สมเด็จพระสันตะปาปา ทรงยินดีไทยผ่านเลือกตั้ง ก้าวสำคัญกลับสู่การปกครองประชาธิปไตย

สมเด็จพระสันตะปาปา / เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 21 พ.ย. ที่สนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ประทานทำเนียบรัฐบาล มีพิธีรับเสด็จสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ในโอกาสเสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม รับเสด็จ

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

โดยในพิธีรับเสด็จ นายกรัฐมนตรีได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระสันตะปาปา เสด็จตามพรมแดงไปยังแท่นรับความเคารพ ณ สนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า โดยผู้มีเกียรติที่มารับเสด็จ ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี รมว.การต่างประเทศ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีกราบทูลเชิญสมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จไปยังห้องสีงาช้างด้านนอก สมเด็จพระสันตะปาปาทรงลงนามในสมุดเยี่ยม และทอดพระเนตรของที่ระลึกที่ทั้งสองฝ่ายมอบให้แก่กัน และนายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปา ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

ภายหลังเสร็จสิ้นการเข้าเฝ้า นายกรัฐมนตรีกราบทูลเชิญสมเด็จพระสันตะปาปาไปยังตึกสันติไมตรีหลังนอก เพื่ออนุญาตให้คณะทูตานุทูต คณะรัฐมนตรี แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน เข้าเฝ้ารับเสด็จ โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถวายการต้อนรับ

ต่อมาที่ตึกสันติไมตรีหลังนอก ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต้อนรับในโอกาสที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประทานสุนทรพจน์ต่อคณะรัฐมนตรี คณะทูตานุทูต แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน ที่มาเข้าเฝ้าว่า

ขอประทานกราบทูลทราบฝ่าพระบาท แขกผู้มีเกียรติ สุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ ในนามของรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทย เกล้ากระหม่อมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสรับเสด็จฝ่าพระบาทในโอกาสเสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในวันนี้ ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสอันพิเศษอย่างยิ่งในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับนครรัฐวาติกัน เพราะนอกจากในปีนี้จะตรงกับวาระครบรอบ 350 ปีของการจัดตั้งคณะมิสซังคาทอลิกแห่งสยามแล้ว ยังเป็นวาระแห่งการครบรอบ 50 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับนครรัฐวาติกันอีกด้วย

“เกล้ากระหม่อมรู้สึกชื่นชมในพระกรณียกิจที่น่ายกย่องของฝ่าพระบาทที่ทรงให้ความสำคัญกับการสร้างความสามัคคีปรองดองระหว่างมนุษยชาติ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะในหมู่เยาวชน การขจัดความยากจน การสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมบรรยากาศแห่งสันติภาพให้บังเกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก บทบาทของฝ่าพระบาทในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คน โดยไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะมีความเชื่อในศาสนาใดหรือพื้นเพทางสังคมอย่างไร”

ในส่วนของประเทศไทย รัฐบาลไทยก็ได้มีการดำเนินการในประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะการรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการนับถือศาสนา การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การสร้างสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็ง การสร้างโอกาสที่เท่าเทียมให้กับประชาชนทุกกลุ่มในสังคม

โดยเฉพาะสตรีและเด็ก ตลอดจนการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยการสนับสนุนการเข้าถึงทางการเงินอย่างครอบคลุม และการส่งเสริมระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นต้น ทั้งนี้ โดยน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่องดังกล่าวมาเป็นแนวทางในนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

เกล้ากระหม่อมขอกราบทูลด้วยความยินดีว่า ตลอดช่วงปี 2562 ประเทศไทยได้ปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะประธานอาเซียน โดยมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนของอาเซียนและประเทศหุ้นส่วนจากทุกภูมิภาค ในการสร้างประชาคมอาเซียนให้เป็นสังคมแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อความผาสุกของประชาชนทุกคนในภูมิภาคและประชาคมโลก โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ซึ่งในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ที่กรุงเทพฯ เมื่อต้นเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกอาเซียนต่างก็เห็นพ้องกันที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นประเด็นที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของฝ่าพระบาท ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจน การลดช่องว่างด้านการพัฒนา การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขยะทะเล การพัฒนาทุนมนุษย์ และพลังงานทดแทน และการอพยพย้ายถิ่นฐาน ที่เน้นการอำนวยความสะดวกการส่งกลับโดยสมัครใจ ปลอดภัย และมีศักดิ์ศรี เป็นต้น

ในการนี้ เกล้ากระหม่อมเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยและนครรัฐวาติกันจะสามารถร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในประเด็นเหล่านี้ทั้งในกรอบทวิภาคีและระหว่างประเทศ

เกล้ากระหม่อมขอกราบทูลด้วยความยินดีว่า รัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทยทั้งมวล ซึ่งรวมถึงคริสต์ศาสนิกชนคาทอลิกชาวไทยที่มีจำนวนมากกว่า 380,000 คน ต่างก็มีความปลื้มปีติอย่างยิ่งที่จะได้มีโอกาสรับเสด็จฝ่าพระบาทและคณะด้วยความเต็มใจและกำลังความสามารถ เพื่อให้การเสด็จเยือนประเทศไทยของฝ่าพระบาทเป็นไปโดยราบรื่นตามที่มุ่งหมายไว้ ซึ่งความสำเร็จของการเสด็จเยือนในครั้งนี้ จะเป็นสิ่งยืนยันถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างประเทศไทยกับนครรัฐวาติกันที่มีมาอย่างยาวนานและตลอดไป

จากนั้น สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประทานสุนทรพจน์แก่คณะรัฐบาล ผู้นำสังคม และคณะทูตานุทูต ความว่า

ข้าพเจ้าขอขอบคุณที่ท่านได้ให้โอกาสแก่ข้าพเจ้า ในการที่ได้มาอยู่ท่ามกลางท่านทั้งหลาย ทั้งยังดำเนินการอำนวยความสะดวกแก่ข้าพเจ้าและคณะ เพื่อให้ได้มาเยือนผืนแผ่นดินไทย อันอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย และยังเป็นประเทศที่ยังคงรักษามรดกทางจิตวิญญาณและวัฒนธรรม อันได้แก่ วัฒนธรรมการให้การต้อนรับ ซึ่งข้าพเจ้าได้ประสบด้วยตัวเอง และปรารถนาที่จะเป็นพยานยันยืนถึงสิ่งนี้ เพื่อเสริมสร้างความสามัคคีระหว่างประเทศและประชาชนทั่วโลก

ท่านนายกรัฐมนตรี ข้าพเจ้าขอขอบคุณสำหรับการต้อนรับและคำปราศรัยของท่าน ช่วงบ่ายวันนี้ข้าพเจ้าจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระบรมราชินี ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อให้ข้าพเจ้ามีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อกล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้ทรงเชิญให้ข้าพเจ้ามาเยือนราชอาณาจักรไทย ข้าพเจ้าขอยืนยันอีกครั้งถึงความปรารถนาดีของข้าพเจ้าที่มีต่อราชอาณาจักรและต่อรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และขอแสดงความเคารพอย่างสูงต่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ข้าพเจ้ารู้สึกยินดียิ่งที่ได้มีโอกาสพบปะท่าน ผู้ซึ่งเป็นผู้ปกครองบริหารประเทศ ผู้นำทางศาสนา และสังคม ผ่านทางท่านทั้งหลายนี้ ข้าพเจ้าขออำนวยพรไปยังบรรดาปวงชนชาวไทยทุกคน ขอแสดงความเคารพนับถือ ต่อบรรดาทูตานุทูตทุกท่าน

“และในโอกาสนี้ ข้าพเจ้าขอแสดงความยินดีอย่างยิ่งที่ประเทศได้ผ่านการเลือกตั้ง อันเป็นก้าวสำคัญในการกลับมาสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยขอขอบคุณทุกท่านอีกครั้ง ที่ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการต่างๆ เพื่อให้ข้าพเจ้าสามารถมาเยือนราชอาณาจักรไทยในครั้งนี้”

เราทั้งหลายทราบดีแล้วว่า ปัญหาของโลกในปัจจุบันเป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อทุกส่วนของโลก เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัวมนุษยชาติ และเรียกร้องให้มีความตั้งใจจริง ในการที่จะทำให้เกิดความยุติธรรมระหว่างประเทศ และความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างประชาชนทุกหมู่เหล่า ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญยิ่งในการที่ประเทศไทยกำลังจะหมดวาระของการเป็นประธานของกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการร่วมแรงร่วมใจ ในการแก้ไขปัญหาที่ประชาชนในภูมิภาคนี้กำลังเผชิญ และยังเป็นหนทางในการที่จะนำไปสู่ความร่วมมือด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมอันดกดื่น เป็นประเทศพหุสังคมที่มีความหลากหลายอันเป็นเอกลักษณ์ เป็นประเทศที่ยอมรับถึงความสำคัญในการสร้างความสามัคคีและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยแสดงความเคารพและยกย่องต่อวัฒนธรรม ศาสนา และความคิดเห็นที่แตกต่าง ปัจจุบันเป็นยุคของโลกาภิวัตน์ ซึ่งบ่อยครั้งให้ความสำคัญต่อเศรษฐกิจ และการเงิน โดยมองข้ามมิติด้านจิตวิญญาณและความสวยงามในประชาชนของเรา ในทางกลับกัน ประสบการณ์ในการให้ความเคารพและยอมรับความแตกต่าง ได้ให้แรงบันดาลใจและแรงกระตุ้นสำหรับทุกคน ผู้มีความปรารถนาที่จะสร้างโลกที่แตกต่าง เพื่อมอบให้กับชนรุ่นต่อไป

ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจอย่างยิ่งต่อการจัดตั้งคณะกรรมการแห่งศูนย์จริยธรรมและสังคม ซึ่งได้เชิญผู้แทนจากศาสนาต่างๆ ในประเทศเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อรับฟังความคิดเห็นของเขาเหล่านี้ ในการที่จะรักษาความทรงจำทางจิตวิญญาณอันมีชีวิตของประชาชน ในแง่มุมมองนี้ ข้าพเจ้าจะได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เพื่อแสดงถึงความสำคัญและความเร่งด่วนในการสร้างมิตรภาพและการเสวนาระหว่างศาสนา อันจะนำมาซึ่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของสังคม และการเสริมสร้างสังคมที่มีความเป็นธรรม รู้จักรับฟัง และไม่มีการแบ่งแยก

ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า ชาวคาทอลิกแม้ว่าเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ในประเทศ จะพยายามอย่างเต็มความสามารถ ในการที่จะสนับสนุนอัตลักษณ์ของความเป็นไทย ซึ่งปรากฏในเพลงชาติของท่าน: “รักสามัคคี…รักสงบ…ไม่ขลาด…” และพวกเขาเหล่านี้ มีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะเผชิญหน้ากับทุกสิ่งที่ไม่ปฏิเสธ หรือบ่ายเบี่ยงเสียงเรียกร้องของพี่น้องชายหญิง ที่ปรารถนาจะหลุดพ้นจากความเป็นทาสของความยากจน ความรุนแรง และความอยุติธรรม

ผืนแผ่นดินของท่านได้ชื่อว่าเป็นแผ่นดินไทย คือแผ่นดินแห่งอิสรภาพ เราทราบกันดีแล้วว่า อิสรภาพจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเราสามารถที่จะเติมเต็มความรับผิดชอบที่เรามีต่อกันและกัน เพื่อเอาชนะความไม่เท่าเทียมทุกรูปแบบ เพราะฉะนั้น เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องพยายามให้ประชาชนทุกคน ได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา อาชีพการงาน และความช่วยเหลือด้านสุขภาพ เพื่อที่จะได้สามารถบรรลุถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่สมบูรณ์และยั่งยืน

ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ข้าพเจ้าขอกล่าวสั้นๆ เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของผู้ย้ายถิ่น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ในปัจจุบัน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การอพยพย้ายถิ่นฐาน แต่อยู่ที่สถานการณ์อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการอพยพย้ายถิ่น ซึ่งเป็นปัญหาทางด้านจริยธรรมที่สำคัญยิ่งในยุคสมัยของเรา เราไม่สามารถปฏิเสธวิกฤตการณ์ปัญหาผู้อพยพ วิกฤตการณ์นี้ไม่สามารถมองข้ามได้ ประเทศไทยเองเคยเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงว่าเป็นประเทศที่ต้อนรับผู้อพยพ

โดยเฉพาะบรรดาผู้ต้องหลบหนีอย่างน่าเศร้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ข้าพเจ้าขอวิงวอนให้ประชาคมระหว่างประเทศ ดำเนินการด้วยความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาที่ผลักดันให้ประชาชนต้องหลบหนีออกจากประเทศของตน และส่งเสริมให้มีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย มีการจัดการ และมีการควบคุม

ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกประเทศจะจัดตั้งกลไกที่มีประสิทธิภาพ ในการปกป้องสิทธิและศักดิ์ศรีของบรรดาผู้ย้ายถิ่นและผู้อพยพ ผู้ซึ่งต้องเผชิญภยันตราย ความไม่แน่นอน และการถูกเอารัดเอาเปรียบ ในการที่เขาแสวงหาเสรีภาพและชีวิตที่มีศักดิ์ศรีสำหรับครอบครัวของตน พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงผู้อพยพ หากแต่ยังสะท้อนภาพลักษณ์ของสังคมของเราทุกคนด้วย

เรื่องนี้ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงบรรดาสตรีและเด็กในยุคของเรา ที่ต้องเผชิญกับ ความรุนแรง การถูกเอารัดเอาเปรียบ และการถูกบังคับให้ทำงานเยี่ยงทาสในหลากหลายรูปแบบ

ข้าพเจ้าของชื่นชมรัฐบาลไทย รวมทั้งบุคคลและองค์กรที่ได้ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อแก้ไขปัญหาอันน่าเศร้าใจและเปิดหนทางแห่งการดำเนินชีวิตที่มีศักดิ์ศรีแก่บุคคลเหล่านี้ ปีนี้เป็นปีแห่งการครบรอบ 30 ปี ของ “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก”

ซึ่งเป็นโอกาสดีสำหรับเราในการที่จะไตร่ตรองและดำเนินการด้วยความตั้งใจแน่วแน่ ความพากเพียรพยายาม และความเร่งด่วน เพื่อปกป้องชีวิต พัฒนาการด้านสังคม สติปัญญา โอกาสทางการศึกษา รวมทั้งการเติบโตทางด้านกายภาพ จิตใจ และจิตวิญญาณของบรรดาเยาวชน อนาคตของประชากรของเราขึ้นอยู่กับวิธีการที่เราจะสามารถรับประกันต่อเยาวชนของเราถึงการดำเนินชีวิตอย่างมีมีศักดิ์ศรีในอนาคต

ปัจจุบันนี้สิ่งที่สังคมของเราต้องการมากกว่ายุคสมัยใดๆ คือ ผู้ส่งเสริมให้เกิด “ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่” ชายและหญิงที่มีความตั้งใจจริงในการที่จะทำให้เกิดการพัฒนาแบบบูรณาการสำหรับประชากรในครอบครัวมนุษยชาติ ที่จะดำเนินชีวิตในความยุติธรรม ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และความสมัครสมานสามัคคีฉันพี่น้อง ท่านทั้งหลาย ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตน

ในการที่จะพยายามให้ผลประโยชน์ร่วมกันไปทั่วถึงทุกหนแห่งของประเทศ นี่คือหนึ่งในภารกิจอันประเสริฐที่บุคคลๆหนึ่งสามารถทำได้ ด้วยความรู้สึกเช่นนี้ ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะให้ทุกท่านปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายของตนให้สำเร็จ และข้าพเจ้าวอนขอพระพรอันไพบูลย์จากพระเจ้า สำหรับประเทศ บรรดาผู้นำ และประชาชนชาวไทยทั้งมวล ข้าพเจ้าภาวนาวิงวอนขอให้พระเจ้าทรงนำท่านและครอบครัวของท่าน ในหนทางแห่งปัญญา ความยุติธรรม และสันติสุข

อ่านข่าว พุทธ-คาทอลิก ปลื้มปีติ สมเด็จพระสันตะปาปา ทรงพบ สมเด็จพระสังฆราช

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน