เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 30 ก.ย. ที่ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ นายสมชาย งามวงศ์ชน ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด โฆษกศาลปกครอง และนายประวิตร บุญเทียม ตุลาการศาลปกครองสูงสุด รองโฆษกศาลปกครอง ร่วมกันแถลงข่าว กรณีที่ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือน และของใช้ส่วนตัวอื่นๆ ให้กับชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ที่อาศัยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จากการรื้อถอนและเผาทำลายเพิงพัก หรือสิ่งปลูกสร้างและยุ้งฉางข้าว เพื่อให้สื่อมวลชนช่วยเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องให้สาธารณชน

201609301639042-20111122153007

นายสมชาย กล่าวว่า คดีล่าสุดเมื่อเร็วๆนี้ที่มีสื่อสิ่งพิมพ์ และไลน์บางส่วนแชร์ออกไปเป็นผลลบต่อศาล เรื่องกรณีปู่คออี้ มีมิ ฟ้องเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานบุกเผาบ้าน มีบางส่วนบอกว่าผลพิพากษาส่งเสริมความรุนแรง หรือบางสื่อบอกว่าศาลปกครองมีคำพิพากษาโดยไม่ได้ไปดูพื้นที่เลยฟังแต่พยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่ป่าไม้อย่างเดียว

“ผมต้องขอชี้แจงก่อนว่าคดีนี้อยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์ผมพูดอะไรมากไม่ได้ ฉะนั้นจะพูดคร่าวๆว่าอย่างนี้ ว่าในภาระหน้าที่ของศาลปกครอง คือคุ้มครองสิทธิของประชาชน ดูแลไม่ให้ถูกละเมิดจากเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐ ขณะเดียวกันก็ต้องมีหน้าที่ในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือผลประโยชน์ของรัฐไม่ให้ถูกเบียดเบียนไปเป็นผลประโยชน์ส่วนตนเหมือนกันเพราะฉะนั้นเรื่องนี้ตุลาการต้องระวังว่าการกระทำตอนนั้น เป็นการกระทำกฎหมายหรือไม่ แล้วเจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจในการที่จะกระทำอย่างนั้นหรือไม่ ผมขอชักชวนให้ท่านดูคร่าวๆ จะเห็นได้ว่าข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจน ว่าพื้นที่เป็นป่าเป็นอุทยานแห่งชาติอันนี้ เพราะฉะนั้นเจ้าของสำนวนไม่ต้องเดินทางไปดูนะว่าจริงมันชัดอยู่แล้ว ฟังจากพยานหลักฐานพอแล้วอันนี้เป็นข้อเท็จจริง ดังนั้นอาจเป็นเพราะเท็จจริงมันมีกฎหมายชัดเจนแล้วว่าห้ามบุกรุกป่า แม้แต่เก็บของป่าก็ต้องได้รับการอนุญาต ในมาตรา 22 ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ระบุว่า เจ้าหน้าที่จะทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามสมควรแก่กรณีหากสั่งให้ผู้กระทำความผิดทำลาย รื้อถอนถ้าไม่ปฏิบัติตาม เมื่อตามข้อเท็จจริงมีการตักเตือนว่า กล่าวแล้วการกระทำนั้นก็เป็นไปตามตุลาการเจ้าของสำนวน หรือที่จะมองเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทำไปโดยมีอำนาจเมื่อทำไปก็ไม่ถือเป็นการละเมิด” นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวอีกว่า เรื่องนี้อาจต้องมีการอุทธรณ์ผมไม่อยากพูดอะไรที่มันลึก อย่างไรก็ตามอยากขอร้องสื่อมวลชนว่าการลงความเห็นต่างๆในสื่อที่ตีพิมพ์ถ้าเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยบริสุทธิ์ใจด้วยการใช้ข้อมูลวิชาการก็เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่ถ้าคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาก็ต้องระมัดระวัง เพราะมีวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 32 วรรคสอง ว่าในการเสนอข่าวที่มีผลกระทบต่อความรู้สึกเป็นการชักจูงความรู้สึกของประชาชน ต้องระมัดระวัง อยากขอไว้เท่านี้หวังว่าจะเข้าใจกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีมีการวิจารณ์ว่าการตัดสินดังกล่าวเป็นการนำไปสู่บรรทัดฐานของการพิจารณาข้อพิพาททางที่ดิน เพื่อพิสูจน์ว่าชนกลุ่มน้อยอยู่มาก่อนการประกาศพื้นที่อุทยาน ตรงนี้เป็นเหมือนบรรทัดฐานของสังคมไทย ต่อไปหรือไม่ เพราะว่าชนกลุ่มน้อยบางพื้นที่ไม่มีเอกสารบันทึกนอกจากคำบอกเล่า นายสมชาย กล่าวว่า คดีนี้เราต้องแยกเป็น 2 อย่างคือ ก่อนประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติมันเป็นป่ามาก่อน เพราะฉะนั้นเมื่อมันเป็นป่ามันก็เข้าข่าย พ.ร.บ.ป่าไม้ ซึ่งใครจะบุกรุกก็ไม่ได้ ใครจะไปยึดก็ไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นชนกลุ่มน้อย หรือว่าชนกลุ่มใหญ่ก็ทำไม่ได้ ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามย้ำว่า คดีนี้ไม่สามารถพูดลึกได้ เพราะว่าคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด เราเข้าใจและเคารพสิทธิมนุษยชนแต่ว่ามนุษยชนนั้นต้องเคารพกฎหมายด้วยมันถึงจะอยู่ด้วยกันได้ ถ้าหากว่าเอาแต่สิทธิ์ของฉันฉันจะทำอย่างนี้กับกฎหมายที่มีอยู่ มันก็ขัดกัน มันก็อยู่กันไม่ได้

“ผมดูในสำนวนคดีคือทางเจ้าหน้าที่จัดสถานที่ให้อยู่แล้ว แต่เขาไม่อยู่ในที่ที่จัดให้ปัญหาก็เกิด ทั้งที่ให้สถานที่ ซึ่งสามารถทำมาหากินได้พอสมควรภาพ ก็น่าจะต้องยอมรับ ไม่ฉะนั้นเดี๋ยวต้องบอกว่าผมอยากจะไปอยู่ดอยสุเทพ จะทำยังไง อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องเคารพทั้งสองฝ่าย” โฆษกศาลปกครองกล่าว

ด้านนายสุรพงษ์ กองจันทึก หัวหน้าคณะทำงานช่วยเหลือคดีความ กล่าวว่า ในวันที่ 6 ต.ค. ทีมทนายความจะยื่นอุทธรณ์ในคดีนี้ เนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน นำโดยปู่คออี้ ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ที่ระบุว่า ชาวบ้านไม่ได้เป็นคนดั้งเดิม โดยจะนำข้อมูลแผนที่หมู่บ้านใจแผ่นดิน ที่ออกโดยกรมแผนที่ทหารบก ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2503 เพื่อมายืนยันว่ามีบ้านใจแผ่นดิน และบางกลอยบนอยู่มานานแล้ว รวมถึงข้อมูลทะเบียนราษฎร์ชาวเขา จากอดีตเจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาชาวเขา มายืนยัน

ทั้งนี้ ตามแนวปฎิบัติของ มาตรา 22 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ไม่ได้อนุญาตให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจเผาบ้านชาวบ้าน อีกทั้งหากดำเนินการตามขั้นตอน ต้องติดประกาศเตือนชาวบ้านอย่างชัดเจนก่อน หากชาวบ้านไม่ทำตาม ถึงจะฟ้องศาลให้มีคำสั่งโยกย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่

“การเผาบ้านตามวิธีพิจารณาทางปกครองนั้นไม่สามารถทำได้ ฉะนั้นทั้งจากข้อมูลใหม่และข้อมูลเก่าที่เสนอต่อศาล เชื่อว่าจะทำให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ชาวบ้าน ได้กลับไปอยู่ในพื้นที่ดั้งเดิม และจ่ายเงินชดเชยเยียวยาตามที่ชาวบ้านร้องขอ” นายสุรพงษ์ กล่าว
กะเหรี่ยงแก่งกระจาน, เผาบ้าน, ปู้คออี้, ชาวบ้าน, ศาลปกครอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน