หมอเตรียมผ่าพิสูจน์ซากเต่าออมสิน หาค่าโลหะหนักจากอวัยวะภายใน ก่อนสตัฟฟ์มอบทช.นำจัดแสดงเตือนใจอย่าทำบุญได้บาป เตรียมช่วยเต่าอีก 20-23 ตัวเชื่อมีเหรียญในท้อง เหตุมาจากบ่อเดียวกับออมสิน สัตวแพทย์ตั้ง “กองทุนช่วยเหลือชีวิตสัตว์น้ำ” ระดมทุนซื้อกล้องเอ็นโดรสโคปช่วยชีวิตสัตว์น้ำ

เมื่อวันที่ 22 มี.ค. สพ.ญ.นันทริกา ชันซื่อ ผอ.ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการดำเนินการภายหลังเต่าออมสินตายลง ว่า จากนี้ทีมสัตวแพทย์จะผ่าพิสูจน์เต่าออมสินอย่างละเอียด เพื่อหาค่าโลหะหนักจากการกินเหรียญที่สะสมอยู่ในตับ ไต และอวัยวะภายใน เพื่อนำกลับมาคำนวณเปรียบเทียบกับปริมาณโลหะหนักที่สะสมอยู่ในเลือดของเต่าออมสิน เมื่อได้ผลการวัดค่าโลหะหนักนี้แล้วอย่างชัดเจนแล้ว ก็จะนำผลที่ได้นี้ไปช่วยเหลือเต่าตนุตัวอื่นที่อยู่ร่วมบ่อกับเต่าออมสิน ซึ่งทราบว่าเวลานี้ยังมีอีกหลายตัวรักษาและดูแลอยู่ที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ภาคตะวันออก จ.ระยอง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องเจาะเลือดนำมาตรวจหาค่าโลหะหนัก เพื่อช่วยชีวิตเต่าเหล่านี้ต่อไป โดยจะดำเนินการร่วมกับ น.สพ.วีรพงษ์ เหล่าเวชประสิทธิ์ สัตวแพทย์ประจำศูนย์วิจัยทรัพยากรฯ

สพ.ญ.นันทริกา กล่าวอีกว่า หลังจากผ่าพิสูจน์อย่างละเอียดแล้ว จะมีการสตัฟฟ์ซากเต่าออมสิน พร้อมเหรียญที่นำออกมาจากตัวเต่า เพื่อส่งมอบให้ศูนย์วิจัยทรัพยากรฯ นำไปจัดแสดงเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงเต่าออมสิน และเพื่อเป็นสิ่งเตือนใจและรณรงค์กับประชาชน ในเรื่องการโยนเหรียญลงในบ่อหรือกรงสัตว์เพราะความเชื่อผิดๆ โดยได้หารือในการทำงานร่วมกับกับนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่ง และป่าชายเลน ทช.ไว้แล้ว จากนี้จะทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ และคาดว่าจะส่งมอบเต่าออมสินสตัฟฟ์ให้ทช.นำไปจัดแสดงได้ในต้นเดือนเม.ย.นี้

ด้าน น.สพ.วีรพงษ์ กล่าวว่า เต่าที่อยู่ในบ่อเดียวกับเต่าออมสิน มีทั้งหมด 20-23 ตัว ส่วนมากเป็นเพศเมีย โดยมีที่มาจากบ่อในสวนสาธารณะเกาะลอย อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เช่นเดียวกับเต่าออมสิน เวลานี้กำลังหารือกับ สพ.ญ.นันทริกาและทีมสัตวแพทย์ท่านอื่นๆ ว่าจะดำเนินการอย่างไรในการตรวจรักษา เพราะคาดว่าเต่าทุกตัวกลืนเหรียญเข้าไปในท้องเหมือนกัน แต่คงกลืนเข้าไปน้อยกว่าเต่าออมสิน ที่แสดงอาการออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน

ผู้ข่าวรายงานว่า ทั้งนี้เฟซบุ๊ก Nantarika chansue ของสพ.ญ.ได้ตั้ง “กองทุนช่วยเหลือชีวิตสัตว์น้ำ” โดยเปิดหมายเลขบัญชีเพื่อขอรับบริจาคเงินเพื่อจัดซื้อกล้องเอ็นโดรสโคป ที่ใช้วิธีส่องกล้องเข้าไปภายในแล้วนำสิ่งแปลกปลอมออกมา โดยไม่ต้องใช้วิธีการผ่าตัด ซึ่งมีประชาชนสนใจบริจาคเงินจำนวนมาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน