กรณีคณะทำงานพิเศษฝ่ายกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แจ้งความดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) รวม 19 คน ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังจากแถลงข่าวเปิดตัวศูนย์ปราบโกงประชามติ ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ส.ค. แกนนำนปช. ทั้งหมด 19 คน ก็เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามที่เคยเป็นข่าวไปแล้วนั้น

201609261019511-20030315182420

ความคืบหน้า เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 26 ก.ย. ที่กองปราบปราม นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. พร้อมด้วย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการนปช., นางธิดา ถาวรเศรษฐ, จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ, นพ.เหวง โตจิราการ, นายนิสิต สินธุไพร, นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ, นายยงยุทธ ติยะไพรัช, นายก่อแก้ว พิกุลทอง, นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์, นายสงคราม กิจไพโรจน์, นายสมหวัง อัศราศี, นายยศวริศ ชูกล่อม, นายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ์, นายเกริกมนตรี รุจโสตถิรพัฒน์, นายอารี ไกรนรา, นายสมชาย ใจมุ่ง, นายพรศักดิ์ ศรีละมุด และนายศักดิ์รพี พรหมชาติ รวม 19 คน ได้เดินทางเข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวน

นายจตุพร กล่าวว่า ได้ยื่นคำร้องเพื่อขอให้พนักงานสอบสวน สอบปากคำพยานเพิ่มอีก 8 ปาก อาทิ นายอุดม มั่งมีดี นายมานิตย์ จิตจันทร์กลับ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา นายชูศักดิ์ ศิรินิล อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง พล.ต.อ.วิฬุรห์ พื้นแสง นายชัยเกษม นิติศิริ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายโภคิน พลกุล และ นอ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ แต่หากไม่ได้รับอนุญาต ตนเองกับพวกก็ต้องถูกนำตัวส่งอัยการศาลทหาร เพื่อพิจารณาสั่งคดี ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นก็ต้องไปยื่นคำร้องเพื่อขอความเป็นธรรมต่ออัยการศาลทหารด้วย เนื่องจากเห็นว่าก่อนหน้า คสช.ไม่มีคำสั่งห้าม แต่หลังจากเปิดศูนย์ดังกล่าวไปแล้วกลับมีคำสั่งห้าม

ต่อมาเวลา 11.00 น. หลังเข้าพบพนักงานสอบสวนแล้ว นายจตุพร ก็ออกมา เปิดเผยว่า ได้รับการอนุญาตให้นำพยานบุคคล 8 ปาก เข้ามาให้ข้อมูลได้ ภายในเวลา 15 วันหลังจากนี้ นอกจากนี้ ก็ยังนัดให้ตนกับพวกเข้ารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 17 ต.ค.นี้ ซึ่งหากพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้อง ก็จะส่งตัวให้อัยการทหารพิจารณาสั่งคดีต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน