พม.ย้ำสูบบุหรี่ในบ้านไม่ได้ผิด กม. แต่หากเกิดอันตรายต่อสุขภาพคนในบ้าน สามารถเอาผิดฐานใช้ความรุนแรงในครอบครัวได้ รวมถึงการกระทำอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดอันตรายสุขภาพ เช่น ดื่มเหล้า เสพยา สามารถสั่งปรับพฤติกรรมได้

วันนี้ (21 มิ.ย.) นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงกรณีการสูบบุหรี่ภายในบ้านถือเป็นความรุนแรงในครอบครัวสามารถเอาผิดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 ส.ค.นี้ ว่า

กฎหมายฉบับใหม่นี้มีสาระสำคัญเพื่อแก้ไขป้องกันปัญหาความรุนแรงในครอบครัว นอกจากจะระบุถึงความรุนแรงทางกายซึ่งผิดกฎหมายอาญา ยังมีถ้อยคำว่า หรือการกระทำที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งตีความได้มากมาย เช่น พ่อดื่มเหล้าอาละวาดจนลูกไม่ได้นอนหลับพักผ่อน จนทำให้ป่วย การใช้งานเด็กมากเกินไปจนเป็นเหตุให้ป่วย และการสูบบหรี่ในบ้าน ซึ่งมีผลกระทบให้คนใกช้ชิดได้รับควันบุหรี่มือสอง และเกิดการเจ็บป่วย ทั้งหมดล้วนจัดเป็นความรุนแรง

“ถ้าคนข้างบ้านเห็นพฤติกรรมแบบนี้ก็สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อให้เข้าไปตรวจสอบ และส่งให้แพทย์พิจารณาว่าเป็นความเจ็บป่วยที่เกิดจากการกระทำของคนในบ้านหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่า มีข้อมูลจริงว่ามีผู้ป่วยจากพิษของบุหรี่ เช่น มะเร็งปอด ทั้งนี้ หากแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเกิดจากบุหรี่จริงก็จะมีการส่งฟ้องศาลเพื่อพิจารณา อาจจะเป็นการสั่งให้ปรับพฤติกรรม หรือจำกัดบริเวณการสูบ เป็นต้น หากไม่ปฏิบัติตามก็จะมีการลงโทษที่แรงขึ้น” นายเลิศปัญญา กล่าว

เมื่อถามว่าจำเป็นต้องมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้นจริงๆ ก่อน ถึงจะดำเนินการตามกฎหมายได้ถือเป็นช่องว่างหรือไม่ นายเลิศปัญญา กล่าวว่า ต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยก่อน แต่จริงๆ กฎหมายนี้เป็นคุณ เพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้คนในครอบครัวกระทำการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของสมาชิกในครอบครัว และเนื่องจากเป็นเรื่องภายในครอบครัว

เราเองคงไม่สามารถที่จะไปสั่งห้ามไม่ให้เขาสูบบุหรี่ในบ้านตัวเองได้ จึงไม่น่าจะเป็นลักษณะของการรุกเข้าไป อย่างไรก็ตาม หากเจ้าหน้าที่พบเห็นการกระทำที่เสี่ยงเช่นนี้สามารถเข้าไปพูดคุย ทำความเข้าใจให้เห็นถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น และให้ความรู้เรื่องการปรับพฤติกรรมได้ แต่ถ้าเมื่อไรที่คนในบ้านเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ และแพทย์ให้การวินิจฉัยว่าเกิดจากบุหรี่จริง ก็จะสามารถดำเนินการตามกฎหมายได้

“หลังจากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 ส.ค. นี้ จะมีการตั้งศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว โดยปรับการทำงานจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเข้ามาทำตรงนี้ โดยมีการวางแผนการทำงานร่วมกันในระดับจังหวัด ดูแล เข้มงวดทั้งเรื่องของสุรา ยาสูบ ยาเสพติด ในพื้นที่ด้วย” นายเลิศปัญญา กล่าวและว่า ขอย้ำว่าการสูบบุหรี่ในบ้านไม่ได้เป็นการกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ได้เป็นการออกกฎหมายเพื่อห้ามสูบบุหรี่

แต่หากเป็นการทำให้เกิดอันตรายต่อคนในครอบครัวหรือคนในบ้าน จึงจะเข้าข่ายกระทำความผิดเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ดังนั้น การสูบบุหรี่ในบ้านที่อาศัยอยู่เพียงคนเดียวก็ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แต่หากพิสูจน์ได้ว่าคนในครอบครัวเกิดอันตรายต่อสุขภาพที่เกิดจากการสูบบุหรี่จริง จึงสามารถเอาผิดและสั่งแก้ไขพฤติกรรมได้


 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน