เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 19 เม.ย. ที่ห้องประชุมเพชรพิมาน อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เขตคันนายาว กรุงเทพฯ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ร่วมกับ นพ.สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี แถลงข่าว “คุมประพฤติจัดหนัก ดื่มแล้วขับ เข้าห้องดับจิต” สำหรับผู้ถูกคุมความประพฤติในคดีขับรถขณะเมาสุราและขับรถประมาท หรือความผิดอื่นๆ ตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้ผู้ขับขี่มีความรับผิดชอบต่อผู้ร่วมใช้รถใช้ถนน

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุ 3,690 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 390 ราย และบาดเจ็บ 3,808 คน ซึ่งมีคดีเข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติจากสำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ 120 แห่ง 5,173 คดี เป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา 4,856 คดี ขับเสพ 278 คดี และขับรถประมาท 39 คดี โดยสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดนครพนมมีคดีสูงสุด 402 คดี รองลงมาสำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพฯ 287 คดี และสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดสุรินทร์ 285 คดี ทั้งนี้ การนำมาตรการส่งผู้กระทำผิดขับรถขณะเมาสุราให้ทำงานบริการสังคมในสถานพยาบาล เพื่อกระตุ้นจิตสำกให้รับรู้ถึงความสูญเสียและผลกระทบที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนน ทั้งในห้องฉุกเฉินและห้องดับจิต

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กรมคุมประพฤติยังมีมาตรการนำเครื่องมือติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EM มาใช้กับผู้ถูกคุมประพฤติทุกกลุ่ม ทุกฐานความผิด โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มใช้เครื่องมือดังกล่าวที่กรมคุมประพฤติจัดซื้อไว้ในเดือนมิ.ย.นี้ ประมาณ 3,000 ชุด ซึ่งเบื้องต้นอาจยังจะไม่เพียงพอ เนื่องจากมีผู้ที่อยู่ในระบบคุมประพฤติประมาณ 450,000 คน ซึ่งเราอาจจะมีการทยอยจัดซื้อเพิ่มในปีต่อไป

ด้าน นพ.สมบูรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้มาปฏิบัติหน้าที่บริการสังคมในโรงพยาบาล 2,314 ราย โดยแบ่งเป็นการดูงานในห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน หอผู้ป่วยศัลยกรรมชายและห้องดับจิต โดยพิจารณาตามศักยภาพ ความรู้ ความสามารถพื้นฐาน และเพศ ให้เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมทั้งเสนอให้มีการศึกษาพฤติกรรมของผู้เคยถูกคุมประพฤติว่า มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้มีจิตอาสามาบำเพ็ญประโยชน์ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี 20 ราย ส่วนใหญ่ถูกดำเนินคดีในข้อหาเมาแล้วขับ และมีหนึ่งรายกระทำผิดซ้ำ ซึ่งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้แบ่งงานให้จิตอาสาทำตามความเหมาะสม ทั้งการช่วยเหลือผู้ป่วยบริเวณจุดรับส่งผู้ป่วย ช่วยแนะนำผู้ป่วยในการกรอกเวชระเบียน ส่วนผู้ที่ทำงานในห้องดับจิตเจ้าหน้าที่จะให้ทำความสะอาดอ่างล้างศพและตู้เย็นเก็บศพ โดยจะไม่อนุญาตให้แตะต้องศพ ซึ่งมาตรการดังกล่าวทำให้การกระทำผิดซ้ำลดลงเหลือเพียงร้อยละ 4.6 ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือน พ.ค.2559 จนถึงเดือน มี.ค. 2560 มีผู้มาบริการสังคม 2,314 คน

ขณะที่ จิตอาสา อายุ 25 ปี อาชีพรับเหมาวางท่อประปา กล่าวว่า ตนถูกคุมประพฤติ 24 ชั่วโมง เนื่องจากกระทำผิดในข้อหาเมาแล้วขับ ซึ่งวัดระดับปริมาณแอลกอฮอล์ได้ 190 มิลลิกรัม และได้ให้มาบริการสังคมที่โรงพยาบาล โดยได้รับหน้าที่ล้างอ่างล้างศพและตู้เย็นเก็บศพ ซึ่งจากการทำงานครั้งนี้ได้เห็นสภาพญาติของผู้สูญเสียจากการเมาแล้วขับ ทำให้รู้สึกสะเทือนใจไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ และตระหนักถึงอันตรายจากการเมาแล้วขับ โดยตั้งใจว่าหลังจากนี้จะเลิกดื่มสุรา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน