มติชน จัดเสวนาเข้มข้น Roadmap 5 G ดันไทยนำ ASEAN เชื่อปี 63 ไทยขึ้นแท่นผู้นำ

เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2562 ที่โรงแรมพลูแมน คิงเพาเวอร์ ซอยรางน้ำ กรุงเทพฯ เครือมติชน ได้จัดสัมมนาเรื่อง “Roadmap 5 G ดันไทยนำ ASEAN” โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน และมีนายฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ

ภายในงานสัมมนา นายฐากูร กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงาน ว่า เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารต่อสังคม และแสวงหาหนทางที่จะทำให้เทคโนโลยี 5G เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อให้ทัดเทียมกับนานาชาติที่ประกาศตัว และมีแผนที่จะดำเนินการ 5 G ซึ่งทั้งเป็นที่ทราบกันว่า ต้นปี 2563 ประเทศเวียดนามได้ประกาศแล้วว่าจะเริ่มต้นเทคโนโลยี 5G ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นก็จะใช้เทคโนโลยี 5G ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศในโลกที่จะเริ่มต้นนำเทคโนโลยี 5G มาใช้แล้ว โดยประเทศที่มีเทคโนโลยี 5G จะจูงใจให้นักลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเข้าไปในประเทศนั้นๆ มากกว่าประเทศที่มีเทคโนโลยีล้าหลังกว่า

ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่ควรตกขบวน เพราะเทคโนโลยี 5G จะช่วยพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ทั้งอุตสาหกรรม การแพทย์ การเกษตร โลจิสติกส์ และอื่นๆ รัฐบาลไทยได้ประกาศไปแล้วว่าจะเริ่มใช้ 5G ในปีนี้หรือปีหน้า เพียงแต่ว่าหนทางไปสู่การเริ่มตันใช้เทคโนโลยี 5G ในไทยนั้นเป็นไปได้แค่ไหน และมีโอกาสเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด เครือมติชนจึงจัดสัมมนาครั้งนี้ขึ้นมาในหัวข้อ Roadmap 5G ดันไทยนำอาเซียนเพื่อให้ผู้มีส่วนสำคัญในการเกิดขึ้นของ 5G ในไทยมาการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนเวทีนี้ จะฉายภาพความเป็นไปได้และความเป็นไปไม่ได้ในการเริ่มต้น เทคโนโลยี 5G ในไทย

ด้านพล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กสทช.ได้เตรียมการ 5 G มาตลอด 3 ปี ทั้ง การอาศัยเวทีสัมมนาในการเตรียมพร้อม และเตรียมการจัดประมูลคลื่นความถี่ โดยขณะนี้ได้เร่งให้มีการจัดสรรประมูลคลื่นความถี่ ทั้งในย่านต่ำ กลาง และสูง คาดว่าจะมีจัดการประมูลคลื่น 5 G ได้ในต้นปีหน้า ซึ่งครั้งนี้การเปิดเวทีหารือความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการลงทุนร่วมกัน

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในนามของรัฐบาล รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นภาพความร่วมมือร่วมใจอย่างเข้มแข็ง ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน กสทช.และภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็น ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และภาคประชาชน ที่มีความตื่นตัวซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่มีพลังในการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5G ทำให้รัฐบาลมีความมั่นใจว่า 5G จะเกิดขึ้นในปี 2563 ได้อย่างแน่นอน

​ในโลกปัจจุบัน ภาคการเงิน การธนาคาร การผลิต การเกษตร โลจิสติกส์ และการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้หลอมรวมไปสู่ยุคของเทคโนโลยีดิจิทัล ด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมมากขึ้น ดังนั้น เทคโนโลยี 5G จึงถือเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานครั้งสำคัญของโลก นอกจากนี้ เทคโนโลยี 5G ยังเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาทางสังคม ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และสังคม การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การศึกษา การแพทย์สาธารณสุข และการยกระดับสวัสดิการทางสังคม โดยเทคโนโลยี 5G จะเชื่อมประสานระหว่างสังคมเมืองกับสังคมชนบทอย่างไร้พรมแดน ประชาชนจะมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการเข้าถึงทางการแพทย์ การรักษาพยาบาลผ่านทางไกล เท่ากับเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนั่นเอง

ดังนั้น รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดังกล่าว จึงแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G ระดับชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อวางรากฐาน ต่อยอด และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี 5G มุ่งสู่การพลิกโฉมหน้าประเทศไทย ในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต ภาคการเกษตร หรือภาคสาธารณสุข ทั้งนี้รัฐบาลได้เน้นเป็นสำคัญว่า เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

“การจัดงานสัมมนาในวันนี้ จะยิ่งสร้างความมั่นใจให้กับผมว่าการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5G ในประเทศไทย ได้รับความร่วมมือร่วมใจ จากทุกฝ่ายและร่วมผลักดันให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดด ท้ายที่สุดนี้ ผมขอให้การจัดสัมมนาในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน กสทช. รับข้อมูลจากการสัมมนา ไปเป็นบทเรียนหรือเป็นกรณีตัวอย่างเพื่อรับมือกับปัญหาและอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงการนำไปใช้ปรับปรุงให้การขับเคลื่อน 5G เกิดสัมฤทธิ์ผลโดยเร็ว”

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า 5 G จะต้องเกิดขึ้นในไทยให้ได้ในปีหน้า ซึ่งรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ได้เคยพูดไว้มาตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา และในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทในการผลักดันจะต้องทำให้ เพราะขณะนี้หลายประเทศเข้าสู่ 5 G แล้ว ตอนนี้ไทยยังอยู่ 3G และ 4 G ไว้สำหรับการสื่อสารโทรคมนาคม แต่ 5 G เป็นมากกว่านั้น ซึ่ง 5 G จะเข้ามาปฎิรูปภาพอุตสาหกรรมของทั่วโลก โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการผลิต จากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน จะส่งผลให้ 190 บริษัทรายใหญ่ของโลกได้เลือกประเทศอาเซียนเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในอีก 20 ปี

ดังนั้น ไทยต้องสร้างจุดเปลี่ยนทำให้ 5 G สำเร็จ เพื่อให้ทั่วโลกเห็นว่าไทยเหมาะสมเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของอาเซียนในอีก 20 ปี เพราะประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ฟิลิปปินส์ ประกาศจะใช้ 5 G ในเชิงพาณิชย์ เดือนมิ.ย.ปีหน้า รวมทั้งเวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ จะเริ่มให้บริการ 5 G ในเดือนมิ.ย.ถึงเดือนก.ค.ปีหน้าเช่นกัน ฉะนั้นการประมูล 5G จะต้องมีขึ้นในไตรมาสแรกปีหน้า พร้อมการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5 G แห่งชาติ ผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน ซึ่งภาครัฐบาลจริงจังให้ 5 G เกิดขึ้นได้จริงในปีหน้า

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. กล่าวว่า กสทช.กำหนดจัดประมูลคลื่นความถี่ 5 G ไว้ในวันที่ 16 ก.พ. 2563 โดยผลการศึกษาราคาคลื่นความถี่ที่จะประมูลเพื่อทำ 5G จำนวนรวมทั้งหมด 190 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) ประกอบด้วย คลื่น 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ มีการประมูล 19 ใบอนุญาตใบละ 10 เมกะเฮิร์ตซ์ ราคาใบละ 1,862 ล้านบาท, ส่วนคลื่น 26 กิกะเฮิร์ตซ์ (GHz)ราคาประเมินอยู่ที่ 300 ล้านบาทต่อใบอนุญาต และจะนำออกประมูล 27 ใบอนุญาต, คลื่น 700 MHz ประมูล 3 ใบอนุญาต ราคา 8,792 ล้านบาทต่อใบอนุญาต และคลื่น 1800 MHz ประมูลจำนวน 7 ใบอนุญาต และใบอนุญาตละ 12,486 ล้านบาท

“ราคาประเมินทั้งหมดใกล้เคียงกับราคาของทั่วโลก โดยได้จ้างให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยจากสวีเดนศึกษา โดยในวันที่ 12 พ.ย.นี้ กสทช.จะเสนอผลการศึกษาราคาประเมินมูลค่าคลื่น 2600 MHz และ 26GHz ให้ที่ประชุมคณะกรรมการกสทช. พิจารณา หากบอร์ดอนุมัติแล้ว ก็จะนำไปรับฟังความเห็นสาธารณะเพื่อให้สามารถเปิดประมูลได้ภายใน 16 ก.พ. 2563 และเริ่มบริการได้ในเดือนก.ค. 2563 หากดำเนินการทันตามกรอบเวลาจะสามารถเปิดให้บริการทันกับประเทศเพื่อนบ้าน”

ส่วนเกณฑ์ในการประมูลจะกำหนดให้ ปีแรกจ่าย 10% ปีที่ 2-4 พักการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ชำระอีกครั้ง 15% ปีที่ 5-10 โดยมีเงื่อนไขการชำระเงินที่สำคัญ คือ จะให้ผู้ชนะประมูลเริ่มจ่ายเงินในปีที่ 5 หลังจากได้รับใบอนุญาต แต่จะมีเงื่อนไขการลงทุนต่างๆ ประกอบด้วย ต้องลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) 50% ภายใน 1 ปี และพื้นที่สมาร์ทซิตี้ 50% ภายใน 4 ปี

ด้านนายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวในช่วงเสวนา “Roadmap 5G ดันไทยนำ ASEAN” ว่า ขณะนี้ภาครัฐมีนโยบายที่ชัดเจนมากที่ต้องการผลักดัน 5 G ให้เกิดขึ้นในปี 2563 เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำอาเซียน เพราะหาก 5 G ไม่เกิดขึ้นจะเสียโอกาสและการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ซึ่งเอไอเอส พร้อมที่จะช่วยผลักดันและสนันสนุนให้เกิดขึ้น ซึ่งเอไอเอสได้เริ่มทดสอบ 5 G มาตั้งแต่ปีที่แล้ว และมีการเตรียมพร้อมตลอดเวลา แม้ว่า 5 G ควรจะเกิดขึ้นของควรจะเกิดขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือภายในปลายปี 2564 ควรจะเกิดขึ้นให้ถูกเวลา (Right Time) ถึงจะสามารถนำมาใช้และพัฒนาให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด

แต่ขณะนี้เป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติท่ามกลางความผันผวนเศรษฐกิจทั่วโลก รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการผลักดัน 5 G เพื่อไทยเป็นผู้นำในอาเซียน แต่กระบวนการคิดและการประมูลคลื่นของ กสทช. ยังคิดในรูปแบบปกติ เมื่อพิจารณาเทียบกับประเทศอื่นๆ รัฐบาลใช้วิธีการจัดสรรคลื่นความถี่ให้ฟรี พร้อมให้การสนับสนุนโอเปอเรเตอร์อย่างเต็มที่ สำหรับไทยด้วยข้อจำกัดของกฎหมายอาจจะไม่สามารถให้คลื่นฟรีเพื่อนำมาพัฒนาได้ เพราะคลื่นความถี่เป็นสมบัติชาติต้องประมูล แต่การที่คิดแบบเดิมและมีการศึกษาราคาประมูลจากทั่วโลก ราคาที่ศึกษาออกมาแม้ว่าราคาถูกกว่าราคาประมูลอื่นๆ แต่ท้ายที่สุดราคาประมูลที่จะออกมาไม่มีใครยืนยันได้ว่าเป็นราคาที่ใช่

“อยากจะเสนอไปยังคณะกรรมการขับเคลื่อน 5 G แห่งชาติ ที่กำลังจัดตั้งขึ้น ว่า กรณีที่เอกชนประมูลคลื่น ตั้งใจลงทุน ควรแบ่งเงินในการประมูลกลับมาเพื่อนำมาใช้ในการลงทุนขยายโครงข่าย จะเป็นวิธีคิดแบบใหม่ แทนที่จะคิดว่าเงินที่กสทช. ได้รับจากการประมูลต้องนำส่งกระทรวงการคลัง แต่จะต้องบูรณาการหลายภาคส่วน ซึ่งหากเกิดขึ้นได้รัฐบาลอยากไปลงทุนอีอีซี) อยากไปทำสมาร์ทซิตี้ก็มีคนทำแน่นอน เพราะหากประมูลราคาสูงแล้ว ยังต้องลงทุนสูงอาจจะไม่อยากเร่งลงทุน และเกิดการนำไปใช้จริงและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมตางๆ ไม่เกิดขึ้น”

นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ถ้ากสทช.ยังใช้วิธีเดิมในการจัดสรรคลื่นความถี่ เมื่อเทียบกับรัฐบาลจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ที่ผลักดัน 5G โดยการจัดสรรคลื่นความถี่ให้ฟรี เป็นการส่งเสริมเต็มที่ให้กับโอเปอเรเตอร์ได้นำคลื่นความถี่ไปใช้พัฒนาโครงข่าย และเทคโนโลยี อย่างไรก็ดีในแง่นโยบายโดยรวมของรัฐบาลดีมาก แต่ติดที่รายละเอียด ซึ่งภาครัฐต้องดูในส่วนนั้นด้วย และในฐานะโอเปอเรเตอร์พร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาลเต็มที่ ในการให้ไทยเป็นผู้นำอาเซียน และไม่ยอมแพ้ประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน