เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 13 เม.ย. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2560 โดย ศปถ.ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 12 เม.ย. ซึ่งเป็นวันที่สองของการรณรงค์ เกิดอุบัติเหตุ 586 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 48 ราย ผู้บาดเจ็บ 630 คน

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาแล้วขับ ร้อยละ 42.32 ขับรถเร็ว ร้อยละ 30.38 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 84.16 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 66.38 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 38.91 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 36.18 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 31.06 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 21.98

ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,045 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 63,905 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 699,650 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 110,609 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 32,077 ราย ไม่มีใบขับขี่ 31,366 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 33 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี 4 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 32 คน

สรุปอุบัติเหตุทางถนนรวม 2 วัน (11-12 เม.ย.) เกิดอุบัติเหตุรวม 995 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 82 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 1,049 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตมี 31 จังหวัด จังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บในช่วง 2 วัน ได้แก่ ชัยภูมิ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 51 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 6 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 48 คน

ด้านนายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ภาพรวมของอุบัติเหตุสงกรานต์วันที่สองพบว่ามีผู้เสียชีวิตน้อยกว่าปี 59 ที่ผ่านมา แต่จำนวนครั้งของอุบัติเหตุมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 59 ซึ่งอุบัติเหตุที่เกิดส่วนใหญ่ร้อยละ 46 มีสาเหตุจากการเมาแล้วขับ จึงขอฝากสื่อมวลชนช่วยรณรงค์เมาไม่ขับในสงกรานต์นี้

สำหรับมาตรการป้องกันอุบัติเหตุในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ได้ขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอให้จัดชุดปฏิบัติการประจำตำบลหมู่บ้านสำรวจตรวจสอบในหมู่บ้านว่าบ้านไหนจะจัดงานรื่นเริงต้องมีที่จอดรถและคนรับฝากกุญแจ หากใครเมาสุราห้ามคืนกุญแจรถจนกว่าจะมีผู้ที่ไม่เมาหรือญาติมารับกุญแจ

ส่วนการจัดงานรื่นเริงสามารถจัดได้ แต่ต้องขออนุญาตเรื่องการใช้เสียงกับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอว่ามีการใช้เสียงอย่างไร อีกทั้งมีใบอนุญาตจำหน่ายสุราหรือไม่ รวมถึงต้องมีที่จอดรถและรับฝากกุญแจรถ ถ้าทำตามเงื่อนไขจะทำให้อุบัติเหตุเกิดน้อยลง

ทั้งนี้ อุบัติเหตุกลับเพิ่มมากขึ้นในถนนสายรองภายในชุมชนหมู่บ้าน จึงขอให้กำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นายกเทศมนตรี นายกองค์กรบริหารส่วนตำบล(อบต.) เพิ่มจุดตรวจ จุดสกัดในหมู่บ้านมากขึ้น ส่วนอุบัติเหตุที่เกิดมีสาเหตุหลักมาจากการดื่มสุรา ดังนั้นถ้าคุมตัวเองให้มีสติ ไม่ให้ดื่มสุราแล้วมาขับรถ หรือดื่มสุราได้แล้วให้คนไม่ดื่มขับ จะช่วยลดอุบัติเหตุลงได้

เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการออกกฎหมายห้ามดื่มสุราในช่วงเทศกาลสำคัญเพื่อลดอุบัติเหตุ นายกฤษฎา กล่าวว่า ในครั้งนี้เน้นย้ำผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ รวมทั้งขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่สรรพสามิตและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัด อำเภอ ให้ถือกฎหมายในปัจจุบันก่อน คือคำนึงถึงสถานที่จำหน่าย อายุผู้ซื้อ ระยะเวลาการจำหน่าย

หากเราไปไกลจะออกกฎหมายหรือออกคำสั่งมาตรา 44 ห้ามดื่มสุราในเทศกาลสงกรานต์ก็จะเกิดปัญหาขึ้นอีก ทั้งที่รัฐบาลพยายามหาวิธีป้องกันเพื่อไม่ให้ประชาชนเสียชีวิต และอาจถูกนักสิทธิมนุษยชน นักประชาธิปไตยมองว่าการดื่มสุราเป็นสิทธิส่วนตัว ดังนั้นในช่วงนี้ขอให้ใช้มาตรการทางกฎหมายที่มีอยู่แล้วให้เข้มข้นมากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน