เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 22 มี.ค. ที่ศูนย์บริการร่วม กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ทนายความ ประธานเครือข่ายต่อต้านการบ่อนทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พร้อมด้วยครอบครัวของน.ส.สุกฤตา สุภานิล หรือ น้องจูน พนักงานราชการประจำค่ายธนะรัตชต์ ที่ถูกอดีตแฟนหนุ่มนายทหารยศร้อยตรี อายุ 24 ปี ทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัสต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลกว่า 3 เดือน และได้แจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สภ.สามร้อยยอด แต่คดีไม่มีความคืบหน้า เดินทางเข้าพบนายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอให้มีการคุ้มครองพยานในคดีนี้ เนื่องจาก.ส.สุกฤตา และน.ส.สุนทรี เถาวัลย์ แม่ของน้องจูน ถูกคุกคาม และมีการพยายามจะแก้สำนวนการสอบสวน เพื่อลดโทษและบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดี พร้อมทั้งขอให้ช่วยเหลือเยียวยาด้วย

อ่านข่าว ‘หมวดแบงค์’ โผล่มอบตัวรับซ้อมเมียจริง ปัดข้อหาพยายามฆ่า คุมตัวส่งศาลทหาร (คลิป)

นายสงกานต์ กล่าวว่า สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อเดือนก.ค.2559 และหลังเกิดเหตุ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คู่กรณีโทรศัพท์ข่มขู่ผู้เสียหายให้เปลี่ยนคำให้การ ซึ่งน.ส.สุกฤตาเกรงว่ามารดาจะได้รับความเดือดร้อน จึงเข้าให้การกับพนักงานสอบสวนใหม่ว่ามีคนทำร้ายเพียงคนเดียว ทั้งที่ข้อเท็จจริงที่ให้ปากคำไว้ก่อนหน้านี้คือมีคนทำร้ายหลายคน และตนเห็นว่าจุดเกิดเหตุอยู่ห่างจากปากซอยถึง 20 กิโลเมตร จึงไม่เชื่อว่าจะมีผู้ก่อเหตุเพียงคนเดียว

ทั้งนี้ ในวันที่ 23 มี.ค.นี้ ตนพร้อมผู้เสียหายจะเข้าพบพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร. เพื่อขอให้ตรวจดีเอ็นเอของน.ส.สุกฤตา ก่อนนำไปเปรียบเทียบกับอาวุธปืนที่คาดว่าเป็นอาวุธก่อเหตุ อีกทั้งทราบว่าคู่กรณีเข้ามอบตัวกับตำรวจและได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวด้วยหลักทรัพย์ 400,000 บาท

ด้าน นางสุนทรี กล่าวว่า ตนมีลูกสาวเพียงคนเดียว ตอนนี้เหมือนตายแล้วเกิดใหม่ ที่ผ่านมาไม่กล้าใช้โทรศัพท์เพราะถูกข่มขู่ ในลักษณะที่มีการอ้างว่ามีกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ หากไม่แก้คำให้การจะฟ้องหมิ่นประมาทเรียกค่าเสียหาย 5-6 ล้านบาท ตนและน้องจูนขอขอบคุณโรงพยาบาลที่ช่วยเหลือ และหากช่วยศัลยกรรมให้กลับมาเหมือนเดิมได้จะเป็นพระคุณมาก

นายธวัชชัย กล่าวว่า เบื้องต้นจะรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไว้พิจารณาก่อน ส่วนเรื่องของการขอเข้าโครงการคุ้มครองพยานนั้น เบื้องต้นพบว่ายังไม่เข้าข่ายในการโครงการดังกล่าว เนื่องจากผู้ก่อเหตุยังไม่มีพฤติกรรมข่มขู่เอาชีวิต ซึ่งหากพบว่ามีการข่มขู่เอาชีวิต ก็จะต้องดำเนินการพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้งว่าต้องเข้าโครงการคุ้มครองพยานในระดับใด โดยมี 2 ระดับ คือ 1.ที่ให้การคุ้มครองดูแลความปลอดภัยทั่วไป และ 2.ระดับสูงสุด คือต้องห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ และต้องอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับเงินช่วยเหลือเยียวยานั้น ได้ประสานให้รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเข้ามาช่วยเหลือในการนำเรื่องเข้าที่ประชุมเร่งด่วน ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุปผลการดำเนินการได้โดยเร็ว ส่วนจะช่วยเหลือในวงเงินเท่าไหร่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ ต้องรอดูผลการพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน