักนายกรัฐมนตรีจะขอพระราชทานพระราชานุญาตนำไปจัดทำเป็นเข็มที่ระลึกเพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป เรื่องโปรดเกล้าฯ ขอพระราชทานตราสัญลักษณ์นี้ เบื้องต้นทราบว่าขณะนี้พระราชทานโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว คาดว่าภายใน 1-2 วันนี้หนังสือจะมาถึงรัฐบาล

2.เตรียมเลือกพระบรมฉายาลักษณ์เพื่อใช้ให้เหมือนกันทั้งประเทศ 3. ตระเตรียมน้ำสำหรับใช้สรงมุรธาภิเษก โดยจะมีพิธีพลีกรรมวันที่ 6 เม.ย. 4. เตรียมน้ำศักดิ์สิทธิ์จากทุกจังหวัดสำหรับใช้เป็นน้ำอภิเษก จะมีพิธีตักน้ำจากแหล่งศักดิ์สิทธิ์พร้อมกันในวันที่ 6 เม.ย. โดยวันที่ 8-9 เม.ย. จะเชิญน้ำไปจัดเก็บในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละจังหวัด จากนั้นแต่ละจังหวัดจะเชิญไปเก็บไว้ที่ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยจัดเก็บในคนโทตราสัญลักษณ์

5.ตระเตรียมเครื่องมือเครื่องใช้แผ่นทองคำสำหรับใช้จารึกพระสุพรรณบัฏแกะดวงพระราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกร 6. เครื่องมือเครื่องใช้ก่อสร้างพระมณฑปพระกระยาสนาน ซ่อมเกย สำหรับเสด็จลงเสลี่ยงหรือพระราชยานก้าวลงประทับแล้วเสด็จฯ เข้าสู่พระอุโบสถ 7. การเตรียมเกี่ยวกับกระบวนพยุหยาตรา ซึ่งในทางสถลมารคจะใช้ระยะเวลาทั้งหมด 4 ชั่วโมงครึ่ง ฝ่ายทหารเตรียมการในส่วนนี้แล้ว ส่วนทางชลมารคซึ่งจะมีช่วงปลายเดือนต.ค. โดยใช้เรือในพระราชพิธี ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง 4 องค์ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุรรณบรรณ ในรัชกาลที่ 9 และเรือพระราชพิธีอีก 48 ลำ ใช้ฝีพายจำนวน 2,200 นาย โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคจะเริ่มที่ท่าวาสุกรีไปยังวัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร และจะมีการเห่เรือตลอดเส้นทาง ระยะทาง 4 ก.ม.

 

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

ที่สำคัญคือการประชุมตระเตรียมคัดเลือกบุคคลที่จะเข้าเฝ้าฯ ทูลละอองธุลีพระบาทในพิธีต่าง ๆ อาทิ พิธีในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พิธีในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พิธีในพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย พิธีเสด็จออกมหาสมาคมที่พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท และภายในพระอารามหลวงทั้ง 3 แห่ง เพราะประชาชนทุกหมู่เหล่าล้วนอยากมีส่วนร่วมในพิธีสำคัญดังกล่าว ขณะเดียวกันมีข้อจำกัดด้านสถานที่ อาจต้องผลัดเวรกัน

นอกจากนี้วันที่ 6 พ.ค. เสด็จออกสีหบัญชร ประชาชนสามารถเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคลได้ที่ถนนสนามไชย สวนสราญรมย์ ศาลฎีกา ไปจนถึงสนามหลวง คาดว่าจะมีประชาชนนับแสนนับล้านร่วมเฝ้าชื่นชมพระบารมี กรุงเทพมหานครจะติดตั้งจอแอลอีดีเพื่อให้ประชาชนรับชมการถ่ายทอดสดอย่างพร้อมเพรียงกัน หลังจากนี้ จะเสด็จรับคณะทูตถวายพระพรชัยมงคล ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นการเสร็จพระราชพิธีเบื้องกลาง ส่วนเรื่องการเชิญพระราชอาคันตุกะตรงนี้ตกลงกันว่าจะไม่มีการเชิญ เพราะพระองค์ท่านตรัสว่าไม่อยากให้รบกวน แต่หากประเทศใดจะเดินทางมาให้แจ้งความประสงค์มา จะถือเป็นแขกของรัฐบาล เราจะดูแลต้อนรับอำนวยความสะดวกอย่างดี” นายวิษณุกล่าว

นายวิษณุกล่าวอีกว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแนะนำให้ระมัดระวังเรื่องการเคลื่อนย้ายผู้คนระหว่างพิธีต่างๆ เนื่องด้วยพระราชวงศ์หลายพระองค์ รวมทั้งบุคคลสำคัญต่างๆ หลายท่านเป็นผู้สูงอายุ การเดินจากที่หนึ่งไปยังที่หนึ่งเป็นการเปลี่ยนจุดที่ละเอียดอ่อน จะต้องเป็นฝ่ายรอเฝ้าฯ ก่อน หรือตามไปเฝ้าฯ ทีหลัง ต้องได้จังหวะจะโคนที่พอดี จึงเตรียมการในเรื่องนี้แล้วซึ่งอาจใช้วิธีแบ่งคนออกเป็นชุดอยู่ตามจุดต่างๆ หากอยู่จุดใดแล้วก็ไม่ต้องเคลื่อนย้าย

“พระราชพิธีครั้งนี้รัฐบาลตั้งงบไว้ 1,000 ล้านบาท จะนำมาใช้อย่างเป็นประโยชน์ ใช้ไปแล้วจะอยู่คงทนถาวร ไม่สิ้นเปลือง เช่นการปรับปรุงเส้นทางต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต เช่นจะนำสายไฟลงดินในพื้นที่ 7 กิโลเมตรที่เป็นเส้นทางเสด็จฯ การซ่อมแซมเรือในพระราชพิธีที่เราไม่ได้ซ่อมมากว่า 10 ปี” ประธานกรรมการฝ่ายพิธีการกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน