เมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสำโรง (E15) จังหวัดสมุทรปราการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดการเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สำโรง โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นายบัณฑิต ศิริตันหยง ประธานกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด นายชาติชาย อุทัยพันธ์ ผู้ว่าฯสมุทรปราการ พล.ต.ต.ธรรมนูญ ไตรทิพยพงศ์ ผู้บังคับการภูธรจังหวัดสมุทรปราการ คณะผู้บริหาร กทม. คณะผู้บริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้บริหารบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ผู้บริหารบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ประชาชนจังหวัดสมุทรปราการ เข้าร่วมในพิธีเปิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกรัฐมนตรีและคณะเยี่ยมชมสิ่งอำนวยความสะดวก พร้อมทั้งตรวจเยี่ยมพื้นที่บริเวณชั้นจำหน่ายตั๋ว (ชั้น 2) สถานีสำโรง (E15) และชมนิทรรศการแสดงความเป็นมาของโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง–สมุทรปราการ รวมถึงผลดำเนินการและความคืบหน้าการก่อสร้างตลอดโครงการฯ การติดตั้งระบบเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ

จากนั้นขึ้นไปยังชานชาลา (ชั้น 3) เพื่อทำพิธีเปิด อีกทั้งชมวิธีการควบคุมการเดินรถภายในห้องควบคุม โดย นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศ ออกลำโพงภายในขบวนรถ ว่าขณะนี้ขบวนรถจะออกจากสถานีสำโรงเพื่อไปสถานีแบริ่ง ก่อนจะลงมือขับรถไฟฟ้าบีทีเอส ภายใต้ระบบอาณัติสัญญาณ ในช่วงแรกของการออกจากสถานีสำโรง(E15) ไปยังสถานีแบริ่ง (E14) จำนวน 1 สถานี ซึ่งขบวนรถได้กระชากออกตัว ทำให้มีการเบรกรถไฟฟ้า ทำให้คณะฯ และสื่อมวลชน เสียหลักเกือบล้มทั้งขบวน ก่อนจะให้พนักงานเข้ามาทำการขับรถไฟฟ้าแทน จากนั้นนายกฯ ได้นั่งโดยสารรถไฟฟ้า มายังสถานีแบริ่ง (E14) และเดินทางกลับทันที หลังเสร็จสิ้นพิธีเปิด

นายพีระยุทธ กล่าวรายงานผลการดำเนินงาน ว่า รฟม. ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ ได้ดำเนินการตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ ตั้งแต่ปี 2555 เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางของประชาชน ระหว่างกรุงเทพมหานครและจังหวัดสมุทรปราการ ระยะทาง 13 กิโลเมตร รวมจำนวน 9 สถานี ซึ่งแล้วเสร็จสมบูรณ์ตามแผนงานตั้งแต่ปลายปี 2559

ในส่วนของการเดินรถนั้น คณะกรรมการจัดระบบการจราจร (คจร.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.58 เห็นชอบให้ กทม.เป็นผู้เดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ โดยเมื่อวันที่ 28 มี.ค.59 กทม. รฟม. และกระทรวงคมนาคม ได้ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) มอบหมายให้ กทม.เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ตามมติ คจร. ต่อไป

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า กทม.ได้มอบหมายให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เข้ามาดำเนินงานติดตั้งระบบการเดินรถไฟฟ้า ประกอบด้วย ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมถึงระบบการสื่อสาร โดยได้เปิดทดลองเดินรถไฟฟ้าเสมือนจริง จำนวน 1 สถานี จากสถานีแบริ่ง-สถานีสำโรง เมื่อวันที่ 15 มี.ค.60 รวมถึงซักซ้อมการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้เกิดความพร้อมในการดูแลความปลอดภัยและให้บริการประชาชน

ซึ่งในวันนี้ กทม. มีความพร้อมที่จะเปิดให้ประชาชนใช้บริการ โดยไม่เก็บค่าโดยสาร เพื่อให้ประชาชนเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว บรรเทาปัญหาการจราจรในเขตบางนาและสมุทรปราการ ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมและแหล่งชุมชนที่พักอาศัยจำนวนมาก ทั้งนี้ กทม. จะสามารถเปิดให้บริการสถานีต่างๆ ตลอดเส้นทางเต็มระบบภายในปี พ.ศ.2561

สำหรับเส้นทางเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง–สมุทรปราการ ได้เชื่อมต่อจากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีแบริ่ง ไปตามแนวเกาะกลางถนนสุขุมวิท จนถึงจุดสิ้นสุดโครงการฯ บริเวณหน้าสถานีไฟฟ้าย่อยบางปิ้ง โดยครอบคลุมพื้นที่ 3 เทศบาล ของจังหวัดสมุทรปราการ ได้แก่ เทศบาลสำโรงเหนือ เทศบาลนครสมุทรปราการและเทศบาลบางปู ระยะทางรวม 13 กิโลเมตร มีจำนวน 9 สถานี ได้แก่ 1.สถานีสำโรง (E15) 2.สถานีปู่เจ้า (E16) 3.สถานีช้างเอราวัณ (E17) 4.สถานีโรงเรียนนายเรือ (E18) 5.สถานีปากน้ำ (E19) 6.สถานีศรีนครินทร์ (E20) 7.สถานีแพรกษา (E21) 8.สถานีสายลวด (E22) และ 9.สถานีเคหะฯ (E23)

โดยมีอาคารจอดแล้วจร (park & ride) บริเวณสถานีปลายทางสถานีเคหะฯ ริมถนนสุขุมวิท เนื้อที่ประมาณ 18 ไร่ สามารถจอดรถได้ 1,200 คัน และมีศูนย์ซ่อมบำรุงตั้งอยู่บริเวณหลังสถานีไฟฟ้าย่อยบางปิ้ง รวมพื้นที่ประมาณ 123 ไร่ มูลค่าการลงทุนทั้งโครงการฯ รวม 27,673 ล้านบาท แบ่งเป็นงานด้านงานโยธา โครงสร้างและงานระบบราง 21,085 ล้านบาท และงานด้านติดตั้งระบบเดินรถ 6,588 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน