เมื่อวันที่ 19 เม.ย. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม เตรียมเข้าหารือข้อกฎหมายเพื่อหาทางออกในการผ่อนปรนการโดยสารรถกะบะ ว่า ตนได้นัดหมายการหารือดังกล่าวในวันศุกร์ที่ 21 เม.ย.นี้ โดยจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินเรื่องการบังคับใช้กฎหมายทั้งในแง่ตักเตือน และห้ามปรามว่าได้เกิดผลอะไรขึ้นมาบ้าง ซึ่งเท่าที่ตนได้รับรายงานในเบื้องต้นทราบว่ายังเกิดอุบัติเหตุขึ้นจำนวนมากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนมาก แต่สถิติผู้เสียชีวิตในกรณีรถโดยสารสาธารณะนั้นลดลงอย่างเป็นที่น่าพอใจ

“สำหรับสาเหตุของผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ไม่สวมหมวกกันน็อก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเรารณรงค์เรื่องการสวมหมวกกันน็อกน้อยไป แต่เน้นเรื่องของรถโดยสารสาธารณะมากกว่า จึงทำให้ผู้เสียชีวิตในส่วนของรถโดยสารสาธารณะลดลง ตรงนี้ต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ตักเตือน ตรวจสอบ และควบคุม อำนวยความสะดวกให้ประชาชน โดยมีเสียงสะท้อนที่ดีว่าประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวก ไม่ถูกรีดไถ แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ทำงานได้เป็นอย่างดี” นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในเมื่อยังมีผู้เสียชีวิตอยู่ก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ แม้จะมีผู้เสียชีวิต 5-10 คน ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียใจและเสียดาย

ดังนั้นเราจะนำผลเหล่านี้ไปใช้เป็นข้อมูลในการหารือในวันที่ 21 เม.ย. เพื่อประเมินว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป โดยตอนนี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องสองฉบับคือ พ.ร.บ.ขนส่งทางบก ที่เน้นเรื่องความปลอดภัย กับ พ.ร.บ.จราจรที่เป็นของตำรวจที่เน้นเรื่องการอำนวยความสะดวก ซึ่งทั้งสองเรื่องนั้นต้องทำควบคู่กันไปดังนั้นต้องนำกฎหมายทั้งสองฉบับมาใช้คู่กัน แต่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอยู่คนละหน่วยกันต่างฝ่ายต่างมีข้อเสนอต่อกันที่แตกต่างกันไป

รองนายกฯ กล่าวว่า ขณะที่ตนเห็นว่าอย่าไปสนใจว่าใครต้องปฏิบัติอย่างไร แต่ควรมีข้อเสนอออกมาว่าคนทั้งประเทศต้องปฏิบัติอย่างไร ซึ่งเราอาจจะออกกฎหมายหรือระเบียบอะไรออกมาโดยไม่จำเป็นต้องยึดเอากฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งเท่านั้น แต่ทำเป็นมาตรการที่ดีที่สุดที่จะทำให้เกิดความสะดวก ปลอดภัยขึ้นพร้อมๆกันขึ้นมาใช้ เหล่านี้เป็นประเด็นที่จะหารือกัน

ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องแก้ไขพ.ร.บ.ก็ต้องทำ แต่ถ้าจำเป็นเร่งด่วนจนต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพ.ศ. 2557 ก็ต้องทำ แต่จะใช้ให้น้อยลง และถ้าไม่ถึงขนาดนั้นก็อาจใช้การออกหลักเกณฑ์ เพราะตามพ.ร.บ.ขนส่งมีมาตรา 21 และมาตรา 18 แห่งพ.ร.บ.จราจร ที่เปิดช่องให้สามารถออกหลักเกณฑ์ได้ ซึ่งเราก็จะนำหลักเกณฑ์ที่แต่ละฝ่ายเสนอนั้นมาหารือร่วมกัน และดูว่าจะได้ข้อยุติอย่างไร โดยต้องไม่ให้สร้างปัญหาขึ้นมาอีก

นายวิษณุ กล่าวว่า อย่างในอดีตที่มีการรณรงค์ให้ประชาชนสวมหมวกน็อกนั้นก็ใช้เวลาปรับตัวกันนานพอสมควรต้องค่อยๆให้เกิดการยอมรับซึ่งทางภาคเอกชนก็ให้ความร่วมมือในการรณรงค์โดยช่วยให้มีการลดราคาหมวกกันน็อก หรือจัดให้เป็นของแถมในการขายรถจักรยานยนต์ บางบริษัทเอกชนก็ซื้อแจกพนักงาน ซึ่งเป็นการช่วยรณรงค์กับภาครัฐและทำให้มีผู้สวมหมวกกันน็อกมากขึ้น

ส่วนเรื่องการรณรงค์คาดเข็มขัดนิรภัยนั้น เป็นสิ่งที่ทำแล้วคนไม่ค่อยเห็นเพราะนั่งอยู่ในรถ แต่เรื่องสวมหมวกกันน็อกนั้นเห็นง่ายกว่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน