เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 31 มี.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รอง ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.อ.สุวิระ ทรงเมตตา ที่ปรึกษา (สบ 10) นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง พล.ต.ต.สุทิน ทรัพย์พ่วง ผบก.ป. พล.ต.ต.ประเสริฐ พัฒนาดี ผบก.ปคบ. และ พล.ต.ต. อังกูร คล้ายคลึง ผบก.สท. ร่วมแถลงข่าวการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน

พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ กล่าวว่า มาตรการในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามมติคณะรัฐมนตรี ว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้สั่งการให้กองบัญชาการตำรวจภูธรภาคทั่วประเทศ รวบรวมรายชื่อผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบทั่วประเทศภายในวันที่ 1-10 เม.ย. เพื่อขออนุมัติหมายค้น หาหลักฐานในการดำเนินคดี เพื่อขจัดหนี้นอกระบบที่เก็บดอกเบี้ยสูงเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และเรียกเก็บดอกเบี้ยด้วยวิธีที่ไม่ถูกกฎหมาย หรือใช้การคุกคามข่มขู่ลูกหนี้ หลังพบมีประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้นอกระบบขึ้นทะเบียนดำเนินธุรกิจปล่อยกู้นอกระบบ ได้ใน 2 รูปแบบ คือนาโนไฟแนนซ์ ที่ต้องมีทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ปล่อยกู้ได้ทั่วประเทศ แต่ปล่อยกู้ได้คนละไม่เกิน 100,000 บาท อีกรูปแบบคือพิโกไฟแนนซ์ หรือสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด ใช้เงินทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ปล่อยกู้ได้คนละไม่เกิน 50,000 บาท ภายในจังหวัดที่ขึ้นทะเบียน ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบ สามารถคิดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกิน ร้อยละ 3 บาทต่อเดือน หรือร้อยละ 36 ต่อปี แต่หากไม่ขึ้นทะเบียนจะสามารถเก็บดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ 1.25 บาทต่อเดือนหรือ ร้อยละ 15 ต่อปีเท่านั้น

หากเก็บมากกว่ากำหนดโดยไม่ขึ้นทะเบียนพิโกไฟแนนท์ ถือมีอัตราโทษตามกฎหมาย ส่วนประชาชนที่ยังคงมีหนี้กับเจ้าหนี้นอกระบบ สามารถแจ้งต่อธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรทุกสาขา หรือแจ้งโดยตรงมายังกระทรวงการคลัง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ช่วยไกล่เกลี่ยหนี้กับนายทุน และนายทุนก็สามารถขอใบอนุญาตขึ้นทะเบียนดำเนินธุรกิจปล่อยกู้นอกระบบ ได้ที่ธนาคารทั้ง 2 แห่งด้วยเช่นกัน

พล.ต.อ.สุวิระ กล่าวว่า ไฟแนนซ์ทั้ง 2 รูปแบบ เป็นช่องทางที่รัฐบาลต้องการให้ผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบมีช่องทางการประกอบธุรกิจอย่างถูกกฎหมาย และเป็นทางเลือกให้กับประชาชนที่มีความต้องการใช้บริการเงินกู้ที่สถาบันการเงินไม่สามารถอนุมัติให้ได้ โดยมีขั้นตอนไม่ยุ่งยากและรัฐบาลจะไม่เข้าควบคุมนายทุน เพียงให้นายทุนทำรายงานสรุปยอดผู้กู้ต่อสำนักงานใหญ่ ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังเพื่อความเป็นระเบียบ ซึ่งขณะนี้มีผู้ขออนุญาตแล้วกว่า 150 คน

สำหรับการดำเนินการกับข้าราชการที่เกี่ยวพันกับการปล่อยเงินกู้นอกระบบ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสั่งการให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาด โดยไม่มีข้อยกเว้น หากประชาชนพบเบาะแสการปล่อยกู้นอกระบบที่ไม่เป็นธรรม สามารถโทรผ่านสายด่วน 1359 หรือ แจ้งเบาะแสมาได้ที่ 1599 หรือ สายด่วน 191

พล.ต.อ.สุวิระ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ปัญหาเงินกู้จะหมดไปหรอไม่ ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนในการแจ้งเบาะแสกับเจ้าหน้าที่ ยืนยันการจดทะเบียนสินเชื่อรายย่อย ไม่ใช่มาตรการฟอกขาวที่เปิดช่องทางให้ผู้กระทำความผิดหลีกเลี่ยงกฎหมาย เพราะผู้ขอจดทะเบียนทุกคนจะต้องถูกตรวจสอบประวัติ ว่าเคยมีการกระทำความผิดเกี่ยวข้องกับการเงินหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน