เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม รายงานสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่ ตั้งแต่เวลา 16.00 น. เกิดฝนตกปานกลางถึงหนักทั่วพื้นที่กทม. โดยปริมาณฝนสูงสุดในเขตบางซื่อ 100 มิลลิเมตร (มม.) ส่งผลให้มีน้ำท่วมขัง 12 จุด ความสูง 5-30 เซนติเมตร กว้าง 1-2 ช่องจราจร ความยาว 20-500 เมตร ดังนี้ 1.บริเวณทางลงทางด่วน ถนนพระรามหก 2. บริเวณแยกเตาปูน ถนนประชาราษฎร์สายสอง 3.บริเวณหน้าตลาดพงษ์เพชร ถนนงามวงศ์วาน 4.บริเวณปากซอยชินเขต ถนนงามวงศ์วาน

527897

5.บริเวณหน้าตลาดประชานิเวศน์ถนนเทศบาลสงเคราะห์ 6.บริเวณแยกสะพานควาย ถนนประดิพัทธ์ทั้งสองฝั่ง 7.บริเวณหน้าศาลรัฐธรรมนูญ-บริษัททีโอที ถนนแจ้งวัฒนะ 8.บริเวณวงเวียนบางเขน ถนนพหลโยธิน 9.บริเวณอุโมงค์สะพานดำ ถนนกำแพงเพชร 10.บริเวณหน้าตลาดอมรพันธ์ ถนนงามวงศ์วาน 11.บริเวณหน้าตลาดอมรพันธ์ ถนนพหลโยธิน 12.บริเวณแยกประดิพัทธ์ถึงบ่อสูบน้ำสะพานดำ ถนนพระรามหก และ 13.บริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ ถนนรัชดาภิเษก

114817

วันเดียวกัน ที่ศาลาว่าการกทม. นางเบญทราย กียปัจจ์ ผู้ช่วยเลขาผู้ว่าฯกทม. และรองโฆษก เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 32 ซึ่งนางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานการประชุม ว่า สำนักการระบายน้ำได้รายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยสถานการณ์น้ำเหนือ น้ำหนุน รวมถึงสถานการณ์น้ำทางพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ยังไม่น่าห่วง

14492458_1413425082005373_4906461635520953394_n

เนื่องจากวันนี้กรมชลประทานได้ลดปริมาณการปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ลดลงเหลือประมาณ 1,600 ลบ.ม./วินาที จากเดิมสัปดาห์ที่แล้ว (29 ก.ย. – 1 ต.ค.59) ปล่อยน้ำที่ปริมาณ 2,000 ลบ.ม./วินาที เนื่องจากเริ่มมีน้ำเอ่อล้นท่วมหลายพื้นที่ เช่น ปทุมธานี อยุธยา ประกอบกับฝนตกน้อยลง รวมถึงระดับน้ำหนุนซึ่งวัดได้ที่ปากคลองตลาดเมื่อวานนี้ อยู่ที่ 1.4 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ยังไม่สูงมากนักยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถรับได้ ทำให้ในวันนี้สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงที่ไหลผ่านกรุงเทพฯ จึงไม่น่าเป็นห่วงยังไม่มีผลกระทบกับพื้นที่กรุงเทพฯ

img_1526

อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางเดือนต.ค.นี้ จะมีน้ำทะเลหนุนสูง โดยจะต้องเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดกับขึ้นกับชุมชนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ รวมถึงจุดฟันหลอริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งกทม.ได้เตรียมการช่วยเหลือแล้ว

ในส่วนของระดับน้ำฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาระดับน้ำอยู่ในระดับวิกฤตหลายจุด เช่น แถบมีนบุรี ลาดกระบัง สูงกว่าระดับวิกฤตทำให้มีน้ำล้นเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยกทม.ได้เร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาผ่านพื้นที่กรุงเทพฯชั้นใน ซึ่งปัจจุบันสามารถลดระดับน้ำในคลองสายต่างๆ ในกรุงเทพฯ ทั้งคลองลาดพร้าว คลองแสนแสบ คลองเปรมประชากร รวมถึงฝั่งธนบุรี อยู่ในระดับที่ควบคุมแล้ว แม้ว่าบางจุดยังสูงแต่ก็อยู่ในระดับเฝ้าระวังและอยู่ในเกณฑ์การควบคุม

สำนักการระบายน้ำรายงานสถานการณ์ฝนช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงมีฝนตกเกือบทุกพื้นที่ในประเทศ ไทย ส่วนในกรุงเทพฯ ปริมาณฝนรวมเริ่มลดลงเฉลี่ยไม่เกิน 100 มม. โดยภาพรวมเมื่อช่วงวันที่ 26 ก.ย.-3 ต.ค.59 ปริมาณฝนในพื้นที่กรุงเทพฯ น้อยลงส่วนใหญ่ตกในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน โดยเมื่อวานนี้มีฝนตกหนักในพื้นที่เขตคลองเตย วัฒนา ยานนาวา สาทร ปริมาณฝนเฉลี่ยรวมเกือบ 100 มม. โดยมีความเข้มของฝนมากถึง 180 มม./ชม. ส่งผลให้น้ำท่วมขังรอการระบายกว่า 10 จุด อาทิ ถนนอโศกมนตรี ถนนสวนพลู ถนนนางลิ้นจี่ ถนนจันทน์ พระราม 4 ถนนสาธุประดิษฐ์ ถนนสุขุมวิทขาเข้า-ออก และสุรวงศ์ ซึ่งสำนักการระบายน้ำร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่เร่งการระบายน้ำโดยใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง น้ำแห้งเป็นปกติทุกจุด

สำหรับสถานการณ์ฝนในสัปดาห์นี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ยังคงมีฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ โดยในวันนี้คาดว่าช่วงบ่ายจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่เนื่องจากมีร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านพื้นที่กรุงเทพฯ ในส่วนของพายุชบา ที่ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิค จะไม่มีผลกระทบกับประเทศไทยโดยเคลื่อนเข้าญี่ปุ่น เกาหลี อย่างไรก็ตาม กทม.เตรียมความพร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ วัสดุและอุปกรณ์ ไว้เรียบร้อยแล้ว

ที่สำนักการระบายน้ำ ศาลาว่าการกทม.2 ดินแดง นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ จังหวัดปทุมธานี แขวงทางหลวงกรุงเทพ แขวงทางหวลงปทุมธานี เทศบาลเมืองคูคต เทศบาลเมืองหลักหก เพื่อหารือถึงปัญหาน้ำท่วมขังรอการระบาย ที่ถนนพหลโยธิน จุดรอยต่อกรุงเทพ-ปทุมธานี บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ และแยกลำลูกกา

นายภัทรุตม์ กล่าวว่า ที่ประชุมมอบหมายให้แต่ละหน่วยงาน บูรณาการทำงานร่วมกัน โดยให้จังหวัดปทุมธานีเพิ่มเครื่องสูบน้ำบริเวณคลองลาดสนุน และให้กรมทางหลวงเสริมผิวการจราจรบริเวณอนุสรณ์สถานฯเชื่อมถนนวิภาวดีรังสิต และถนนพหลโยธิน หน้าสนามกีฬาธูปเตมีย์ และขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับทิศทางการระบายน้ำจากสนามกีฬาธูปเตมีย์จากเดิมที่ระบายออกจากด้านหน้าถนนพหลโยธิน ให้ปรับทิศทางออกสู่ด้านข้างถนนลำลูกกา ออกคลองลาดสนุ่นแทน

นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้สำนักงานชลประทานที่ 11 เทศบาลเมืองหลักหก สำนักงานเขตดอนเมือง และสำนักการระบายน้ำให้ระบายน้ำจากคลองเปรมประชากรลงสู่คลองบ้านใหม่ ซึ่งเป็นคลองที่แบ่งเขตจังหวัดปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร ให้ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมกับเดินเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่องระบายน้ำจากคลองเปรมประชากร ลงสู่คลองรังสิตประยูรศักดิ์ฝั่งทิศใต้ เพื่อแก้ปัญหาระยะสั้นระหว่างการก่อสร้างสถานีสูบน้ำหลักหก

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน